xs
xsm
sm
md
lg

ถกร่วมสภา “ไข่แม้ว”สุดผิดหวัง รุมจวก “มาร์ค” กลับลำยื้อแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบการประชุมสภา
ที่ประชุมร่วมรัฐสภาถกแก้รัฐธรรมนูญ จวก “มาร์ค” กลับลำไม่แก้ รธน.แขวะตำนานโสเภณีนักการเมืองเกิดแล้ว เดินหน้าดันแก้ยุบพรรค หยิบภาวะผู้นำกดดัน ด้าน “มาร์ค” ย้ำไม่ขวางพร้อมแก้ รธน.แต่ไม่ทุกเห็นด้วยทุกประเด็น ขณะที่ ส.ส.ปชป.แขวะนักการเมืองโกงกินระวังตายแล้วไม่ได้ฝังแผ่นดินไทย ด้าน “คำนูณ” เตือนต้องรับฟังกลุ่มประชาชนที่เสียเลือดเนื้อปกป้องรัฐธรรมนูญปี 50 ด้วย ชี้ เร่งแก้ รธน.ยิ่งจุดชนวนความขัดแย้ง แนะให้รับเฉพาะประเด็นที่เป็นฉันทามติไปก่อน

วันนี้ (17 ก.ย.) ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวันที่สอง เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.00 น.โดยสมาชิกได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย โดยมีทั้งฝ่ายสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะสมาชิกจากพรรคเพื่อไทยที่ยังคงเสนอให้แก้ไขในเรื่องของการยุบพรรคการเมือง และวิจารณ์ภาวะผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และฝ่ายที่แสดงความไม่เห็นด้วย เพราะไม่เชื่อว่าจะทำให้เกิดความสมันฉันท์ที่แท้จริงได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ส.ส.ฝ่ายค้าน ได้เรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี รวมถึงคณะกรรมการสมานฉันท์ มาร่วมนั่งฟังการอภิปราย และอภิปรายโจมตีนายกฯ ว่า ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ อาทิ นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ที่นายกฯพูดเมื่อเดือน เม.ย.ว่า ถ้าหากเสียงส่วนใหญ่รัฐสภาเห็นด้วยว่าควรแก้รัฐธรรมนูญก็ยินดี ซึ่งตนไม่ทราบว่าเพราะไปตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อนเปลี่ยนขั้วการเมืองหรือไม่ ว่า หากเข้าร่วมรัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นตนคิดว่ามันเป็นแค่ตำนานที่บอกว่านักการเมืองเหมือนโสเภณี แต่เมื่อปฏิวัติ จึงทำให้รู้ว่านักการเมืองเป็นโสเภณีไม่ใช่แค่ตำนาน อีกทั้งมีการใส่ร้ายนักการเมืองรุ่นเก่า ซึ่งสอดคล้องกับแผนร้าย คมช.ที่ให้กำจัดพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ ซึ่งตนเห็นว่าหากนายอภิสิทธิ์มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรให้มีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้วค่อยตั้ง ส.ส.ร.3 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง เนื่องจากในการอภิปรายที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาต่างเห็นด้วยที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถใช้ช่องทางของมาตรา 291 ที่กำหนดให้ ส.ส.และ ส.ว.สามารถยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

นายไพจิต กล่าวต่อว่า แต่มาวันนี้รัฐบาลกับมีท่าทีชัดเจนกลับลำว่าไม่แก้ ตนเห็นว่า เรื่องนี้ควรฟังเสียงทุกฝ่ายและขณะนี้ทุกพรรคการเมืองล้วนมีนอมินี ซึ่งตนเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ทำให้คนไม่อยากมาเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะเสี่ยงต่อการถูกตัดสิทธิ์ อย่างมาตรา 266 ที่ไม่ให้ ส.ส.เข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ เพราะถือว่าเป็นการแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ตัวเองนั้น ถือว่าเป็นมรดกบาป ทั้งที่ ส.ส.ต้องทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับให้ประชาชนไปฝากความตายไว้กับฝ่ายประจำ

