xs
xsm
sm
md
lg

วิปรัฐบาลดันตั้งส.ส.ร.3แก้รธน.ประเด็นที่เห็นต่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (17 ก.ย.) มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวันที่สอง โดยสมาชิก ได้ทยอยอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย มีทั้งฝ่ายสนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ยังคงเสนอให้แก้ไขในประเด็นการยุบพรรคการเมือง และ วิจารณ์ภาวะผู้นำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เชื่อว่าจะทำให้เกิดความสมันฉันท์ที่แท้จริงได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ส.ส.ฝ่ายค้านได้เรียกร้อง ให้ นายอภิสิทธิ์ และคณะรัฐมนตรี รวมถึงคณะกรรมการสมานฉันท์ฯมาร่วมนั่งฟังการอภิปราย และอภิปรายโจมตีนายกฯว่าไม่มีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้
โดยนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ที่นายกฯ พูดเมื่อเดือนเม.ย.ว่า ถ้าหากเสียงส่วนใหญ่รัฐสภาเห็นด้วยว่าควรแก้รัฐธรรมนูญ ก็ยินดี ซึ่งตนไม่ทราบว่าเพราะไปตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อนเปลี่ยนขั้วการเมืองหรือไม่ ว่าหากเข้าร่วมรัฐบาลต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นตนคิดว่ามันเป็นแค่ตำนานที่บอกว่านักการเมืองเหมือนโสเภณี แต่เมื่อปฏิวัติจึงทำให้รู้ว่านักการเมืองเป็นโสเภณีไม่ใช่แค่ตำนาน
อีกทั้งมีการใส่ร้ายนักการเมืองรุ่นเก่า ซึ่งสอดคล้องกับแผนร้ายคมช.ที่ให้กำจัดพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ ซึ่งตนเห็นว่าหากนายอภิสิทธิ์มีความจริงใจ ควรให้มีการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นมาแล้วค่อยตั้ง ส.ส.ร. 3 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง เนื่องจากในการอภิปรายที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาต่างเห็นด้วย ที่จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถใช้ช่องทางของมาตรา 291 ที่กำหนดให้ส.ส.และส.ว.สามารถยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
วันนี้รัฐบาลกับมีท่าทีชัดเจนกลับลำว่าไม่แก้ ผมเห็นว่าเรื่องนี้ควรฟังเสียงทุกฝ่ายและขณะนี้ทุกพรรคการเมืองล้วนมีนอมินี ซึ่งผทเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ทำให้คนไม่อยากมาเป็นกรรมการบริหารพรรค เพราะเสี่ยงต่อการถูกตัดสิทธิ์ อย่าง ม. 266 ที่ไม่ให้ส.ส.เข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ เพราะถือว่าเป็นการแทรกแซง เพื่อผลประโยชน์ตัวเองนั้น ถือว่าเป็นมรดกบาป ทั้งที่ส.ส.ต้องทำหน้าที่เพื่อช่วยเหลือ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับให้ประชาชนไปฝากความตายไว้กับฝ่ายประจำ

