รมว.ต่างประเทศ ยันยังรักชาติหวงแหนแผ่นดินเหมือนเดิม ระบุฝรั่งเศสได้สัมปทานในพื้นที่ทับซ้อน เป็นการซื้อสิทธิในอนาคต ยังเข้าทำประโยชน์ไม่ได้หากไทย-เขมรยังเจรจาเขตทับซ้อนไม่ได้ พร้อมดันอาเซียนชำระบทเรียน ผูกใจเจ็บกับประวัติศาสตร์ ระบุเป็น รมว.ต่างประเทศ ทำคดี “นช.แม้ว” คืบ หลายประเทศไม่ให้เข้าประเทศ เผยขณะนี้ดูไบสั่งห้ามยุ่งการเมืองแล้ว
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ "คนในข่าว"
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 11 สิงหาคม 2552 โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจากนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาร่วมพูดถึงความคืบหน้ากรณีเขาพระวิหาร
นายกษิตกล่าวถึงความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชา ในเรื่องเขตุแดน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีความเห็นตรงกันว่า อยากแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยแนวทางสันติวิธี โดยใช้การเจรจาเป็นที่ตั้ง โดยปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางบก จากการประชุมครั้งล่าสุด ขณะนี้อยู่ในช่วงนำเสนอต่อสภา เพื่อหารือเกี่ยวกับการบริหารแนวชายแดน ตั้งแต่เรื่องการวางกำลังกองทัพ หลักเขตแดน แต่ติดอยู่ที่ประเทศกัมพูชา อยากจะให้ใช้คำว่า "พระวิเฮีย" แทนที่จะเป็นคำว่า "พระวิหาร" ขณะที่ประเทศไทยเสนอว่าน่าจะใช้ พระวิเฮียและพระวิหาร ควบกันไป ต่อมากัมพูชาก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นให้ใช้คำว่า "พระวิเฮีย (พระวิหาร)" ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังตกลงกันไม่ได้ อย่างไรก็ตามหากตกลงกันไม่ได้ ไทยอาจจะนำเรื่องนี้เสนอต่อรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาลงความเห็นว่า จะยืนยันให้ใช้ทั้งสองคำควบคู่กันไป หรือจะยุติปัญหาด้วยการหาคำอื่นมาใช้แทน
นายกษิตกล่าวต่อว่า ที่ประเทศกัมพูชาให้ต่างชาติเข้ามาทำการสัมปทานในพื้นที่ทับซ้อน เป็นกรณีต่างฝ่ายต่างให้สิทธิในการสำรวจในอนาคต เป็นธรรมเนียมที่ปฎิบัติกันมากว่า 20 ปีแล้ว และประเทศไทยเองก็ยังให้สัมปทานไปแล้วหลายสิบบริษัท ส่วนข่าวที่ว่าบริษัท ฝรั่งเศสมาซื้อสิทธิสัมปทาน เป็นเพราะบริษัทเดิมอย่างออสเตรเลียไม่ต่อสัญญา สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา ก็เลยไปหาคนมาทำสัญญาใหม่ แต่ยังอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนเดิม อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ตนก็ได้พูดกับ นายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาว่า ในเมื่อเรากำลังเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ไม่ควรทำอะไรขึ้นใหม่ เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ถึงแม้จะยังไม่สามารถเข้าดำเนินการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ได้ เพราะประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ยังไม่สามารถตกลงกันในเรื่องอาณาเขตทับซ้อนได้ ก็ตามที
“ท่าทีของกัมพูชาไม่ถือเป็นการแข็งกร้าว เพราะรัฐบาลชุดที่แล้วเข้าลงนามร่วมไทย-กัมพูชา แต่มีการคัดค้านจากสังคมไทย ทำให้ข้อตกลงที่ทำไว้ไม่สามารถดำเนินตามข้อตกลงได้ ทางกัมพูชาจึงต้องบี้ให้ไทยทำตามสัญญา อย่างไรก็ตามแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวขณะนี้ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว เพราะนายเตช บุนนาค ได้เขียนหนังสือไปถึงรัฐบาลกัมพูชาและยูเนสโก ซึ่งทางกัมพูชาเองก็ตอบรับมาว่าแถลงการณ์ดังกล่าวไม่สามารถใช้บังคับได้ และช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาก็ไม่เคยนำประเด็นเรื่องแถลงการณ์ร่วมมาพูดเลย” นายกษิต กล่าว
นายกษิตกล่าวยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีเจตนาเข้าจดทะเบียนเขาวิหารร่วมกับกัมพูชา โดยล่าสุดที่มีคณะผู้แทนไทยไปร่วมประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ที่ประเทศสเปน นำโดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการมรดกโลก จุดประสงค์ที่ไปไม่ได้ไปประท้วงกัมพูชาแต่ไปประท้วงการกระทำของยูเนสโก ที่ไม่ควรรับใบที่กัมพูชายื่นขอให้ขึ้นทะเบียนเขาวิหารเป็นมรดกโลกตั้งแต่แรก และไม่พอใจที่ยูเนสโกแอบส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาในเขาพระวิหาร ซึ่งอาจรุกล้ำเข้ามาในดินแดนของไทย