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ตนอยู่ในสภาตลอดมีเฉพาะช่วงเย็น 2-3 ชั่วโมง ที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ภายนอก อย่างไรก็ดี มีเจ้าหน้าที่คอยติดตาม และทำสรุปประเด็นอยู่ตลอด ดังนั้น ที่คิดว่ารัฐบาลไม่สนใจฟังนั้นไม่จริง ตามที่เพื่อนสมาชิกได้นำคำพูดที่ตนเคยแถลงในรัฐสภามาพูดถึงขอยืนยันว่าเป็นความจริงทุกประการ แต่ตนไม่แน่ใจว่า เพื่อนสมาชิกเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ ในการพูดครั้งนั้นเกี่ยวกับการกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนบอกว่า ได้ยืนยันไปยังทุกพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ว.ว่า หากมีประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรขอให้รวบรวมมาภายใน 2 สัปดาห์หลังจากมีการรวบรวมแล้วจะพิจารณาว่าควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยหลังจากครบตามกรอบเวลาแล้วได้หารือกับสภาและเห็นพ้องต้องกันให้นำประเด็นที่รวบรวมได้ส่งต่อให้คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยหลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์ทำงานเสร็จได้รายงานมายังประธานรัฐสภา ซึ่งได้ประสานให้มารับทรายรายงาน บังเอิญช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมจึงหารือกับประธานรัฐสภา ซึ่งประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยว่าแม้กรรมการสมานฉันท์ จะประกอบด้วย ตัวแทนจากทุกภาคส่วนแต่ไม่ใช่ตัวแทนของสภาอย่างแท้จริง จึงควรหาเวทีให้สภาได้แสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง เพียงแต่ติดเงื่อนไขว่าสมัยประชุมนี้เป็นสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติจะนำเรื่องนี้มาหารือคงลำบาก ประกอบกับสถานะของคณะกรรมการสมานฉันท์ ไม่ใช่กรรมาธิการ สุดท้ายตนจึงตัดสินใจใช้มาตรา 179 เพื่อเปิดอภิปรายร่วมกัน

“ทุกอย่างเป็นไปตามที่ผมบอกว่าจะดำเนินการ ส่วนที่ท่านไปสรุปว่าผมจะทำอะไรไม่ทำอะไรก็แปลกอยู่ เพราะผมยังฟังไม่จบ และยังไม่ได้ตอบเลย สิ่งที่ผมยืนยันมาตลอดคือเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร หรือว่าเห็นควรเอาระบบใหม่ คือมีการแก้ไขมาใช้แล้วคืนอำนาจให้ประชาชน ผมก็ไม่ขัดข้อง และ ขอความกรุณาเข้าใจว่าทุกสิ่งที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็เป็นไปตามที่ผมบอกกับสภาว่าจะดำเนินการทั้งสิ้น” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนจุดยืนเกี่ยวข้องกับตัวรัฐธรรมนูญ ตนยืนยันจริงว่ารัฐธรรมนูญสมควรต้องแก้ไข แต่บางประเด็นตนไม่ได้เห็นด้วยว่าสมควรแก้ไข อย่างมาตราที่มีผลทำให้มีการนิรโทษกรรม ตนไม่เคยเห็นด้วย ส่วนประเด็นเรื่องเขตเลือกตั้งตนเคยแสดงความเห็นว่าเขตเลือกตั้งที่ใช้ในในปัจจุบันตนเห็นว่าเหมาะสม แต่ตนก็ได้แสดงท่าทีไว้ว่าถ้าเห็นว่าจุดยืนเรื่องเขตเลือกตั้งใหญ่หรือเล็กจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสมานฉันท์ ตนคิดว่าเรื่องนี้ประนีประนอมกันได้

“ขอให้มั่นใจว่า สิ่งที่ผมพูดในอดีตตั้งแต่ก่อนมาเป็นนายกฯ หรือเป็นนายกฯแล้ว เป็นคำมั่นสัญญาที่ผมยังยืนยันสัญญาและจะดำเนินการให้เป็นไปตามนั้นทุกประการ กราบเรียนตามตรงว่าเมื่อคืน (16 ก.ย.) ได้นั่งสอบถามประธานอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องพบว่า เมื่ออ่านตัวรายงานแล้วยังเข้าใจไม่ตรงกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร หลายคนเห็นว่าข้อเสนอแก้ไข 6 ประเด็น และให้มี ส.ส.ร.แต่เมื่อผมสอบถามท่านบอกว่าไม่ได้สรุปเช่นนั้น แต่มองว่า 6 ประเด็นอาจต้องใช้กลไกของ ส.ส.ร.ทำ เพียงแต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ส.ส.ร.เป็นคนนอกหรือคนใน หรือเป็นส่วนผสมของคนนอกกับคนใน เรื่องนี้คณะกรรมการจะต้องชี้แจง ส่วนจุดยืนของรัฐบาลผมจะชี้แจงอีกครั้งในช่วงท้าย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ขณะที่ นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกแยก แต่มันเกิดจากความทุจริต โกงกินของนักการเมือง หากแก้ไขเรื่องทุจริตไม่ได้มันก็จะเป็นวงจรอุบาทว์ต่อไป ดังนั้นเรื่องการยุบพรรคไม่ต้องห่วงหากไม่ทุจริตไม่โกงกินก็ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกยุบพรรค ส่วนคนที่โกงกิน ทุจริตบ้านเมืองก็ขอให้ไม่มีแผ่นดินอยู่ ตายแล้วไม่ได้กลับมาฝังที่แผ่นดินไทย ดังนั้น แม้จะแก้รัฐธรรมนูญแต่ตัวเองเลวแก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันมาก โดยลืมไปว่า เคยมีการต่อสู้ของภาคประชาชนเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อปี 2551 จนสามารถหยุดยั้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เริ่มดำเนินการโดยสมาชิกรัฐสภาที่มีเสียงมากพอตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 ได้ ล่าสุด แม้จะมี ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อกันเสนอญัตติแก้ไขอีกครั้ง ตามรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ พ่วงกับอีก 2-3 ประเด็น แต่สุดท้ายก็มีการถอนชื่อออกไป จนญัตติไม่ได้เข้าสู่ระเบียบวาระ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร.ก็ยังคาอยู่ในระเบียบวาระใกล้จะครบ 1 ปี และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการให้ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมาย

