xs
xsm
sm
md
lg

เคาะข่าวริมโขง ถก “ความเสื่อมสีกากี” เหล่า ตร.แห่ขอพร “รีสอร์ตหรู” จ่าย 3 แสนได้เลื่อนขั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เคาะข่าวริมโขง “เจ๊ปอง-น้าชัช-ประพันธ์” ร่วมถกประเด็นร้อน จวก “สุเทพ-นิพนธ์” เป็นหอกข้างแคร่คอยขัดขา “มาร์ค” เลือก ผบ.ตร.คนใหม่ ปูดรีสอร์ตหรูหลักร้อยล้านของลูกสาว “พัชรวาท” สุดศักดิ์สิทธิ์ ตร.คนไหนอยากเลื่อนขั้นให้จ่าย 3 แสน รับรองสมหวังทุกราย ด้าน “คำนูณ” ส.ว.สรรหา ต่อสายตรงแนะทางออกปมเสียดินแดน 4.6 ตร.กม.ให้เขมร ควรตั้ง คกก.ร่วมสภาฯ ยื้อเวลาเซ็นข้อตกลงร่วมไทย-เขมร ชี้จับตาวาระพิจารณาบันทึกประชุมเจบีซี ในสภาพรุ่งนี้ อาจทำไทยเสียประโยชน์ เชื่อ แรงต้าน ส.ว.สู้เสียงรัฐบาล-ฝ่ายค้านไม่ได้


คลิกที่จอภาพ เพื่อรับชมรายการ


คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “เคาะข่าวริมโขง”

รายการ “เคาะข่าวริมโขง” ออกอากาศทางช่องอีสานทีวี-ทีวีเพื่อคนอีสาน วันที่ 1 กันยายนนี้ มี นายชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย และนายประพันธ์ คูณมี และ น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้มีการหยิบยกประเด็นกรณีการแต่งตั้งผบ.ตร.คนใหม่ ที่เกิดความขัดแย้งระหว่างหลายฝ่าย หรือจะเป็นกรณี รีสอร์ตหรูของลูกสาวสองคนของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ที่พบพิรุธความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง ต่อมาเป็นกรณี ความคืบหน้าเขาพระวิหาร ที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยจะเสียดินแดน 4.6 ตร.กม.ให้แก่กัมพูชา

นายชัชวาลย์ เปิดเวทีพูดคุยข่าวถึงกรณีการแต่งตั้ง ผบ.ตร.ว่า เรื่องนี้มีความขัดแย้งกันหลายฝ่าย โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่สามารถใช้อำนาจตัดสินเรื่องนี้ได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ เพราะถูกคนใกล้ชิดอย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี คอยขัดขาตลอด ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวว่า ผู้ใหญ่คนหนึ่งมีคำสั่งจากประเทศเยอรมันให้เลือก พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย เป็นผบ.ตร.คนใหม่ โดยขัดกับรายชื่อที่ นายกรัฐมนตรี เลือกไว้ คือ ต้องการให้ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ขึ้นเป็นผบ.ตร.คนใหม่ ดังนั้น เรื่องนี้ตนอยากเตือนนายอภิสิทธิ์ เนื่องจากเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นในอดีต คือ มีการแอบอ้างความต้องการของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง แล้วเหมือนสั่งการให้นายกรัฐมนตรี มอบหมายตำแหน่งสำคัญในประเทศให้แก่บุคคลที่ผู้หลักผู้ใหญ่ให้ความไว้วางใจ แต่ในที่สุดเรื่องมาแดงตอนที่นายกรัฐมนตรีคนดังกล่าวได้ไปพบกับผู้หลักผู้ใหญ่คนดังกล่าว และได้มีการพูดคุยกัน ปรากฏว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ไม่เคยฝากฝังหรือแนะนำชื่อของบุคคลใด แต่ถูกคนใกล้ชิดแอบอ้าง นั่นก่อให้เกิดความเสียหายในเวลาต่อมา ทั้งนี้ กรณีการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ หากนายอภิสิทธิ์ได้รับการแจ้งว่าผู้หลักผู้ใหญ่ต้องการเสนอชื่อบุคคลใด ให้ต่อสายตรงโทร.ไปถามให้รู้เรื่องว่าจริงหรือไม่

นายชัชวาลย์กล่าวต่อว่า แต่เรื่องที่ตนแปลกใจมากที่สุด คือ ทำไมนายนิพนธ์กับนายสุเทพ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ นายอภิสิทธิ์ ถึงชอบทำสิ่งที่ถือเป็นการหักหน้านายกรัฐมนตรีมาตลอด ทั้งเรื่องการไปล็อบบี้คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่มีการไม่ไว้หน้านายกรัฐมนตรี ล่าสุดจะมีการประชุม ก.ต.ช.อีกครั้งในวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ต้องถูกเลื่อนออกไปด้วยสาเหตุที่คลุมเครือ โดยนายอภิสิทธิ์ได้ออกมาระบุและยืนยันว่า กรณีการเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ จะจบลงภายในอาทิตย์หน้า ก็ต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไปว่าจะมีบทสรุปเช่นใด

