กฤษฎีกาฟันธงข้อกล่าวหา “พัชรวาท” ทุจริตงบ สตช.18 ล้านยังอยู่ นายกฯ ต้องสั่งการตั้งคณะกรรมการสืบสวนฐานกระทำผิดวินัยร้ายแรง “คำนูณ” ชี้ นายกฯ ได้ตัวช่วยคลี่คลายปมขัดแย้งใน สตช.จี้ “มาร์ค” รีบย้าย ผบ.ตร.เข้าประจำสำนักนายกฯ แล้วตั้งรักษาการ พร้อมตั้งคำถามปลัด สปน.เสนอความเห็นให้ยุติเรื่อง ทั้งที่ยังไม่ตั้งกรรมการสอบ
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายคำนูณ สิทธิสมาน ให้สัมภาษณ์รายการ News Hour
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประเภทสรรหาสายนักวิชาการ ให้สัมภาษณ์รายการ News Hour ทาง เอเอสทีวี เมื่อเวลาประมาณ 17.20 น.วันที่ 24 ส.ค.ถึงความคืบหน้ากรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ถูกคณะกรรมการสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในยุคที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็น ผบ.ตร.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงจาการทุจริตงบประชาสัมพันธ์ของ สตช.18 ล้านบาท ซึ่งเป็นเหตุให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ สั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2551 ก่อนที่ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ในฐานะรักษาการนายกฯ จะสั่งย้ายกลับมาเป็น ผบ.ตร.เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ปีเดียวกัน และต่อมาในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีความเห็นสั่งให้ยุติเรื่อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยอีกครั้ง ว่า เท่าที่ทราบมา คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งเรื่องไปยังรัฐบาลแล้ว แต่รัฐบาลได้รับลัหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ ทั้งนี้ทราบว่าเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 และคณะที่ 2 เพื่อปรึกษาหารือร่วมกันเป็นกรณีพิเศษ
นายคำนูณ เปิดเผยว่า เท่าที่ทราบ ประเด็นโดยสรุป คณะกรรมการเห็นว่า การดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีข้าราชการตำรวจ ถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของผู้บังคับบัญชาของข้าราชการตำรวจที่ถูกกล่าวหา ฉะนั้น แม้ว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ก่อนลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวน แต่เนื่องจากเรื่องนี้ยังมีข้อกล่าวหาว่า ข้าราชการตำรวจผู้นี้กระทำผิดวินัย นายกรัฐมนตรีหรือผู้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบกำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีสำหรับราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลาต่อมาจึงยังคงมีหน้าที่ตามมาตรา 84 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ที่จะต้องดำเนินการต่อไป โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค้างพิจารณาอยู่นั้นต่อไป แต่หากมีการพิจารณาโดยเบื้องต้นแล้ว มีความเห็นแตกต่างจากการดำเนินการที่ค้างพิจารณาอยู่ และจะไม่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจสั่งการที่จะพิจารณาตามที่เห็นควร
นายคำนูณ กล่าวว่า ความหมายของการวินิจฉัยตามกรณีนี้คือ จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน (ในชั้นรัฐบาล) เพราะว่าข้อกล่าวหา พล.ต.อ.พัชรวาท ยังคงอยู่ การที่ นายชวรัตน์ ส่งตัว พล.ต.อ.พัชรวาท กลับคืน สตช.ไม่มีผลทำให้เรื่องยุติลง แต่ถ้านายกฯ จะพิจารณาเป็นอื่น ก็อยู่ในความรับผิดชอบของนายกฯ หรือรองนายกฯ ที่จะรับผิดชอบสั่งการ แต่ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อไป
ส่วนประเด็นที่ว่าเรื่องนี้จบหรือยัง ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ มีความเห็นนั้น เท่าที่ทราบมา คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า “ส่วนรายงานสรุปข้อเท็จจริงและความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำความผิดวินัยตามข้อกล่าวหาของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และเห็นสมควรยุติเรื่อง ที่ได้เสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประกอบการพิจารณาสั่งการนั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการหรือขั้นตอนการดำเนินการทางวินัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยตำรวจแห่งชาติ แต่เป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงและความเห็นรายงานต่อรองนายกรัฐมนตรีเท่านั้น นายกรัฐมนตรีหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีให้รับผิดชอบกำกับการบริหารราชการและสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีสำหรับราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่อาจถือเอาความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นที่ยุติได้”
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ ก็แปลว่า เรื่องยังไม่เป็นที่ยุติอย่างแน่นอน จึงเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ พล.ต.อ.พัชรวาท จะต้องตัดสินใจแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป ยกเว้นแต่จะมีความเห็นแตกต่างออกไป ซึ่งนายกฯ ต้องรับผิดชอบเอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ว่า จะเร่งให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือจะเพิกเฉยเหมือนนายกฯ ที่ผ่านมาในอดีตหรือไม่
