xs
xsm
sm
md
lg

40ส.ว.เผย6เหตุผลค้านแก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา วานนี้ (1 ต.ค.)มีการประชุมวิป 3 ฝ่ายเพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นาย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลแถลงภายหลังการประชุมว่า จากการหารือได้ข้อยุติดังนี้ 1.วิป 3 ฝ่ายยังยืนยันที่จะดำเนินการตาม 6 ประเด็น ที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เสนอ สำหรับกระบวนการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวิป 3 ฝ่ายจะหารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ขอให้มอบหมายให้สำนักกฎหมายของ 2 สภาดำเนินการยกร่างตามกรอบ 6 ประเด็น แต่แบ่งออกเป็น 2 แนวทางคือ 1 ยกร่าง 6 ฉบับ ฉบับละประเด็น 2.ยกร่างเป็นฉบับเดียว 6 ประเด็น แต่ให้เขียนหลักการและเหตุผลในแต่ละประเด็นเอาไว้ให้กว้างเพื่อเสนอต่อที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการลงชื่อ เสนอเป็นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ทั้งนี้ให้มีคณะกรรมการชุดเดียวยกร่างทั้ง 6 ประเด็น
สำหรับกระบวนการ มีส่วนร่วมของประชาชนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งได้ประสานไปยังนายกฯแล้วจึงได้นัดหารือในวันที่ 2 ต.ค.เวลา 09.00 น.ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถือว่าบทบาทของคณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นอันยุติไป ไม่ตั้งหรือต่ออายุเพื่อยกร่างอีก นายชินวรณ์ กล่าวว่าคงต้องไปหารือกับนายชัย เพื่อให้สำนักงานกฎหมายของทั้ง 2 สภา รวมไปถึงเงื่อนไขเวลาที่จะดำเนินการด้วย ยืนยันว่า เรายึดหลักการแก้ไขใน 6 ประเด็นที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า
สำหรับการทำประชามตินั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า จะคุยกับนายกฯในวันพรุ่งนี้ เมื่อถามว่า มีการพูดคุยถึงเงื่อนไขการยุบสภาหลังแก้รัฐธรรมนูญเสร็จหรือไม่ นายชินวรณ์ กล่าวว่ายังไม่คุยกัน ขณะที่นาย วิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวเสริมว่าอยู่ที่นายกฯ พรุ่งนี้คงมีการพูดคุยกัน

เผยวิปรัฐบาล-ฝ่ายค้านเห็นต่าง
นายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม เลขานุการวิปวุฒิ ตัวแทนวิปวุฒิ กล่าวว่า ในส่วนวิปวุฒิ ได้แจ้งว่า ส.ว.ที่เป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ หลายคน จะไม่ร่วมเป็นผู้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้ที่ประชุมเห็นว่า ควรให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ตั้งฝ่ายกฎหมายของทั้งสองสภาเป็นผู้ยกร่างแทน โดยจะไม่มี ส.ส. ,ส.ว. เข้าไปร่วมยกร่าง
ทั้งนี้ การร่างฯ ที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ยังไม่ได้ข้อยุติว่า จะยกร่างเป็นร่างเดียว 6 ประเด็น หรือ แยกเป็น 6 ร่าง ร่างละ 1 ประเด็น โดยฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ยังยืนยันในจุดยืนของฝ่ายตนเองอยู่ และยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ โดยฝ่ายรัฐบาลเห็นว่า หากยกร่างเป็นร่างเดียว 6 ประเด็น การเขียนหลักการจะยาก และถ้าบางประเด็น เมื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมแล้วประชาชนไม่เห็นด้วย ก็จะตกไปทั้งฉบับ แต่ถ้าเขียนแยก ร่างละ 1 ประเด็น การเขียนหลักการของกฎหมายก็จะไม่ยาก และถ้าเข้ากระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนแล้ว ประชาชนไม่เห็นด้วยประเด็นใด ประเด็นนั้นก็จะตกไปเฉพาะตัว
ส่วนฝ่ายค้าน มองว่า ไม่น่าจะยาก เพราะเขียนร่างเดียว 6 ประเด็น ก็ให้เขียนหลักการของกฎหมายเอาไว้กว้างๆ ตรงนี้จึงยังไม่ได้ข้อยุติ จึงคิดว่า ให้ฝ่ายกฎหมายของทั้งสองสภา ร่วมกันร่างมา 2 แบบ ทั้งแบบร่างเดียว 6 ประเด็น และแบบร่างละประเด็น 6 ร่าง เพื่อเอามาดูกันอีกครั้งในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ซึ่งหากวิป 3 ฝ่ายเห็นด้วยกับแบบใด ก็เอาอันนั้น และส.ส. , ส.ว. จะได้มาร่วมกันลงชื่อเสนอญัตติ ซึ่งเวลา 14.30 น. ของวันเดียวกันนี้ วิป 3 ฝ่าย จะไปแจ้งผลต่อนาย ชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้หารือกับประธานวุฒิสภา และตั้งฝ่ายกฎหมายของทั้งสองสภามาร่วมยกร่าง

