xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ยัน รธน.50 เจ๋งสุดเป็นยาแรงกำจัดนักการเมืองโกง ต้านแก้ถึงที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” ระบุจะแก้ รธน.อย่าลืมประชาชนที่เสียเลือดเนื้อปกป้อง ต้องทำประชามติก่อน ยันพันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นมวลชน ปชป.จุดยืนต่างกันชัดเจนทั้งเขาวิหาร แก้รัฐธรรมนูญ ชี้ปฏิวัติ 19 ก.ย. ไม่เสียหลาย อย่างน้อยก็ได้ยาแรงกำหลาบ ส.ส.ขี้โกง ขณะที่ “พิภพ” ย้ำพันธมิตรฯยื่นคำขาดต้านแก้รัฐธรรมนูญ ซัดนักการเมืองอย่าเห็น รธน.เป็นของเล่น ระบุหมดยุคการเมือง ชงเองกินเอง


คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

รายการ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”ทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น.วันที่ 18 กันยายน 2552 โดยมี สโรชา พรอุดมศักดิ์ ดำเนินรายการ ได้รับเกียรติจาก นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมพูดคุยถึง จุดยืนของพันธมิตรฯ ต่ออุดมการณ์ในการปกป้องรัฐธรรมนูญ

นายคำนูณ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นการนึกอะไรไม่ออกของนายกฯ จึงต้องเปิดสภาฯประชุมไปก่อน ที่จริงไม่จำเป็นต้องเปิดประชุมก็ได้ แค่เอารายชื่อ ส.ส.-ส.ว. มาให้ตน แล้วจะบอกให้ว่าใครคิดอย่างไร การเมืองไทยยังวนเวียนอยู่ในระบอบเดิมๆ คนที่อยากจะแก้ไข ก็บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเผด็จการมาจากทหาร ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ โดยเขาเห็น ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 เพียงแต่ คิดค้นมาตรการใหม่ๆขึ้นมาอุดช่องว่างเพิ่มเติม จึงยังไม่จำเป็นต้องแก้ไข หากแก้ไขต้องก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย

นายคำนูณ กล่าวว่าตอนอภิปรายในสภาฯ ตนพูดว่าพวกเราที่กำลังประชุมอยู่นี้ กำลังลืมคนกลุ่มหนึ่ง คือ ภาคประชาชนที่เขาปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยสูญเสียชีวิต 10 โคม่า 2 บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ตนเชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านการรดน้ำพรวนดินด้วยเลือด เนื้อ ประชาชน มาแล้ว จึงต้องถามประชาชนที่เขาพิทักษ์ปกป้องก่อน และดีใจตอนที่ตนพูด เป็นเวลาที่นายกฯ ขึ้นมานั่งฟังพอดี หลังจากนั้นตอน 5 ทุ่มครึ่ง ช่วงปิดอภิปราย นายกฯได้พูดถึงตน ว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เสียสละชีวิตปกป้องรัฐธรรมนูญ การแก้รัฐธรรมนูญจริงอยู่ที่ต้องใช้หลักการสมานฉันท์เป็นตัวตั้ง แต่มีเงื่อนไขว่า เมื่อกระบวนการทุกอย่างในสภาฯเสร็จสิ้นแล้ว จะต้องเอามาทำประชามติจากประชาชนด้วย

นายคำนูณ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ แก้ไม่ได้ ดูได้จากหลังที่พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งปลายปี 2550 จากนั้นได้พยายามจุดพลุ เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญมาตลอด อ้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จนเกิดการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ จึงทำให้ล้มเลิกไป และเมื่อเร็วๆนี้ ส.ส. - ส.ว. เข้าชื่อแก้ไขใน 6 ประเด็น แล้วต่อมามีกระบวนการถอนชื่อ ทำให้ตกไปอีก อีกทั้งตอนนี้ รัฐบาล เองก็ยังไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร เพราะการเมืองรอบด้านไม่ลงรอยกัน ดังนั้นตนว่าไม่น่าจะทันจุดที่การเมืองจะยุบสภาก่อน

ทั้งนี้การอภิปรายของพรรคเพื่อไทย เท่าที่ตนฟังเขาก็ไม่ต้องแก้ให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยอยากให้มีการยุบสภาก่อน และหากการเลือกตั้งเขาได้มาเป็นรัฐบาลถึงค่อยแก้ เพราะเขารู้ว่า หากยื้อกันไปมาอย่างนี้ คงอีกนานกว่าจะแก้ นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรฯ พร้อมที่จะพลีชีพเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มีกำลังใจที่มีแบ็คอัพหนุนหลังได้อุ่นใจขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ใช่หัวเดียวกระเทียมลีบ ส่วนคนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาก็เกรงกลัว ดังนั้นหากจะแก้คงไม่ใช่เรื่องง่าย

นายคำนูณ กล่าวว่าหากมีการยุบสภาครั้งนี้ ขอบอกได้เลยว่าไม่เหมือนเดิม ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นรัฐบาลต่อ หรือ พรรคเพื่อไทยจะกลับมาเป็นรัฐบาล แต่ไม่อาจประมาทพรรคการเมืองใหม่ได้ ซึ่งจะได้ ส.ส. มากหรือน้อยก็ก่อให้เกิดนัยยะใหม่ทางการเมืองได้ อย่างไรก็ตาม แรกเริ่มพรรคการเมืองใหม่ อาจจะไม่ได้เข้าไปมีบทบาทที่เข็มแข็งมากนัก แต่หากมีตัวแทนเข้าไปนั่งในสภาฯสัก 10-20 คน แล้วได้คนที่มีความสามารถเข้าไปสร้างความแตกต่างจากการเมืองเก่า จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากทีเดียว

นายพิภพ กล่าวเสริมว่านักการเมืองอาจไม่รู้ตัวว่า การเมืองใหม่จะเข็มแข็งได้อย่างไร ตรงนี้ขอบอกว่า กำเนิดของพรรคการเมืองใหม่ เกิดจากมวลชนและเชื่อมโยงกับภาคประชาชนที่มีเป้าหมายร่วมกัน พรรคพันธมิตรฯ เป็นพรรคที่มวลชนใช้เป็นเครื่องมือ แต่พรรคเพื่อไทยใช้มวลชนเป็นเครื่องมือ จึงมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน

นายคำนูณ กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มเสื้อแดงมักพูดว่า พรรคประชาธิปัตย์ใช้พันธมิตรฯ และพันธมิตรฯเป็นมวลชนของประชาธิปัตย์ เกี่ยวข้องกันไม่อาจแยกออกจากกันได้ ตรงนี้ไม่จริง พันธมิตรฯ มีมุมมองที่แตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ในหลายกรณี เช่นกรณี เขาวิหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้านนายพิภพ กล่าวเสริมว่าจากที่ตนลงภาคใต้ ในพื้นที่ที่ประชาชนเคยสนับสนุนประชาธิปัตย์ ได้มีประชาชนจำนวนมากแสดงเจตจำนงขอร่วมต่อสู้ทางการเมืองกับพันธมิตรฯ ดังนั้นหากพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ปรับตัวให้เป็นการเมืองใหม่ และรับฟังมวลชนมากขึ้น รับรองว่าอนาคตลำบากแน่

เมื่อถามว่าประเทศได้อะไรจากการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. นายคำนูณ กล่าวว่า หากเรามองว่าเป็นการรัฐประหารที่ล้มเหลว ก็ถูกในระดับหนึ่ง ที่รัฐบาลขณะนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ในด้านไม่ดีก็ก่อให้เกิด สิ่งใหม่ๆขึ้นมา เช่นได้ยาแรงในการแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้ภาคประชาชนที่ตื่นตัว

นายพิภพ กล่าวว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องถามประชาชนด้วย หมดสมัยแล้วที่นักการเมือง ชงเองกินเอง ในประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว เขาจะไม่ให้นักการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ แต่เขาให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาร่าง พร้อมกับยกตัวอย่าง คำว่ารัฐธรรมนูญของ ดร.อมร “เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย หลุดออกจากเผด็จการ” ดังนั้นหากยังให้นักการเมืองเขียน จะเป็นการเปิดช่องทาง ให้ตัวเองสร้างธุรกิจทางการเมืองได้อย่างสะดวก

นายพิภพ กล่าวว่าเราเสียชีวิตในการร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่เฉพาะรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ยังมีเหตุการณ์ช่วง 14 ต.ค. หรือ พ.ค.35 ด้วย เพื่อแก้จุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ จุดยืนพันธมิตรฯตอนนี้ยืนยันว่า หากจะแก้เพื่อตัวเอง ไม่ยอมให้แก้เด็ดขาด ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังแผลงฤทธิ์ ปราบขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่น อีกอย่างก็เพิ่งใช้ได้ไม่นาน ดังนั้นจะต้องผ่านการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งก่อน ถึงค่อยนำมาพิจารณากันใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่ของเล่น

“ในรัฐธรรมนูญบอกว่า หากจะแก้ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญอันจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ต้องทำประชามติก่อน ซึ่งตอนนี้จะเห็นได้ชัดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้กำลังทำให้ประชาชนเกิดความแตกแยก ดังนั้นจึงต้องฟังประชามติจากประชาชนก่อน” นายพิภพ กล่าว

นายพิภพ กล่าวว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเกมการเมือง รัฐบาลต้องการยื้อเวลา ส่วนฝ่ายค้านก็ต้องเล่นเกมให้มีการยุบสภา อย่างไรก็ตาม ตนไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไปกระทบอะไรกับการทำมาหากกินทางการเมือง ดังนั้นรัฐบาล จะเอาเรื่องนี้มาเล่นไม่ได้ สิ่งที่ประชาชนต้องการให้แก้คือ ปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ

นายพิภพ กล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการปฏิวัติ 19 ก.ย. คือ กระบวนการตรวจสอบเข็มแข็งขึ้น ทำให้ภาคประชาชนมีความเข้มแข้งขึ้น ยืนหยัดการต่อสู้เป็นแรมปี ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีในประวัติมาก่อน นี่คือการเปลี่ยนแปลงการเมืองเก่ามาสู่การเมืองใหม่ และวัฒนธรรมความรุนแรงลดลง สังเกตได้จากในสมัย นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ความรุนแรงต่อพันธมิตรฯ ทำให้ประชาชนเห็นถึงความไม่เป็นธรรม ออกมาปกป้อง

สโรชา กล่าวทิ้งท้ายถึง พิธีรำลึกการสูญเสียเหตุการณ์ 7 ต.ค. ว่า ให้พี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มารวมพลัง หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า ในวันพุธที่ 7 ตุลาคม เวลา 6 โมงเช้า ในวันนั้นจะมีการร่วมทำบุญตามพิธีกรรมอย่างน้อย 3 ศาสนา และประกาศเจตนารมณ์ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ รวมถึงการพบปะสังสรรค์พี่น้องที่บาดเจ็บประกอบกับประกาศเจตนารมณ์ของผู้ที่บาดเจ็บโดยเฉพาะด้วย
นายคำนูณ สิทธิสมาน
นายพิภพ ธงไชย
กำลังโหลดความคิดเห็น