อภิสิทธิ์ย้ำไม่เคยผิดคำพูด
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ตนอยู่ในสภาฯตลอด มีเฉพาะช่วงเย็น 2-3 ชั่วโมงที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ภายนอก อย่างไรก็ดีมีเจ้าหน้าที่ คอยติดตามและทำสรุปประเด็นอยู่ตลอด ดังนั้นที่คิดว่ารัฐบาลไม่สนใจฟังนั้นไม่จริง ตามที่เพื่อนสมาชิกได้นำคำพูดที่ตนเคยแถลงในรัฐสภามาพูดถึงขอยืนยันว่า เป็นความจริงทุกประการ แต่ตนไม่แน่ใจว่าเพื่อนสมาชิกเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ ในการพูดครั้งนั้นเกี่ยวกับการกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนบอกว่าได้ยืนยันไปยังทุกพรรคการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้าน และส.ว.ว่าหากมีประเด็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไรขอให้รวบรวมมาภายใน 2 สัปดาห์หลังจากมีการรวบรวมแล้วจะพิจารณาว่าควรเดินหน้าต่อไปอย่างไร
โดยหลังจากครบตามกรอบเวลาแล้วได้หารือกับสภาและเห็นพ้องต้องกันให้นำประเด็นที่รวบรวมได้ส่งต่อให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ พิจารณา โดยหลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์ฯทำงานเสร็จได้รายงานมายังประธานรัฐสภา ซึ่งได้ประสานให้มารับทรายรายงาน บังเอิญช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมจึงหารือกับประธานรัฐสภา ซึ่งประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยว่าแม้กรรมการสมานฉันท์ฯ จะประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนแต่ไม่ใช่ตัวแทนของสภาอย่างแท้จริง จึงควรหาเวที ให้สภาฯ ได้แสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง เพียงแต่ติดเงื่อนไขว่าสมัยประชุมนี้เป็นสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติจะนำเรื่องนี้มาหารือคงลำบาก ประกอบกับสถานะของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ไม่ใช่กรรมาธิการ สุดท้ายตนจึงตัดสินใจใช้มาตรา 179 เพื่อเปิดอภิปรายร่วมกัน
ทุกอย่างเป็นไปตามที่ผมบอกว่าจะดำเนินการ ส่วนที่ท่านไปสรุปว่าผมจะทำอะไรไม่ทำอะไรก็แปลกอยู่ เพราะผมยังฟังไม่จบ และยังไม่ได้ตอบเลย สิ่งที่ผมยืนยันมาตลอดคือเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร หรือว่าเห็นควรเอาระบบใหม่ คือมีการแก้ไขมาใช้แล้วคืนอำนาจให้ประชาชน ผมก็ไม่ขัดข้อง และ ขอความกรุณาเข้าใจว่าทุกสิ่งที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็เป็นไปตามที่ผม บอกกับสภาว่าจะดำเนินการทั้งสิ้น

ไม่คิดขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนจุดยืนเกี่ยวข้องกับตัวรัฐธรรมนูญ ตนยืนยันจริงว่ารัฐธรรมนูญสมควรต้องแก้ไข แต่บางประเด็นตนไม่ได้เห็นด้วยว่าสมควรแก้ไข อย่างมาตราที่มีผลทำให้มีการนิรโทษกรรม ตนไม่เคยเห็นด้วย ส่วนประเด็นเรื่องเขตเลือกตั้งตนเคยแสดงความเห็นว่าเขตเลือกตั้งที่ใช้ในในปัจจุบันตนเห็นว่าเหมาะสม แต่ตนก็ได้แสดงท่าทีไว้ว่าถ้าเห็นว่าจุดยืนเรื่องเขตเลือกตั้งใหญ่หรือเล็กจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสมานฉันท์ ตนคิดว่าเรื่องนี้ประนีประนอมกันได้
ขอให้มั่นใจว่าสิ่งที่ผมพูดในอดีตตั้งแต่ก่อนมาเป็นนายกฯ หรือเป็นนายกฯ แล้ว เป็นคำมั่นสัญญาที่ผมยังยืนยันสัญญาและจะดำเนินการให้เป็นไปตามนั้นทุกประการ กราบเรียนตามตรงว่าเมื่อคืน (16ก.ย.) ได้นั่งสอบถามประธานอนุกรรมการ พิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องพบว่า เมื่ออ่านตัวรายงานแล้วยังเข้าใจไม่ตรงกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร หลายคนเห็นว่าข้อเสนอแก้ไข 6 ประเด็น และให้มีส.ส.ร. แต่เมื่อผมสอบถามท่านบอกว่าไม่ได้สรุปเช่นนั้น แต่มองว่า 6 ประเด็นอาจต้องใช้กลไกของส.ส.ร.ทำ เพียงแต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ส.ส.ร.เป็นคนนอก หรือคนใน หรือเป็นส่วนผสมของคนนอกกับคนใน เรื่องนี้คณะกรรมการฯ จะต้องชี้แจง ส่วนจุดยืนของรัฐบาลผมจะชี้แจงอีกครั้งในช่วงท้าย
น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ไม่ได้ทำให้เกิดความแตกแยก แต่มันเกิดจากความทุจริต โกงกินของนักการเมือง หากแก้ไขเรื่องทุจริตไม่ได้มันก็จะเป็นวงจรอุบาทว์ต่อไป ดังนั้นเรื่องการยุบพรรคไม่ต้องห่วงหากไม่ทุจริตไม่โกงกินก็ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกยุบพรรค +ส่วนคนที่โกงกิน ทุจริตบ้านเมืองก็ขอให้ไม่มีแผ่นดินอยู่ ตายแล้วไม่ได้กลับมาฝังที่แผ่นดินไทย ดังนั้นแม้จะแก้รัฐธรรมนูญแต่ตัวเองเลวแก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้