ถกนายกฯเรื่องทำประชามติ
ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อยกร่างมา 2 แบบแล้ว ก็อาจไม่ได้ข้อยุติอีก เพราะมาถึงจุดที่ต่างฝ่ายต่างประกาศจุดยืนของตนเองชัด นายวิทยา กล่าวว่า ก็อาจจะยังไม่จบ แต่อย่างน้อย เมื่อให้ฝ่ายกฎหมายทั้งสองสภาไปร่วมยกร่าง ก็จะเห็นว่า แบบใดน่าจะเป็นไปได้มากกว่ากัน และก็คงต้องมาคุยกันอีกครั้ง เ
ส่วนที่จะหารือกับนายกฯวันที่ 2 ตุลาคม จะให้นายกฯร่วมตัดสินใจในเรื่องนี้ ด้วยหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า ไม่ เพราะเรื่องการยกร่างเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนที่จะหารือกับนายกฯ เป็นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะนายกฯ ต้องการให้มีประชามติ ซึ่งการจะให้มีได้เป็นอำนาจ ครม. นายกฯจะเห็นว่า ควรเป็นอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามนั้น แต่วิป 3 ฝ่ายก็มีสิทธิ์ไปเสนอความเห็น ซึ่งบางฝ่ายในวิปก็อาจไม่เห็นด้วยก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไปหารือกับนายกฯให้ชัดเจนหรือไม่ว่า ถ้านายกฯ ต้องการประชามติ ฝ่ายค้านยอมได้แต่ก็ต้องสัญญาให้ชัดว่า แก้แล้วต้องยุบสภา นายวิทยา กล่าวว่า ฝ่ายค้านก็บอกว่า แก้เสร็จแล้วก็ต้อยุบสภา ส่วนนายกฯ ก็เคยพูดก่อนหน้านี้ว่า แก้แล้วก็ยุบสภา ก็คงไม่มีปัญหากับเรื่องนี้