“ต้องมีความเชื่อมั่นก่อนว่าทหารไทย ไม่ว่าจะเป็นทหารบก ทหารเรือ รักษาอธิปไตยของเราอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราคนไทยจะต้องไม่มีข้อสงสัยว่าทหารยังทำหน้าที่อยู่หรือป่าว ซึ่งต้องมีความเชื่อว่าทหารก็รักชาติ หวงแหนอธิปไตย ย่อมต้องทำอย่างเต็มที่ในการรักษาอธิปไตย ดังนั้นเราต้องให้ความเชื่อมั่น ต่อทหารไทย อย่างไม่ต้องมีข้อสงสัยใดๆ” นายกษิตกล่าว
นายกษิตกล่าวถึงประเด็นที่มองว่า ประเทศกัมพูชาพยายามเอาประเทศมหาอำนาจเข้ามาหนุนหลังแล้วบีบประเทศไทย ตรงนี้ตนคิดว่า 1.ด้วยเหตุที่เราเป็นประเทศใหญ่กว่า ก็เป็นธรรมดาที่ประเทศเล็กจะคิดว่าถูกเอาเปรียบ 2.ให้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ ที่มีการสอนในบทเรียน เรื่องความสูญเสียราชอาณาจักรกัมพูชาว่า ชนสยามได้ไปยึดทำลาย เหมือนกับในประวัติศาสตร์ที่ทำให้คนไทยต้องเจ็บใจหลังถูกพม่ามาโจมตี ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันขึ้น ตนก็ได้เสนอในที่ประชุมอาเซียนหลายครั้ง ให้ชำระประวัติศาสตร์ใหม่ เพื่อให้หนังสือเรียนว่าด้วยวิชาประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศให้มีเนื้อหาอยู่บนข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้อยู่บนหลักแห่งความรู้สึกความเป็นชาตินิยม
นายกษิตกล่าวต่อว่า หลายคนบอกก่อนกับหลัง ที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีท่าที่ต่อกรณีปราสาทเขาพระวิหารอ่อนลงนั้น ก่อนอื่นต้องมาดูว่าขณะที่อยู่บนเวทีพันธมิตรฯ ที่ผ่านมาตนได้ต่อต้านการบริหารงานที่ไม่ถูกต้องของระบอบทักษิณ ที่เข้าไปแสดงท่าทียินยอมให้เขมรนำปราสาทเขาพระวิหารไปจดทะเบียนเป็นมรดกโลกแต่เพียงผู้เดียวได้ ซึ่งต่อมาเมื่อสัญญาร่วมไม่มีผลบังคับใช้แล้ว และตนเข้ามาเป็น รมต.ต่างประเทศ ก็ยังยึดเจตนารมณ์เดิม คือ รักษาอธิปไตย ที่โปร่งใสและชี้แจงได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาเป็นรัฐบาลแล้วหนีไม่พ้นที่ต้องมีการต่อรอง เพราะการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรอง ซึ่งการเจรจาก็เป็นเรื่องปกติย่อมมีได้มีเสีย อาจจะได้พื้นที่มากกว่าหรือน้อยกว่ากัมพูชาก็เป็นได้ แต่ทุกอย่างต้องนำมาบอกประชาชนในประเทศทราบว่า ได้เท่านี้เสียเท่านี้ประชาชนจะยอมรับหรือไม่ ยอมรับว่าเราอยากได้แก๊สแต่จะไม่ให้กัมพูชาเลย ตรงนี้มันก็ไม่ทำได้เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตุพื้นที่ทับซ้อน
“เราทำงานกันเป็นทีมตลอดเวลาทุกเรื่อง มีการปรึกษาหารือกันอยู่ บางสิ่งบางอย่างมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้อาวุธอะไร อย่างเช่นอาวุธชื่อ สุเทพ อาจจะเหมาะกับคู่ต่อสู้ชื่อ ซก อาน ซึ่งเรื่องไหนที่ตนทำได้ดีกว่าก็จะไปทำในเรื่องนั้น เพราะช่วงนี้งานมีเยอะมากจึงต้องช่วยกันทำคนละไม้ละมือ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ขอให้ประชาชนสบายใจ อย่างไรก็ตาม ตนก็ได้พูดคุยกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี แทบจะทุกอาทิตย์ในเรื่องความสัมพันธ์กับกัมพูชา” นายกษิต กล่าว
นายกษิตกล่าวถึงผลงานความคืบหน้าในการติดตามจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ มาลงโทษ หลังจากทำหน้าที่ รมต.ต่างประเทศ ว่าได้มีการประสานงาน 1.ทางด้านการทูต ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุดและตำรวจ 2.ผ่านตำรวจสากลของโลกที่มีตำรวจไทยเป็นสมาชิกอยู่ ได้ผลในระดับหนึ่ง คือ รัฐบาลอังกฤษไม่ต่อวีซ่าให้ ถูกขับออกจากเยอรมัน เข้าญี่ปุ่นไม่ได้ ตรงนี้เป็นคำตอบได้ในตัวเอง ตอนนี้ก็จะเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้แต่อยู่ที่ดูไบเป็นส่วนใหญ่ แต่เราก็ได้บอกกับรัฐบาลยูเออีถึงสถานะของนักโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะประเทศดูไบเป็นหนึ่งในรัฐยูเออี ล่าสุดก็ทราบมาว่าประเทศดูไบได้ออกมาเตือนไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำกิจกรรมทางการเมือง และในบางประเทศก็เรียกร้องให้มีการตกลงในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งเราก็ได้ตกลงไปแล้วในหลายประเทศ
นายกษิตกล่าวทิ้งท้ายถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านว่า ต้องเริ่มจากฝ่ายไทย อย่างเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มีแรงงานพม่า เขมร ลาว เข้ามา ไม่อยากให้คิดว่าเขาเข้ามาแย่งงานคนไทย อยากให้คิดว่าเขาเข้ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทย เพราะงานที่เขาทำเป็นงานที่คนไทยไม่ทำ และเราเป็นประเทศที่ใหญ่กว่ามั่งมีกว่า ต้องอยู่ในฐานะผู้ให้ การเข้าไปช่วยเหลือแล้วประเทศเขาเจริญขึ้น จะส่งผลให้ไม่มีแรงงานเถื่อนเข้ามาประเทศไทย ไม่มีของหนีภาษี และไม่มีอาชญากรรม