"คำนูณ" เผย ก.ต่างประเทศ ตีความท่าทีศาลโลก ให้ความสำคัญแผนที่ฝรั่งเศส หวั่นแพ้อีกหากขึ้นศาล ส่งผลไทยไม่เด็ดขาดกับกัมพูชา จี้นายกฯ แสดงจุดยืนให้ชัดเจนก่อน ปชช.ลุกฮือ ย้ำค้าน JBC ถึงที่สุดพร้อมเสนอตัวตั้งโต๊ะชน"กษิต" ถกเขาวิหารคลายปัญหาคาใจ ปชช. ขณะที่"พล.อ.ปฐมพงษ์" ลั่นหากเป็น รมว.กลาโหม จะสั่งเขมรถอยใน 7 วัน สับทหารชั้นผู้ใหญ่ ขาดอุดมการณ์ความรักชาติ
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนในข่าว”
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 1 กันยายน 2552 โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย มาร่วมพูดคุยถึง ข้อบกพร่องของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อกรณีเขาวิหาร
นายคำนูณ กล่าวว่า ต้องแยกแยะให้ออกระหว่าง บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตุแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC กับ กรอบเจราเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในกรอบของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆ หรือ GBC ไม่เหมือนกัน ตอนนี้ร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา อยู่ในช่วงรัฐบาลเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตุแดนร่วมไทย-กัมพูชา
ทังนี้การประชุมที่ผ่านมานั้น ได้หยิบร่างกรอบเจราเพื่อรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในกรอบของคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้ ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะเป็นการอนุมัติกรอบก่อนที่รัฐบาลจะไปทำข้อตกลงกับใคร ต้องเสนอกรอบเจรจาให้สภาอนุมัติก่อน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสาม ซึ่งหลังจากเจรจาแล้วจะไปลงนาม เสนอร่างสัญญามาให้สภาอนุมัติตามมาตรา 190 วรรคสอง
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ในเมื่อ JBC และ GBC มีความแตกต่างกัน ตนจึงเสนอตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของรัฐสภาขึ้นมาศึกษาก่อนลงมติ ซึ่งทางวิปรัฐบาล และ รมว.ต่างประเทศก็ยอมรับ ดังนั้น ต่อให้ถึงวาระการประชุม JBC ก็จะยังไม่มีการลงมติในเรื่องนี้ แต่จะมีการแต่งตั้งกรรมาธิการร่วมของสองสภาขึ้นมา ประมาณ 30 คน โดยมีตัวแทน ส.ว.7 คน เพื่อทำการศึกษาข้อขัดแย้ง โดยเฉพาะมุมมองของบุคคลนอกกับมุมมองของ ก.ต่างประเทศ อย่างไรก็ตามมีประชาชนกังวลใจ ว่า หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบ จะทำให้กัมพูชานำไปอ้างขึ้นทะเบียนเขาวิหารเป็นมรดกโลกสมบูรณ์ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ตรงนี้ได้มีการปรึกษากันโดยให้ศึกษาข้อมูล 90 วันเมื่อถึงเวลาก็เลื่อนออกไปเรื่อยๆ