กลุ่ม40ส.ว.ค้านแก้รัฐธรรมนูญ
วันเดียวกันกลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ส.สรรหา พร้อมแกนนำรวม 12 คนได้หารือถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชุมมีมติ 6 ข้อคือ 1.กลุ่ม 40 ส.ว.ไม่เห็นด้วยในการรีบเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกประเด็น เพราะไม่ใช่หนทางสู่ความสมานฉันท์ 2.รัฐธรรมนูญนี้ ใช้มา 2 ปี ไม่สร้างปัญหาให้ประชาชน แต่สร้างปัญหากับนักการเมือง ฉะนั้นควรรอให้บังคับใช้ครบ 5 ปี ก่อนถึงจะพิจารณาแก้ไข 3.ทั้ง 6 ประเด็น ยกเว้นมาตรา 190 เป็นเรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสีย ของนักการเมืองและพรรคการเมืองทั้งสิ้น จึงไม่ควรให้คนพวกนี้มาแก้กันเอง เสมือนผู้รับเหมาแก้สเป็ค ส่วนมาตรา 190 ก็ไม่ต้องเร่งแก้ไข เพราะที่มีปัญหาเนื่องจาก ข้าราชการและนักการเมือง ไม่ใช้วิจารณญาณในการจะส่งสัญญาระหว่างประเทศฉบับไหนเข้ารัฐสภาเอง แต่กลับใช้มาตรานี้ เป็นใบเบิกทาง สร้างภาพว่า รัฐธรรมนูญ เป็นอุปสรรคในการบริหาร ทั้งที่จริงๆแล้ว รัฐสภาสร้างกลไกรองรับมาตราดังกล่าวได้
4.รัฐธรรมนูญ 50 เป็นครั้งแรกที่ มีประชาชนเสียสละ มี 10 คนที่เสียชีวิตเพื่อปกป้อง ส่วนอีก 7 คนเสียอวัยวะ อีก 3 คน อยู่ขั้นโคม่า ฉะนั้นผู้คิดแก้ต้องเคารพและคำนึงถึง ซึ่งรัฐธรรมนูญนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้น 5.กลุ่ม 40 ส.ว. จะไม่ร่วมลงชื่อเสนอร่างทุกประเด็น และจะไม่โหวตให้ในวาระ 1 และ 3 ส่วนวาระ 2 ชั้นกรรมาธิการ ก็จะเข้าไปคัดค้าน และจะไปร่วมกับภาคประชาชนคัดค้านการแก้ไขด้วย
6.นายกฯควรกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ อย่าโยนสภาหรือวิป 3 ฝ่ายตัดสินใจ ถ้านายกฯเห็นควรให้ประชามติ ก็ตัดสินใจให้ทำประชามติได้เลย ต้องกล้า ทำเหมือนกรณีการแต่งตั้งผบ.ตร. หากผลประชามติออกมา ประชาชนเห็นด้วย รัฐบาลก็ดำเนินการ และกลุ่มจะไม่คัดค้าน แต่การประชามตินั้น ต้องเป็นไปตามขั้นตอนคือ เปิดให้ทุกฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้าน เสนอความเห็นสู่สาธารณะ และการออกเสียงต้องบริสุทธิ์ แต่ถ้าแค่ทำประชาพิจารณา กลุ่ม 40 ส.ว. ก็จะยังไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ตอนนี้ประชาชนจับตาอยู่ นายกฯถ้ากล้าตัดสินใจประชามติ ประชาชนจะเข้าใจและสนับสนุน
ผู้สื่อข่าวถามว่าผลของวิป 3 ฝ่าย ไม่น่าจะแก้ความขัดแย้งได้อย่างเป็นรูปธรรม นายคำนูณ กล่าวว่า พวกตนไม่ก้าวล่วงมติของวิป 3 ฝ่าย ตอนนี้ที่นายกฯโยนสภาให้ทำ หาฉันทามติไม่ได้ เพราะวิปแต่ละฝ่ายก็เห็นกันคนละอย่าง แค่ในส.ว. ก็เห็นต่างกันแล้ว เมื่อถามต่อว่า ประเมินว่า หากมีร่างเข้าสภาจริง กลุ่ม 40 ส.ว.จะมีจำนวนโหวตคัดค้านเท่าใด นายคำนูณ กล่าวว่า ยังประเมินไม่ได้ ต้องเห็นร่างที่มีการเสนอเข้ามาก่อน แต่ที่มีมติออกมาวันนี้ มี 27 คน แต่ก็ยังมีคนอื่นๆอีก การหารือปัญหาบ้านเมืองแต่ละเดือนของกลุ่ม ก็มีมาคุยกัน บางครั้งก็ 60 หรือ 50 คน บางครั้งก็ว่างตรงกัน 30 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นาย ประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ยังนำบทความคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญแจกจ่ายสื่อ โดยในเอกสาร มีตารางเปรียบเทียบว่า การแก้ทั้ง 6 ประเด็น มีแต่ฝ่ายการเมืองได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น

มาร์คย้ำแก้รธน.ควรให้ปชช.มีส่วนร่วม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง ความเข้มแข็งของการเมืองภาคพลเมืองกับการเสริมสร้างประชาธิปไตยไทย ในการประชุมสมัชชาพัฒนาการเมือง เพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนาการเมือง ตอนหนึ่งว่า การเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างปัญหาความวิตกกังวลให้กับประชาชน ซึ่งนักวิเคราะห์ทั้งไทยและต่างประเทศมองว่า การเมืองเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหมือนช่วงปลายปี ที่ผ่านมา หากแก้ไขได้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น แต่หากปล่อยให้เหตุการณ์ซ้ำเดิม จะมีน้อยประเทศที่จะเข้าใจและเปิดโอกาสให้ประเทศไทย ซึ่งหากทุกคนหาทางออกจากสภาพปัจจุบันการเมืองไทยก็จะมีวุฒิภาวะสูงขึ้น และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจะมีรากฐานที่แข็งแกร่งมากขึ้นด้วย
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ต้องยึดหลักความคิดเห็นของประชาชน แต่บางครั้งก็จำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในระบบต่าง ๆ แต่ต้องไม่เสียความต้องการพื้นฐานของประชาชน และสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยยืนยันว่าการทำประชามติเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย นักการเมืองจะถือสิทธิเป็นเจ้าของอำนาจและจะใช้กฎหมายโดยไม่ฟังประชาชนไม่ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น