“ชัย” สั่งเลื่อนถกกรอบเจรจาไทย-เขมร กะทันหันไปวันพุธ หลัง รมว.กลาโหม ตอบพิลึก อ้างไทยได้ประโยชน์กัมพูชาสร้างถนนขึ้นเขาวิหาร ขณะที่ฝ่ายค้านป่วนดันแก้รัฐธรรมนูญ ฉบับหมอเหวง อ้าง นายกฯ เมินถกสมานฉันท์ตามข้อตกลงวิป 3 ฝ่าย เหน็บแนมคอย “สีเขียว” มาแก้ ด้าน “มาร์ค” ไฟเขียว เปิดประชุมร่วมถกได้ ยกโพลหนุนลดวิวาทะการเมืองมากกว่าแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อปัญหาไม่จบ
วันนี้ (31 ส.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ)โดยมี นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในที่ประชุมเพื่อพิจารณากรอบข้อสัญญา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ขอเลื่อนระเบียบวาระ การประชุม 5.13 ร่างกรอบการเจรจาเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาและกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้ และ 5 กรอบเจรจาอื่นๆ ขึ้นมาพิจารณาก่อน
แต่ นายวิทยา บูรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ได้ท้วงว่า การเสนอเลื่อนระเบียบวาระดังกล่าว ไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างวิปทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และ วุฒิสภา ที่ตกลงกันว่าจะให้ที่ประชุมได้หารือถึงข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีเคยประกาศว่าหากทุกฝ่ายมีความเห็นอย่างไรรัฐบาลพร้อมปฏิบัติ แต่จนถึงขณะนี้กว่า 3 เดือนแล้ว ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามข้อเสนอ จึงอยากรู้ว่านายกรัฐมนตรีจะทำตามข้อเสนอดังกล่าวเมื่อใด ควรยุติการซื้อเวลาได้แล้วหรือต้องการให้พวก “สีเขียว” มาแก้รัฐธรรมนูญ พวกเราไม่ได้ทำงานกันฟรีก็มีความหวังว่านายกรัฐมนตรีเคยรับปากว่า 15 วัน หลังรับเรื่องแล้วจะแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ด้าน นายชัย ประธานในที่ประชุมชี้แจงว่า ต้องรอผลสรุปของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่จะสรุปผลเสนอตนในวันที่ 4 ก.ย.นี้ จากนั้นจะรวมข้อเสนอของคณะกรรมการทั้ง2คณะจัดทำเป็นรูปเล่ม และตนจะเชิญประธานและรองประธานวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรมาหารือว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ขอใช้สิทธิชี้แจงว่า คณะกรรมการที่เข้ามาทำงานสมานฉันท์มี 2 คณะ แต่ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่รัฐสภาต้องทำร่วมกัน น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่คณะกรรมการฯทั้ง2ชุดจะรายงานให้สมาชิกรัฐสภาได้รับทราบ ตนทราบว่าวิป 3 ฝ่ายได้ตกลงว่าจะเปิดให้มีการหารือกันเรื่องนี้ ซึ่งตนก็เห็นด้วยที่จะนำมาพูดในสภาฯให้เรียบร้อย เพราะข้อเสนอได้แบ่งเป็นหลายช่วง เช่น ให้แก้รัฐธรรมนูญภายใน1 ปี จากนั้นให้ตั้ง ส.ส.ร.เพื่อสะสางรัฐธรรมนูญปี 2550
ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นประท้วงว่า นายกฯพูดจาซ้ำซาก ทั้งที่ควรตอบให้ชัดไปเลยว่าจะทำตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์หรือไม่ และถ้าทำจะทำเมื่อใด ส่วน นายวิทยา กล่าวว่า ตนได้ยินมากับหูว่านายกรัฐมนตรีรับปากว่าหากมีการประชุม 3 ฝ่ายเรียบร้อยก็พร้อมจะยุบสภา จึงอย่ามายื้อเวลาอีกเลย
ทำให้นายกฯ กล่าวโต้ว่า ตนไม่ได้พูดซ้ำซากวกวน เพราะจะกล่าวอะไรก็ต้องมีการอธิบาย หากประธานรัฐสภานัดประชุมร่วมในเรื่องความสมานฉันท์เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ตนก็พร้อมและรัฐบาลจะร่วมมืออย่างเต็มที่ อีกทั้งตนไม่เคยพูดเรื่องยุบสภา มีแต่ฝ่ายค้านที่พูดเท่านั้น นอกจากนี้โพลจากหลายสำนักที่สำรวจเรื่องความสมานฉันท์ก็สรุปว่าให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสุดท้าย ขณะที่ขอให้ลดการตอบโต้วิวาทะการเมืองเป็นสิ่งแรก เพราะประชาชนมีความรู้สึกว่าถึงทำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางฝ่ายก็ยังไม่หยุด
นายพีรพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีพร้อม ก็ขอให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้นัดประชุมนัดพิเศษเพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ในวันศุกร์ที่ 4 ก.ย.นี้เลย ทำให้ นายชัย กล่าวตอบโต้ด้วยน้ำเสียงที่ไม่พอใจว่า ตนมีอำนาจที่จะนัดประชุม มาสั่งตนไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ นายชัย ได้ตัดบทและสั่งให้เข้าสู่การพิจารณาตามที่ประธานวิปรัฐบาลเสนอ ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน หลายคนพากันคัดค้าน และขอให้พิจารณาตามวาระการประชุมที่ได้บรรจุให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของ คปพร.เป็นเรื่องด่วน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกัมพูชาได้ให้สัมปทานเกาะกูดแก่ประเทศฝรั่งเศสไปแล้ว แต่ทำไมรมว.ต่างประเทศของไทยยังนิ่งเฉย ทำให้นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล ลุกขึ้นกล่าวตำหนิว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความมั่นคงระหว่างประเทศ ไม่ควรนำมาพูด เพราะเป็นความลับ
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประชุมใช้เวลาถกเถียงกันมานานเกือบ 1ชั่วโมงในที่สุดที่ประชุมก็มีมติให้เลื่อนระเบียบวาระตามที่นายชินวรณ์เสนอด้วยเสียง 309 ต่อ 90 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 14
จากนั้น ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจึงได้เริ่มพิจารณาระเบียบวาระที่ 5.13 ร่างกรอบการเจรจาเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในกรอบของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆภายใต้กรอบนี้ตามที่ครม.เป็นผู้เสนอ ซึ่งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ได้ลุกขึ้นเสนอร่างกรอบการเจรจาดังกล่าวโดยขอให้มีการประชุมลับด้วยเหตุผลว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้อกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง จากนั้นประธานได้เริ่มสั่งประชุมลับทันทีในเวลา 11.05 น.