นายคำนูณ กล่าวว่า ในการชี้แจงของ ก.ต่างประเทศต่อ ส.ว.หลายฝ่ายยอมรับว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นของไทย และยืนยันว่า กัมพูชารุกล้ำเข้ามา โดยท่านที่มาชี้แจงล้วนเป็นคนสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ ดร.สมปอง สุจริตกุล อดีตเอกอัครราชทูตไทย เคยยืนยัน ว่า ศาลโลกไม่ได้พิพากษาเรื่องเขตุแดน และศาลโลกให้ความสำคัญสนธิสัญญาเหนือกว่าแผนที่ที่กัมพูชาอ้างอิง ซึ่งเป็นแผนที่ ที่ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยที่ไทยไม่ได้รับรู้ด้วย ดังนั้นเมื่อท่านยืนยันว่าศาลโลกพิจารณาอย่างนี้ท่านจึงไม่กลัวหากจะต้องกลับไปขึ้นศาลโลกอีกครั้งหนึ่ง และไทยน่าจะได้เปรียบ แต่ในส่วนกระทรวงการต่างประเทศปัจจุบัน มีมุมมองในคำพิพากษาแตกต่างออกไป ซึ่งแม้จะเห็นพ้องว่า ศาลโลกไม่ได้พิพากษาเรื่องเขตแดน แต่ศาลโลกมีนัยให้ความสำคัญกับแผนที่ที่เขมรใช้อ้าง
ด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน ทำให้ตนมองเห็นรากฐานของปัญหา ว่า กระทรวงการต่างประเทศเกรงอะไร ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลและทหาร ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ายุคปัจจุบันหากใช้กำลงทหารจะมีประเทศเพื่อนบ้านมาบีบให้กลับคืนสู่ความสงบ แล้วเมื่อสืบสาวต้นตอ ก็มีโอกาสที่เรื่องนี้กลับขึ้นไปสู่ศาลโลกอีกครั้ง เพื่อตีความคำพิพากษาที่พูดถึงเรื่องแผนที่และสนธิสัญญาไว้ แต่ไม่ได้ระบุเขตแดน ด้วยเหตุนี้ทำให้กระทรวงการต่างประเทศ ไม่มั่นใจว่า ไทยจะได้เปรียบ หากเรื่องต้องขึ้นสู่ศาลโลกอีกครั้ง
“ผมอยากให้ทั้งสองฝ่ายมานั่งคุยกัน โดยอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้าร่วมด้วย ไม่อยากเห็นการกล่าวหากันไปมา และไม่อยากเห็นประชาชนกล่าวหา ว่า ราชการกระทรวงต่างประเทศทั้งหมดไม่เอาไหน และเป็นเพราะความขี้ขลาด หรือมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะผมเชื่อว่ากระทรวงการต่างประเทศ ก็เป็นคนไทย ย่อมต้องรักชาติปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ”นายคำนูณกล่าว
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า สุดท้ายเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ต้องตัดสินใจว่าใจเชื่อฝ่ายไหน ซึ่งหากให้ดีน่าจะเอาความเห็นของทั้งสองมาชั่งน้ำหนักข้อมูลดู นายกฯ อย่าได้ประมาทเรื่องนี้ เพราะหากประชาชนเลือกที่จะเชื่อ ดร.สมปอง แล้วมีการเคลื่อนไหวของมวลชน เมื่อดำเนินไปถึงจุดๆ หนึ่งมันจะหยุดไม่ได้
นายคำนูณ กล่าวว่าปัญหาอย่างหนึ่งของประเทศ คือ รู้เฉพาะเรื่อง ส่วนที่เจรจาเขตแดนก็รู้แต่เรื่องเขตแดน ส่วนที่ทำเรื่องมรดกโลกก็รู้แต่เรื่องมรดกโลก หรือแม้กระทั่งเวลามีปัญหาเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา ในส่วนของกลาโหมก็เข้ามาชี้แจงแต่เฉพาะส่วนของกระทรวงกลาโหม กระทรวงต่างประเทศก็ไม่ได้มาร่วมชี้แจงด้วย ตรงนี้มันไม่ถูกต้อง แท้ที่จริงต้องสัมพันธ์กันสามเรื่อง ทั้งเขตแดนไทย-กัมพูชา การขึ้นทะเบียนปราสาทเขาวิหารเป็นมรดกโลก ปัญหาเขตแดนในทะเล ซึ่งทั้งสามเรืองมันเกี่ยวกัน