เตือนรธน.50ถูกรดน้ำด้วยชีวิตปชช.แล้ว
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันมาก โดยลืมไปว่า เคยมีการต่อสู้ของภาคประชาชนเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อปี 2551 จนสามารถหยุดยั้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เริ่มดำเนินการโดยสมาชิกรัฐสภาที่มีเสียงมากพอตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 ได้ ล่าสุด แม้จะมี ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อกันเสนอญัตติแก้ไขอีกครั้ง ตามรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ พ่วงกับอีก 2-3 ประเด็น แต่สุดท้ายก็มีการถอนชื่อออกไป จนญัตติไม่ได้เข้าสู่ระเบียบวาระ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร.ก็ยังคาอยู่ในระเบียบวาระใกล้จะครบ 1 ปี และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ยังไม่มีกฎหมาย ว่าด้วยการให้ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมาย
นายคำนูณ กล่าวว่า เราจึงไม่อาจมองข้าม หรือไม่พูดถึง การเคลื่อนไหว ของภาคประชาชนในการพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะการชุมนุม ยาวนานรวม 193 วัน ที่มีผู้เสียสละชีวิตรวม 10 คน ผู้สูญเสียอวัยวะสำคัญ 7 คน บาดเจ็บสาหัสอยู่ในอาการโคม่า 3 คน และมีผู้บาดเจ็บสาหัสตามนิยามที่ยอมรับนับถือกัน 34 คน ดังนั้น เท่ากับว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับนี้ ได้รับการรดน้ำพรวนดินด้วยชีวิต เลือดเนื้อ และน้ำตา ของภาคประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้ว สำหรับพวกเขา ภารกิจพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้น ณ วันนี้ความศักดิ์สิทธิ์ ในภารกิจจะมิใช่เพียงเหตุผลตามปณิธานทางการเมืองเท่านั้น แต่จะผนวกเสริม ด้วยภารกิจยืนหยัดพิทักษ์เจตนารมณ์ของผู้เสียสละชีวิตและสูญ เสียอวัยวะด้วย

ริเริ่มแก้ไขเสมือนจุดชนวนความชัดแย้ง
การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร เมื่อไร จึงไม่อาจรวบรัดตัดตอนกันในที่ประชุมแห่งนี้ หรือโดยคณะกรรมการชุดนี้ โดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทางตรงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่ยืนหยัดพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กลัวเกรง หรือให้ความสำคัญกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นพิเศษ แต่จุดประสงค์สูงสุดคืออะไร คือ ความสมานฉันท์ สันติ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเพื่อความสมานฉันท์ สันติ และเห็นๆ กันอยู่ว่าการริเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง คือ การจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ให้คุโชนขึ้น มาอีก เราจะทำไปทำไม
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูสมาชิกส่วนใหย่ ไม่มีใครคัดค้านในรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ในเรื่องการสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมือง และการปฏิรูปการเมือง จึงน่าจะถือเป็นฉันทมติได้ ขณะที่ เรื่อง รัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องนั้น มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้าน เพื่อให้การประชุมมีบทสรุป รัฐบาลจึงควรรับไปทำเฉพาะส่วนที่ได้ฉันทามติก่อน
นายคำนูณ ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับบทนำในรายงาน ที่มีอคติกับรัฐธรรมนูญ ปี50 และพูดถึงความจริงไม่รอบด้าน โดยเฉพาะจงใจไม่พูดถึงการใช้ ช่องว่างช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญปี 40 ผนึกอำนาจเบ็ดเสร็จขึ้น ไม่เห็นด้วยกับบทสรุป เพราะไม่มีตรรกะว่า หากแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นแล้วจะเกิดความสมานฉันท์อย่างไร