นายประพันธ์กล่าวในกรณีนี้ว่า ตนไม่เข้าใจว่าการเลือก ผบ.ตร. ไปเกี่ยวข้องอะไรกับการยุบสภา เพราะตอนนี้เริ่มมีเค้าลาง หลังจากที่ผ่านมาเกิดข่าวลือความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล คือ พรรคภูมิใจไทย อีกทั้งยังมีความเห็นไม่ลงรอยกันของคนในรัฐบาลกับนายกรัฐมนตรี แต่ปัญหาทั้งหมดนี้ เกิดจากการที่ นายอภิสิทธิ์ ไม่มีความเข้มแข็งในการใช้อำนาจ โดยก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีมีท่าทีขึงขัง สั่ง พล.ต.อ.พัชรวาท ห้ามมายุ่งเกี่ยวกับโผตำรวจ มีการส่ง พล.ต.อ.พัชรวาท ไปปฏิบัติราชการที่ต่างประเทศ แต่ไม่ทันไร พล.ต.อ.พัชรวาท ก็บินกลับมาก่อนกำหนด เสมือนคำสั่งนายกรัฐมนตรีไม่มีความหมาย และกลับมาบัญชาการโผตำรวจด้วยตนเอง โดยมีนายสุเทพ คนใกล้ตัวของนายอภิสิทธิ์ รู้เห็นเป็นใจ คอยปกป้องตลอด

ต่อจากนั้นได้มีการหยิบยกกรณีที่ได้รับความสนใจอย่างประเด็น รีสอร์ตหรู ซึ่งมีชื่อของลูกสาว พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เป็นเจ้าของ ซึ่งนายประพันธ์กล่าวว่า ตำแหน่ง ผบ.ตร. ใครๆก็อยากเป็น เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญของประเทศ ที่กุมอำนาจและผลประโยชน์หลายอย่าง แต่กรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ เพราะมีแนวโน้มว่าพบพิรุธเรื่องการซื้อที่ดินอย่างไม่ชอบธรรม และดูเหมือนว่าเงินมูลค่ามหาศาลที่ถูกทุ่มซื้อที่ดินและสร้างรีสอร์ต มีที่มาที่ไปไม่ชอบมาพากล

นายประพันธ์กล่าวต่อว่า รีสอร์ตหรูบนที่ดินแปลงงามของลูกสาว พล.ต.อ.พัชรวาท ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว ทั้งๆ ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการที่รีสอร์ตแห่งนี้ได้ ต้องอยู่ในระดับนายตำรวจชั้นผู้กำกับขึ้นไป และต้องทำสัญญาเช่าพักปีละ 3 แสนบาท

นายชัชวาลย์กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ที่น่าตกใจและอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้น คือ รีสอร์ตแห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก เพราะนอกจากจะเปิดให้นายตำรวจยศสูงเข้าพักเท่านั้นแล้ว ยังมีความพิเศษอยู่ที่ นายตำรวจที่มีรายชื่อเข้าพักจะได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งในเวลาต่อมา

นายประพันธ์กล่าวว่า เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ตนขอเล่าถึงอดีตผู้บัญชาการภาค 4 ในจังหวัดขอนแก่น คนหนึ่ง ที่เป็นที่ร่ำลือว่า หากใครอยากเลื่อนขั้น มีตำแหน่งสูงๆ ต้องไปเช่าพระสมเด็จฯ จากอดีตผู้บัญชาการภาค 4 คนนี้ ซึ่งในความจริง พระสมเด็จฯ ต่อองค์จะเช่าอยู่ที่ราคาประมาณ 30 ล้านบาท แต่ราคาเช่าพระสมเด็จฯ ของผู้ใหญ่คนนี้ อยู่ที่ 5-10 ล้านบาท และหลังจากที่เช่าและแขวนพระองค์นี้ จะทำให้ผู้ที่อยากเลื่อนขั้น สมหวังในหน้าที่การงานทุกคน

น.ส.อัญชะลี กล่าวถึงกรณีการเช่ารีสอร์ตหรูว่า สำหรับตนคิดว่าค่าเช่ารีสอร์ตหรูต่อหลังในราคาปีละ 3 แสนบาท ถือว่าถูกมาก แต่เท่าที่ทราบนอกจากต้องเสียค่าเช่าแล้วยังต้องมีค่าใช้จ่ายในการเปิดเมมเบอร์ (สมัครสมาชิก) อีก ซึ่งสมมติว่าหากนายตำรวจคนใดอยากเลื่อนขั้นด้วยวิธีทางลัด จากระดับผู้กำกับ ต้องการขึ้นไปเป็นรองผู้การฯ ต้องใช้เงินอย่างน้อย 15 ล้านบาท ในการเสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหากนำเงินมาเช่ารีสอร์ตหรูก็ถือว่าจุดมุ่งหมายเหมือนกัน แต่วิธีการเดินหรือการดำเนินการง่ายกว่ากันเยอะ