“นายกฯ ต้องพูดกับประชาชนให้เข้าใจ หรืออย่างน้อยให้ประชาชนเข้าใจเจตนารมณ์ของท่าน เพราะท่านเป็นคนหนึ่งที่รู้เรื่องนี้อย่างดี จากที่เคยอภิปรายในสมัย นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี อย่าปล่อยไว้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่”นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวว่า ตนพร้อมจะตั้งโต๊ะคุย กับ นายกษิต ภิรมณ์ รมว.ต่างประเทศ ถามตอบผ่านสื่ออย่างเปิดเผยเพื่อคลายความสงสัย เพราะตนไม่เห็นด้วยกับกรอบการตกลงนี้ ที่มีวัตถุประสงค์ ลดความตึงเครียดระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา และปรับกำลังทหาร ออกจากวัดแก้วสิขคีรีศวร เพราะวัดแก้วสิขคีรีศวร เป็นดินแดนของไทย ทางที่ถูกคือต้องไล่ชาวกัมพูชาออกไป ไม่ใช่ไปถอนทหาร
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้เป็นมรดกความชุ่ยของกระทรวงการต่างประเทศสืบต่อกันมา ที่ปล่อยให้กัมพูชามาสร้างวัด ตั้งชุมชน ที่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เพราะต่อไปอีก 20-30 ปีไม่สามารถพิสูจน์ได้ ว่า สร้างมานานเท่าใด หากกัมพูชาบอกว่าสร้างมาแล้วร้อยปี เราจะเถียงเขาไม่ได้
นายคำนูณ กล่าวทิ้งท้ายว่า ใครเชียรรัฐบาลชุดนี้ ต้องทำใจเหมือนเชียร์ฟุตบอลทีม ลิเวอร์พูล แม้จะมีดีกรีเคยเป็นแชมป์ แต่ฤดูการนี้ใครที่มีความหวังจะได้เป็นแชมป์สูงสุด ก็ต้องลุ้นกันหืดขึ้นคอ เพราะเพิ่งเปิดฤดูกาลก็แพ้มาแล้วสองครั้ง ฉะนั้นนายกฯ ต้องพูดกับประชาชนว่ามีแนวคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะประชาชนเขาต้องการเห็นการผลักดัน ให้กัมพูชาที่รุกล้ำเขตแดนไทยออกไป อย่างปล่อยให้ประชาชนสับสนกับ ก.ต่างประเทศที่พูดอย่างหนึ่ง แล้ว ก.กลาโหมก็พูดอีกอย่างหนึ่ง
พล.อ.ปฐมพงษ์ กล่าวว่ารัฐบาลสอบตกเรื่องความมั่นคง ปกติการที่ไทยจะเสียดินแดนไม่ใช่เรื่องง่าย หากทุกฝ่ายประสานมือกัน เพราะเมื่อมีปัญหาเขตแดน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต้องทำหน้าที่ไปเจรจาตกลงกัน ว่าจะดำเนินการ ปักปันเขตุแดนอย่างไร โดยมีทหารในฐานะที่เป็นกำลังติดอาวุธลาดตระเวนตามแนวชายแดน ซึ่งมี รมว.กลาโหมในฐานะที่เป็นประธาน ต้องเข้าเจรจาเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง ดังนั้นตอนนี้ทุกหน่วยรอบกัมพูชา ผบ.หน่วยเฉพาะกิจ ที่อยู่ในพื้นที่ หากพบปัญหาต้องรายงานว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และเมื่อ ก.ต่างประเทศ รู้ว่าเส้นเขตแดนไม่แน่นอน หากมีปัญหาก็จะมีคณะอนุกรรมการเทคนิคร่วมในการปักปันเขตแดน ว่าจะใช้เขตสันปันน้ำหรือไม่