นายคำนูณ กล่าวว่า เราจึงไม่อาจมองข้าม หรือไม่พูดถึง การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะการชุมนุมยาวนานรวม 193 วัน ที่มีผู้เสียสละชีวิตรวม 10 คน ผู้สูญเสียอวัยวะสำคัญ 7 คน บาดเจ็บสาหัสอยู่ในอาการโคม่า 3 คน และมีผู้บาดเจ็บสาหัสตามนิยามที่ยอมรับนับถือกัน 34 คน ดังนั้น เท่ากับว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับนี้ ได้รับการรดน้ำพรวนดินด้วยชีวิต เลือดเนื้อ และน้ำตา ของภาคประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้ว สำหรับพวกเขา ภารกิจพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้น ณ วันนี้ความศักดิ์สิทธิ์ในภารกิจจะมิใช่เพียงเหตุผลตามปณิธานทางการเมืองเท่านั้น แต่จะผนวกเสริมด้วยภารกิจยืนหยัดพิทักษ์เจตนารมณ์ของผู้เสียสละชีวิตและสูญ เสียอวัยวะด้วย

“การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร เมื่อไร จึงไม่อาจรวบรัดตัดตอนกันในที่ประชุมแห่งนี้ หรือโดยคณะกรรมการชุดนี้ โดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทางตรงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่ยืนหยัดพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กลัวเกรง หรือให้ความสำคัญกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ แต่จุดประสงค์สูงสุดคืออะไร คือ ความสมานฉันท์ สันติ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากเพื่อความสมานฉันท์ สันติ และเห็นๆ กันอยู่ว่าการริเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง คือ การจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ให้คุโชนขึ้นมาอีก เราจะทำไปทำไม” นายคำนูญ ระบุ

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูสมาชิกส่วนใหญ่ไม่มีใครคัดค้านในรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ ในเรื่องการสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมือง และการปฏิรูปการเมือง จึง น่าจะถือเป็นฉันทมติได้ ขณะที่ เรื่อง รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั้น มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้าน เพื่อให้การประชุมมีบทสรุป รัฐบาลจึงควรรับไปทำเฉพาะส่วนที่ได้ฉันทมติก่อน

นายคำนูณ ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับบทนำในรายงาน ที่มีอคติกับรัฐธรรมนูญ ปี50 และพูดถึงความจริงไม่รอบด้าน โดยเฉพาะจงใจไม่พูดถึงการใช้ช่องว่างช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญปี 40 ผนึกอำนาจเบ็ดเสร็จขึ้น ไม่เห็นด้วยกับบทสรุปเพราะไม่มีตรรกะว่า หากแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นแล้วจะเกิดความสมานฉันท์อย่างไร
วิปรัฐบาลดันตั้งส.ส.ร.3แก้รธน.ประเด็นที่เห็นต่าง
พท.ยกแม่น้ำทั้งห้าดันยกเลิกยุบพรรค ฉะ มาร์ค กลับลำไม่แก้ รธน. ยกตำนานโสเภณีการเมืองแขวะ พร้อมหยิบภาวะผู้นำกดดัน ด้าน อภิสิทธิ์ ย้ำไม่ขวาง แต่ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้อง คำนูณ เตือนให้ฟังภาคประชาชนที่เสียเลือดเนื้อเพื่อปกป้อง รธน.ปี 50 ชี้เร่งแก้ยิ่งจุดชนวนความขัดแย้ง แนะให้รับประเด็นที่เป็นฉันทมติไปก่อน ขณะที่ประธานวิปรัฐบาลเตรียมนัดถก 3 ฝ่ายตั้งส.ส.ร.3 เพื่อดำเนินการประเด็นที่มีความเห็นขัดแย้ง แต่ฝ่ายค้านไม่เอาด้วย อ้างประเมินจากการอภิปรายของ สมาชิกรัฐสภา 70 % หนุนแก้ รธน. ส่วนกลุ่ม 40 ส.ว.เสนอตั้ง กก.อิสระ 40 คนฟังความเห็นประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น