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากใช้เวลาประชุมลับร่วม 2 ชั่วโมง นายชัยได้สั่งปิดการประชุมโดยที่ยังไม่ได้มีการลงมติ โดยให้เหตุผลว่ายังมีผู้ประสงค์จะอภิปรายเป็นจำนวนมาก และบางเรื่องก็เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ รมว.ต่างประเทศไม่ได้มาร่วมการประชุมในครั้งนี้ รวมทั้งส.ว.จะต้องใช้ห้องประชุมสภาต่อในช่วงบ่ายทำให้ประธานสั่งเลื่อนการพิจารณาไปในวันพุธที่2 กันยายน เวลา 09.00 น.
สำหรับเนื้อหาในที่ประชุม ส.ส.ฝ่ายค้านได้อภิปรายโจมตีนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศที่ไม่มาร่วมชี้แจงต่อที่ประชุม ทั้งที่เป็นวาระสำคัญและน่าจะเกี่ยวข้อง แต่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ รมว.กลาโหม โดยตรง และยังได้สอบถามถึงข่าวที่กัมพูชาถอนกำลังทหารออกจากบริเวณพื้นที่โดยรอบปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งมีข่าวว่าฝ่ายไทยจะถอนกำลังเช่นกัน โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวต่อที่ประชุมโดยไม่ใช้แจงรายละเอียด แต่ยืนยันว่า สถานการณ์ขณะนี้ได้คงกำลังทหารไทยไว้ในปริมาณที่จะรักษาอธิปไตยในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรได้
ขณะที่สมาชิกจากกลุ่ม 40 ส.ว.โดย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายแสดงความเป็นห่วงเรื่องพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงไม่อยากให้ข้อตกลงดังกล่าวผ่านที่ประชุมรัฐสภาไปโดยไม่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และการที่กัมพูชา สร้างถนนสร้างวัด และสร้างชุมชน บนพื้นที่ดังกล่าวโดยที่ฝ่ายไทยคัดค้านแต่เพียงการประท้วงอย่างเป็นทางการโดยกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าไม่น่าจะเพียงพอในการพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยของชาติ
รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากเปิดให้สมาชิกอภิปรายได้ระยะหนึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ได้ลุกขึ้นชี้แจง โดยกล่าวยืนยันว่า เรื่องเขตแดนไทยกัมพูชาเป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบ ไม่ใช่เรื่องของคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา(จีบีซี) ซึ่งกระทรวงกลาโหมรับผิดชอบ อย่างไรก็ดี กระทรวงกลาโหม ขอยืนยันว่า พร้อมรักษาอธิปไตยของประเทศและมีกำลังที่เพียงพอ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการสร้างถนนในพื้นที่ 4.6 ตางรางกิโลเมตรนั้น ฝ่ายไทยก็ได้ใช้ประโยชน์ด้วย
คำชี้แจงดังกล่าว เป็นผลให้ ส.ว.จำนวนหนึ่งลุกขึ้นถาม ขอให้ รมว.กลาโหม ชี้แจงให้ชัดว่าฝ่ายไทยได้ประโยชน์ จากถนนดังกล่าวอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบเป็นถนนเพื่อเป็นเส้นทางในการขึ้นปราสาทพระวิหารจากดินแดนกัมพูชาโดยมีวัดแก้วสิขาคีรีศวร อยู่ตรงจุดยุทธศาสตร์ ก่อนจะขึ้นปราสาทพระวิหาร คนไทยนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังมีข้อมูลว่า แม้จะเข้าไปใกล้ถนนดังกล่าวก็ทำไม่ได้
นอกจากนี้ มี ส.ว.อีกท่านหนึ่ง ถามว่า เท่าที่ทราบ กำลังทหารของไทย ในเขต 4.6 ตารางกิโลเมตรมีจำนวนไม่มากนัก จะสามารถปกป้องอธิปไตยได้จริงหรือ แต่ยังไม่ทันที่ รมว.กลาโหม จะลุกขึ้นตอบคำถามของ 2 ส.ว.ประธานรัฐสภาก็ได้สั่งเลื่อนการประชุมออกไปเป็นวันที่ 2 ก.ย.ท่ามกลางความงุนงงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ส.ได้รับหนังสือแจ้งว่าวาระการประชุมทั้งที่ยังอยู่ระหว่างการประชุมในเรื่องนี้อยู่