ทั้งนี้เมื่อรู้แล้วว่ากัมพูชารุกล้ำเข้ามา ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ควรต้องคิดแล้วว่าอำนาจกำลังรบ พร้อมหรือไม่ ไม่ใช่บอกว่าวางกำลังไว้แล้ว รัฐจะขับไล่เมื่อไรก็ไปได้เลย ซึ่งมันจะเหมือนกับกรณี ประเทศพม่าปรับเขตเศรษฐกิจ โดยไปสร้างเจดีย์ที่เกาะโสโครก แล้วอ้างว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นของเขา แต่โชคดีครั้งนั้นที่มีการตกลงกันได้ แตกต่างจากเขมรที่จ้องจะฮุบเอาพื้นที่ตรงนี้มาตลอด
พล.อ.ปฐมพงษ์ กล่าวถึงกรณีที่หลายคนกังวล ว่า กำลังทหารของไทยที่ไปเฝ้าระวังบนเขาวิหาร อาจไม่เพียงพอรักษาอธิปไตยได้ เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ รมว.กลาโหม ซึ่งต้องคิดให้ไกลกว่านี้ ต้องประเมินศักยภาพทั้งสองฝ่าย ว่า หากมีการปะทะกันแล้วจะทำให้เขาถอยออกไปได้เท่าไร แน่นอนว่ายุคปัจจุบันหากมีการใช้กำลังย่อมมีประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาห้ามปราม ดังนั้นต้องเสริมข้อคิดถึงระยะเวลาในการปะทะอาจเป็น 5-7 วัน หลังจากนั้นควรทำการเจรจาเพราะต่างชาติจะเข้ามาแล้ว
“หากผมเป็น รมว.กลาโหมจะบอกให้ชาวกัมพูชาที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของไทย ถอยออกไปภายในเจ็ดวัน ตั้งแต่ที่รู้ว่ามีการรุกล้ำเข้ามา เพราะปกติจะมี ผบ.หน่วยเฉพาะกิจ รายงานความเคลื่อนไหวให้ทราบอยู่แล้วในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ที่เราเสียเปรียบในเชิงรุกเพราะ เราอ่อนกว่าเขาตรงบุคคล ที่โดนย้ายบ่อย ทำให้การทำงานไม่มีความต่อเนื่อง และที่สำคัญอุดมการณ์ ชาตินิยมของเขารักแผ่นดิน แต่ของไทยไม่รู้จะรักอะไร เพราะละเลยประวัติศาสตร์” พล.อ.ปฐมพงษ์กล่าว
พล.อ.ปฐมพงษ์ กล่าวว่า ทหารชั้นผู้ใหญ่รุ่นหลังๆ ขาดอุดมการณ์ความรักชาติ ละเลยต่อหน้าที่ เพราะหากรักชาติจริง จะต้องยึดแนวทางตามทหารรุ่นพี่ อย่างจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่เคยพูดหลังขุดเอาธงชาติลงมาจากเขาวิหารโดยไม่ยอมลดธง ว่า “ในเขตแดนของไทยนี้จะต้องไม่ให้ใครล้ำเข้ามา หากมีใครรุกล้ำเข้ามาให้ไล่ลงไป หากขัดขืนใช้กำลังไม่ต้องรอการอนุญาตใดๆ ทุกอย่างอยู่ที่การตัดสินใจของท่านเอง”
“ทหารรุ่นเก่าๆ เขาคิดตลอดเวลา ว่า ทำอย่างไรจะได้ดินแดนคืนมา ดังนั้นทหารระดับนายพลทั้งหลาย ต้องสานต่อ อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง มากกว่าแผ่นดินของชาติ”พล.อ.ปฐมพงษ์กล่าว
พล.อ.ปฐมพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่ารัฐบาลต้องไม่มีความลับใดๆ กับประชาชนชาวไทย ถ้าเพื่อจะต้องทำให้เสียดินแดน อย่างไรก็ตามตอนนี้ตนอยากให้แต่ละกระทวงเอาใจใส่หน้าที่หลักของตัวเองให้ดี ก.ต่างประเทศก็ว่าไปตามเรื่องของ ก.ต่างประเทศ ส่วน ก.กลาโหมก็ต้องเตรียมในเรื่องกำลังรบให้พร้อม ด้านนายกฯ ก็ต้องตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของชาติเท่านั้น