เทพเทือกยันปชป.ไม่ได้กั๊ก
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ว่า จากการฟังอภิปรายเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันแรกเมื่อวันที่ 16 ส.ค. เป็นไปอย่างดี ทุกคนไปในทิศทางเดียวกันและไม่คิดว่าจะมีอะไรที่เป็นปัญหา
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ เสนอตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่พรรคร่วมฯมองว่าเป็นการซื้อเวลานั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะอยู่ที่ว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยในแนวทางไหน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กั๊ก เรามักถูกกล่าวหาอยู่เรื่อย เอาเป็นว่าในประเทศไทยนี้ ตนพูดจาตรงไปตรงมาที่สุด และไม่ได้ปิดบัง ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กั๊ก
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ตกลงกับพรรคร่วมฯจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.190 และมาตราที่เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นเขตเดียวเบอร์เดียวจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า น่าจะเกิดได้ ตนยังยืนยันที่จะพูดจากันแต่พรรคประชาธิปัตย์ก็มีเสรีภาพ ทุกคนก็มีความคิดต่างกัน แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไรก็จะไปอย่างนั้น และเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่จะไปในทิศทางที่ตอบสนองกับพรรคร่วม แต่ในขั้นที่แสดงความคิดเห็นก็ว่ากันไป เพราะบางคนมีความคิดเห็นอย่างนั้นจริงๆ
ส่วนที่ตนพูดไปคนละทางกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้น อาจเป็นเพราะตนไม่ค่อยได้ไปประชุมพรรค แต่เวลาไปประชุมพรรคก็เรียบร้อยดีและยังฟังในสิ่งที่ตนพูดจาดี ไม่มีลับลวงพราง ยังสามารถประสานให้พรรคประชาธิปัตย์เดินไปในทิศทางเดียวกันได้ ซึ่งถ้าทำไม่ได้เมื่อไรจะมาบอกอีกครั้ง

ปธ.วิปรัฐบาลเตรียมถกวิป3ฝ่ายตั้งส.ส.ร.
นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานวิปพรรคร่วมรัฐบาล แถลงว่าจะนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และวุฒิสภา หาแนวทางที่ชัดเจน จากการฟังสมาชิกรัฐสภาเห็นว่า การเสนอ 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์นั้น ในประเด็นที่เห็นพ้องต้องกันก็สามารถร่วมมือกันเสนอญัตติให้แก้ไขในบางมาตราได้ แต่ประเด็นที่เห็นไม่ตรงกัน และบางเรื่องอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ ม. 122 ดังนั้นการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 จะเป็นทางออกทางหนึ่ง
หากมีการตั้ง ส.ส.ร. จริงควรจะมีองค์ประกอบ จาก ส.ส.ร. ปี 40 ส.ส.ร. ปี 50 นักวิชาการ และสมาชิกรัฐสภา ฝ่ายละ 25 หากเห็นพ้องต้องกัน ก็สามารถจัดตั้ง ส.ส.ร.3 ได้ และน่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนด้วย ส่วนเงื่อนไขเวลานั้น หากให้ ส.ส.ร. ดำเนินการแก้ไขใน 6 ประเด็น ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ด้วย เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขได้ทันสมัยประชุมนี้ ส่วนการปรับปรุงเพื่อสร้างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์นั้น ให้ ส.ส.ร.ถามความเห็นจากพี่น้องประชาชนด้วย
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ได้หารือเรื่องนี้กับนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านไม่ขัดข้อง แต่ให้วิปทั้ง 3 ฝ่าย หารือให้ได้ข้อสรุปก่อน