จากนั้นได้มีการร่วมพูดคุยถึงกรณีการเสียดินแดน 4.6 ตร.กม.รอบเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา โดย 3 พิธีกรรายการ ได้ต่อสายตรงสอบถามความจริงและจุดยืนของทาง นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ที่คัดค้านกรณีนี้มาโดยตลอด

นายประพันธ์ป้อนคำถามต่อนายคำนูณ ว่า เมื่อวานนี้ มีการนำบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เข้าสู่ที่ประชุมสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทาง ส.ว.ที่เคยคัดค้านกรณีดังกล่าว มีความคิดเห็นว่าอย่างไร นายคำนูณกล่าวว่า เมื่อวานการประชุมสภาถือเป็นการประชุมลับ โดยวาระที่เป็นปัญหา คือ การรับรองบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เพื่อขอความเห็นชอบ โดยเรื่องนี้ ทาง ส.ว. ที่คัดค้านต้องการให้เลื่อนการพิจารณาออกไปก่อน เนื่องจากต้องการเสนอหาทางออก คือ ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมของรัฐสภา ตรวจสอบข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจังและครบทุกด้าน โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะประกอบไปด้วย ส.ส.และส.ว.ประมาณ 30-36 คน และมีการตั้งกรอบเวลาพิจารณา 90 วัน เมื่อครบกำหนดดังกล่าว ก็จะขอต่อเวลาไปอีก 90 วัน เพื่อยื้อเวลาให้ครบถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2553 ที่จะเป็นเวลาที่ไทยและกัมพูชาต้องเซ็นลงนามข้อตกลงดังกล่าว

“ก่อนหน้านี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงรายละเอียดเรื่องนี้มาเป็นระยะๆ รวมทั้ง นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญ ส.ว.บางท่านไปทำความเข้าใจและชี้แจงเรื่องดังกล่าว แต่เพื่อความชัดเจนและได้เห็นข้อมูลรอบด้าน ทาง ส.ว.ต้องการแสดงท่าทีต่อรัฐบาลว่า อย่าเพิ่งมีการลงมติเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เพราะมีหลายประเด็นยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัด เนื่องจาก หากสภาให้กรณีดังกล่าวผ่านความเห็นชอบไป ก็จะทำให้ข้อตกลงต่างๆ มีความสมบูรณ์ในทางกฏหมาย และอาจนำไปสู่การเสียดินแดนรวมทั้งผลประโยชน์ของประเทศ”

นายประพันธ์ถามต่อว่า การยื้อเวลาของ ส.ว.จะมีประโยชน์หรือไม่ เพราะขณะนี้ทหารกัมพูชาได้ไปตั้งค่ายทหาร สร้างชุมชน สร้างวัดในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ของไทยแล้ว นายคำนูณ กล่าวว่า เท่าที่กระทรวงการต่างประเทศชี้แจง พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นของไทย ตนก็ได้ถามกับทางกระทรวงการต่างประเทศว่า เหตุใดถึงปล่อยให้กัมพูชาเข้าไปยึดพื้นที่ ทางกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงตอบกลับมาว่า ในทางกฏหมายระหว่างประเทศ การยึดพื้นที่ดังกล่าว ถือว่าไทยไม่ยอมรับ ก็ไม่มีผลใดๆ ในทางกฏหมาย ส่วนที่มีหลายฝ่ายออกมาท้วงติงว่าทำไมไม่ใช้กำลังทหารขับไล่กัมพูชาออกนอกพื้นที่ของไทย ทางกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า เรื่องนี้ต้องเป็นการตัดสินใจของรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศว่าจะมีนโยบายอย่างไร

นายประพันธ์ถามต่อว่า ในเมื่อยืนยันว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็นสิทธิของไทย ทำไมไม่นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการระดับสากล ให้ช่วยตัดสินเรื่องนี้ นายคำนูณ กล่าวว่า เรื่องนี้จากการเปิดเผยของกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่ามีการเจรจาเรื่องอนาธิปไตยเขตแดนกันอยู่ ดังนั้น ต้องเป็นเรื่องของรัฐบาล ต้องจัดการและตัดสินเรื่องนี้ว่าจะมีนโยบายดำเนินการอย่างไร โดยในความเป็นจริงมีแค่ 2 วิธีเท่านั้นที่เป็นทางออกของเรื่องนี้ คือ 1.ใช้วิธีทางการทูต และ2.ใช้วิธีทางการทหาร ซึ่งอยู่ที่ว่ารัฐบาลไทยจะใช้วิธีใดก่อนหรือหลัง หรือจะใช้ทั้ง 2 วิธีพร้อมกันก็ได้

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ส่วนตัวตนคัดค้านเรื่องนี้มาตลอด แต่เสียงในสภาต้องยอมรับว่ามีน้อยกว่า ถึงพรุ่งนี้ (2 ก.ย.) ที่จะมีการพิจารณาขอความเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) และมีแนวโน้มว่า เสียงคัดค้านจากบรรดา ส.ว.จะเพิ่มมากขึ้น แต่ก็คิดว่าเสียงดังกล่าวคงไม่สามารถต้านเสียงฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้ เพราะทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องตรงกันเรื่องนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น