สำหรับกรณีเกิดขึ้นในยุคที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็น ผบ.ตร.โดย พล.ต.อ.พัชรวาท พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพานิชย์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.และ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีต ผบ.ตร.ถูกกล่าวหาว่าทำผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2538, ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องหลักเกณฑ์การซื้อและการจ้างโดยการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์, พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157 ประกอบด้วยมาตรา 83, 84, 86, 90 และ 91 กรณีการใช้งบประชาสัมพันธ์ 18 ล้านบาทไม่โปร่งใส ซึ่ง สตช.ในยุคนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผลสรุปออกมาเห็นว่าผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งจะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในชั้นรัฐบาลตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 79 (1) และ 86 แต่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ถูกปลดจากตำแหน่ง ผบ.ตร.ในช่วงรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช เสียก่อน หลังจากนั้นนายสมัคร ก็ไม่ได้ดำเนินการต่อ รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็เพิกเฉยเช่นกัน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จึงทำหนังสือทวงถามหลายครั้ง จนกระทั่งนายสมชายมีคำสั่งลงวันที่ 28 พ.ย.51 ย้าย พล.ต.อ.พัชรวาทไป ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเตรียมที่จะตั้งคณะกรรมการสืบสวน แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2551 ทำให้นายสมชายต้องพ้นจากตำแหน่งไปก่อน
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2551 นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกฯ ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท กลับไปดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.โดยอ้างว่า การปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่ค้างอยู่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ได้มอบหมายให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอความเห็น และมีการเสนอความเห็นว่าให้ยุติเรื่อง โดยอ้างว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่มีความผิด อย่างไรก็ตาม เมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สอบถามเรื่องนี้ไปยัง นายสุเทพ เพื่อเป็นทางออกในการดำเนินการกับ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่มีเรื่องขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรี นายสุเทพจึงได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า เรื่องดังกล่าวยุติลงแล้วหรือไม่
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติออกมาว่าเรื่องยังไม่ยุติและจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน นายอภิสิทธิ์ จะต้องมีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีตั้งคณะกรรมการสอบสวนต่อไป และเรื่องนี้ น่าจะเป็นตัวช่วยให้นายกรัฐมนตรีที่จะดำเนินการกับ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่ขัดขวางการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ ไม่ควรเอาเรื่องดังกล่าวไปต่อรองกับ พล.ต.อ.พัชรวาทในการยกมือสนับสนุนการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ แต่เรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายกฯ จะต้องตอบคำถามว่า การที่นายชวรัตน์ ได้ลงนามให้ พล.ต.อ.พัชรวาท กลับมาเป็น ผบ.ตร.เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2551 นั้น ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นไปตามหลักจริยธรรมหรือไม่ เพราะขณะนั้นมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้วแต่ยังไม่ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ และ นายสุพล ฟองงาม รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาลชุดก่อนได้ตั้งเรื่องที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน พล.ต.อ.พัชรวาท ไว้แล้ว
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายกฯ จะต้องดูว่าปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ใช้หลักคิดอย่างไรที่ทำความเห็นเสนอขึ้นมาว่า พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่มีความผิด ทั้งที่ยังไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเลย และยังสั่งให้ยุติเรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย และมีคำถามว่าปลัดสำนักนายกฯ คนนี้มีวุฒิภาวะพอที่จะเป็นปลัดฯ หรือไม่ หรือได้ปฏิบัติหน้าที่โดยซื่อสัตย์สุจริตอย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง ในสถานการณ์ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถใช้ข้าราชการเป็นเครื่องไม่เครื่องมือในการทำงานได้เลย
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า หากนายกฯ มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้วมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็จะถือเป็นการให้ความเป็นธรรมกับ พล.ต.อ.พัชรวาท ด้วย เพราะเรื่องดังกล่าวจะได้ไม่ต้องค้างคาอยู่อีกต่อไป แต่ถ้าปล่อยไว้ก็จะเป็นตราบาปว่าครั้งหนึ่งเคยถูก สตช.ตั้งกรรมการสอบและมีมติว่ามีความผิด แต่ก็ถูกย้ายกลับมาโดยที่กระบวนการสอบสวนยังไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ หากมีการย้าย พล.ต.อ.พัชรวาท ไปช่วยราชการสำนักนายกฯ ก็สามารถแต่งตั้งคนอื่นมารักษาราชการแทน ผบ.ตร.ได้