ฝ่ายค้านไม่เอาด้วยตั้งส.ส.ร.3
ขณะที่ นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่ายังไม่ได้รับการประสานจากประธานวิปรัฐบาลเพื่อนัดประชุมเพื่อตั้ง ส.ส.ร.3แต่ในหลักการเบื้องต้น ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย และถ้านัดมาจริงๆ ก็นัดไปแต่ฝ่ายค้านไม่เอาด้วย เพราะหน้าที่ของรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ ม. 179 คือจะต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทันทีตามผลสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ 6 ข้อ ส่วนรัฐบาลจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในแนวไหน ประเด็นใดบ้าง รวมทั้งการกำหนดกรอบเวลาก็ว่ากันไป แต่ควรเร่งทำทันที คู่ขนานไปกับสภาฯ ดังนั้นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หลัง การอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญทั่วไปเสร็จสิ้นก็คือ ต้องพูดให้ชัดเลยว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเมื่อไหร่
จากการอภิปรายตั้งแต่เมื่อวาน 16 ก.ย. ถึงวันนี้ 17 ก.ย.ก็ทราบจาก นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯว่า ได้คำนวนสัดส่วนของ ผู้ที่อภิปรายในสภาฯ ที่ชัดเจนว่าทั้งส.ส.และ ส.ว.เกิน 70 % เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น นายกฯต้องรีบพูดให้ชัดเรื่องการ ดำเนินการแก้ไขและต้องตอบสังคมให้ได้ว่าจะแก้เมื่อไหร่ ประเด็นไหนบ้าง ไม่ใช่มาหลอกให้คณกรรมการสมานฉันท์ฯเขาไปทำแล้วก็วางเกมยื้อเวลาไปมาอย่างนี้ เลือกเป็นบางประเด็นที่เร่งด่วนก็ว่าไป แต่ต้องอย่ามาเบี่ยงเบนประเด็นอ้างกฎหมายจะตั้ง ส.ส.ร. 3 เพราะถือเป็นหน้าที่ รัฐบาลที่ต้องบอกกับรัฐสภา ตามรัฐมาตรา 179 ยังไงก็ต้องตอบทันที หากรัฐบาลไม่ทำยังอ้างจะไปตั้งส.ส.ร.อยู่ก็ต้องถามว่ารัฐบาลไม่อายตัวเองเหรอ

40ส.ว.เสนอตั้งกก.อิสระศึกษาแก็รธน.
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.แถลงเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยนักวิชาการ ตัวแทนประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ตัวแทนองค์กรเอกชน และสื่อมวลชน รวมทั้งสิ้น 40 คน เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับข้อเสนอ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ รวมถึงประเด็น เกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 โดยกำหนดระยะเวลา 90 วัน
สำหรับที่มาของประธานคณะกรรมการชุดนี้นั้น นายกรัฐมนตรีจะพิจารณา แต่งตั้งเองหรือให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้น 40 คนนั้นคัดสรรกันเองก็ได้ จากนั้นนำไปถามประชามติจากประชาชนทั้งประเทศโดยลงมติให้เลือกระหว่าง เห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ หรือเห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระซึ่งหลังจากที่ได้ข้อยุติแล้ว ครม.ก็เสนอไปยังรัฐสภา เพื่อขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญไปตามนั้น ทั้งนี้ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อรับทราบแล้ว
ยืนยันว่าไม่ใช่การซื้อเวลา ตอนที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯก็ยังไม่เคยถามประชาชนเลย ถ้าให้แก้ไขโดยยึดแค่ 6 ประเด็นถือว่าเป็นความไม่ถูกต้อง การเสนอตั้งคณะกรรมการอิสระเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งต่างจากการทำสสร. 3 ที่จะต้องแก้ไขมาตรา 291 ก่อน อย่างไรก็แล้วแต่ หากมีการตั้งส.ส.ร.3 ขึ้นมาแล้วสุดท้ายก็มีการลงประชามติด้วยพวกเราก็รับได้
กำลังโหลดความคิดเห็น