xs
xsm
sm
md
lg

40 ส.ว.ตั้งธงค้าน ยกพื้นที่พระวิหาร เป็นพื้นที่ทับซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน
40 ส.ว.จับมือนักวิชาการค้านมติรัฐบาลเห็นชอบ บันทึกการประชุม กมธ.เขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ชี้เท่ากับยอมรับว่าพื้นที่ปราสาทพระวิหาร 4.69 ตร.กม.เป็นพื้นที่ทับซ้อน ทั้งที่เป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ หวั่นรัฐบาลประชุมลับหมกเม็ดปิดตาประชาชน



วันนี้ (25 ส.ค.) ที่รัฐสภา คณะกรรมการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ติดตามสถานการณ์ปราสาทเขาพระวิหาร จัดเสวนาเรื่อง “แผ่นดินเขาพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร บทพิสูจน์ศักดิ์ศรีและอธิปไตยของไทย” โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้รัฐสภาให้ลงมติเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในวันที่ 28 ส.ค.นี้

โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำ 40 ส.ว.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงชั่วคราวที่ให้ทหารของไทยและกัมพูชา ถอนกำลังออกมาจากวัดแก้วสิขคีรีศวร เพราะหากดูอย่างผิวเผินจะเหมือนเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ความจริงไม่ใช่ เนื่องจากทหารของกัมพูชายังมีการวางกำลังไว้ในบริเวณใกล้เคียง อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ไทยเสียเปรียบ นอกจากนี้ ยังทราบมาว่า เบื้องต้นมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชา ว่าจะขอพบกันคนละครึ่งทางในเรื่องพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร โดยแบ่งคนละครึ่ง คือ 2.3 ตารางกิโลเมตร ในฐานะคนไทย ตนไม่เห็นด้วยเด็ดขาด เพราะพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นพื้นที่ของประเทศไทย

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลไปยอมรับเรื่องความเป็นพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร จะทำให้ไทยเหลือความเป็นเจ้าของเพียง 50% ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นของเราทั้งหมด ถ้าสถานการณ์พระวิหารขึ้นทะเบียนโดยสมบูรณ์และเรายอมให้คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศ (International Coordinating Com mittee หรือ ICC) เข้ามาจัดกาารจะมีปัญหาตามมาอีกมากทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชนว่าชาวบ้านที่อยู่ในแถวนั้นต้องการหรือไม่

“ผมไม่เห็นด้วยกับการเสนอของรัฐบาล ตั้งแต่สมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือน ต.ค.และในวันที่ 28 ส.ค.นี้ ผมจะคัดค้านแน่นอนและจะถามรัฐบาลในหลายประเด็นถึงสิ่งที่มีความไม่ชัดเจนหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการแถลงการณ์ร่วมไทยกับกัมพูชาว่า สรุปแล้วมีการยกเลิกแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลเสนอเข้ามา ให้รัฐสภาพิจารณาเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ เพราะจากเอกสารที่รัฐบาลส่งเข้ามา มีเพียงแค่บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชาเท่านั้น และสิ่งที่น่ากังวลที่สุดอีกเรื่องในการประชุมรัฐสภาวันที่ 28 ส.ค.นี้ คือ เกรงว่ารัฐบาลจะอ้างถึงความมั่นคงเพื่อขอให้เป็นการประชุมรัฐสภาลับ ซึ่งเท่ากับว่าประชาชนที่อยู่ภายนอกจะไม่สามารถรับทราบได้เลยว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร” นายคำนูณ กล่าว

ขณะที่ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า หลังจากที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ตัดสินข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ปรากฏว่าไทยได้ถอนทหารและยอมออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย และได้ย้ายเสาธงไทยออกจากปราสาทโดยไม่มีการลดธง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กัมพูชาส่งบุคลากรเข้าไปในบริเวณปราสาท โดยไทยไม่ได้สละอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ซึ่งปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ หรือยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาแต่อย่างใด บริเวณนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เดียวที่เรียกว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน

นายเทพมนตรีกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีคนกัมพูชาและคนไทยบางคนพยายามสร้างความสับสนเกี่ยวกับการคำพิพากษาของศาลโลกเกินเลยไปกว่าที่ศาลวินิจฉัยเป็นอย่างมาก คือ ความจริงศาลไม่ได้ชี้ขาดเส้นเขตแดนตามที่กัมพูชาเสนอเข้ามา เพียงแต่วินิจฉัยว่ากัมพูชามีอำนาจอธิปไตย เหนือพื้นที่ที่ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ แต่ทั้งนี้ ปรากฏว่าในช่วงเดือน พ.ค.2551 ไทยได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนอย่างชัดเจนและกะทันหัน โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ และ กรมแผนที่ทหาร ได้พร้อมใจยอมรับนับถืออำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเหนือปราสาทพระวิหาร โดยไทยได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชา ซึ่งลงนามโดย รมว.ต่างประเทศของไทย คือ นายนพดล ปัทมะ และรองนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการเสนอ ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว โดยไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

“ผมขอเสนอให้คณะรัฐมนตรีชุดนี้ ออกมติคณะรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.และ 24 มิ.ย.ที่สนับสนุนให้ ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก รวมทั้งเร่งผลักดันให้มีการยึดสันปันน้ำ เป็นเส้นแบ่งเขตแดนตามหลักสากล” นายเทพมนตรี กล่าว

ด้าน นายอิศร ปกมนตรี เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตอนนี้กระทรวงต่างประเทศ ไม่ได้อยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่สนใจปัญหาที่เกิดขึ้น แต่รับฟังความเห็นประชาชนและรับทราบปัญหามาโดยตลอด ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามมติของรัฐสภา และประชาชนอย่างเคร่งครัด
กำลังโหลดความคิดเห็น