xs
xsm
sm
md
lg

แก้รธน.แค่เกมการเมือง แบ่งข้างต้าน-ฟันธงล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย ออกมาเรียกร้องว่า ต้องฟังเสียงของประชาชน แต่เมื่อหลายฝ่ายได้เสนอทางออก ไม่ว่าจะเป็นการทำประชามติ หรือคณะกรรมการสมานฉันท์ แต่พรรคเพื่อไทย กลับไม่เอาแนวทางประชามติ แถมมีความพยายามเกณฑ์คนเสื้อแดง ออกมาสร้างเงื่อนไข และต่อรอง ก็เท่ากับว่าไม่ฟังเสียงของประชาชน จึงเป็นห่วงเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่เกมการเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องเกี่ยวกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และการลงทุนในประเทศ
"แนวคิดเรื่องการแก้ไขรธน. พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนอย่างชัดเจนคือ ต้องฟังแนวคิดของประชาชน โดยการทำประชามติ ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าทุกฝ่ายเคารพ และรับฟังเสียงของประชาชน เชื่อว่าแนวทางนี้จะเป็นทางออกที่เหมาะสม" นายสาธิต กล่าว
ด้านนพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรธน.ต้องรอการประชุมของวิป 3 ฝ่าย ร่วมกับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ อีกครั้ง ซึ่งจะมีการหยิบยกข้อเสนอมาหารือ ส่วนจะได้ข้อสรุปอย่างไร ต้องรอฟังมติอีกครั้ง
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการประชุมส.ส. และกรรมการบริหารพรรค ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ เพื่อกำหนดจุดยืน และแนวทางของพรรค ยืนยันว่านายกฯไม่เคยประกาศจุดยืนว่า เมื่อแก้ไขรธน.เสร็จแล้วจะยุบสภาทันที เพราะขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า จะมีรูปแบบหรือแนวทางแก้ไขอย่างไร แต่พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า ต้องฟังเสียประชาชน ส่วนจะเสร็จภายใน 6 เดือนหรือไม่ พรรคไม่ยืนยัน แต่เชื่อว่าในระยะเวลา 6 เดือน ประชาชนจะเห็นความคืบหน้า และสถานการณ์คลี่คลายนำไปสู่การแก้ปัญหา
"เราเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูปการเมือง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใด พรรคไม่ขัดข้องหากแก้วิกฤติของบ้านเมือง และนำไปสู่ความสงบสุขได้ แต่ไม่อยากให้พรรคเพื่อไทยหรือกลุ่มคนเสื้อแดง เคลื่อนไหวโดยเอาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองมาเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองทางการเมือง" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว

** หนุนตั้งกก.สมานฉันท์ฯชุดใหม่
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอให้คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูป และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 6 ประเด็น แต่บังเอิญคณะกรรมการชุดนี้ได้หมดวาระไปแล้ว ว่า น่าจะตั้งคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ เพราะภารกิจของชุดเดิมจบลงแล้ว และมีคณะกรรมการหลายคน ที่ไม่อยากทำงานต่อ ถึงแม้ตั้งเขาไปเขาก็อาจลาออกได้ ส่วนที่หลายฝ่ายห่วงว่าจะไม่ต่อเนื่องในเรื่องการทำงานนั้น คิดว่าไม่มีปัญหา
สำหรับกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อยากให้มีการทำประชามติ เพื่อถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นด้วยว่าน่าจะทำประชามติก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกันภายหลัง ทั้งนี้ต้องดูว่าจะเสียค่าใช้จ่ายมากหรือไม่
สำหรับกรณีที่กลุ่ม 40 ส.ว. เสนอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิทธิที่ทำได้ แต่จะนำไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง เพราะในที่สุดเรื่องนี้จะต้องเข้าพิจารณาในการประชุมของรัฐสภาอยู่แล้ว ก็ต้องดูว่าเสียงส่วนใหญ่ เขาเอาด้วยหรือไม่
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ถ้าอยากแก้รธน.ทั้ง 6 ประเด็น ตามข้อสรุปของกก.สมานฉันท์ ควรกลับไปถามประชาชนก่อน ถ้าหากไม่ถามประชาชน จะไม่สามารถเป็นเอกภาพได้ เพราะกก.สมานฉันท์ชุดนี้ มาจากสัดส่วนของนักการเมือง ที่ไปคิดแก้ไขรธน.ใน 6 ประเด็น ซึ่งไม่มีผลต่อประชาชน แม้แต่ประเด็นเดียว
"ผมไม่ด้วยด้วยกับการต่ออายุ กก.สมานฉันท์ฯชุดเดิม เพราะหมดวาระลงแล้ว แต่ถ้าหากจะตั้งใหม่ ควรตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมา โดยมาจากภาคประชาชนหรือคนที่ไม่มีส่วนได้เสียทางการเมือง เพราะผมเห็นว่านักการเมืองที่มาแก้รัฐธรรมนูญให้กับตัวเอง มันเหมือนกับผู้รับเหมามาแก้สเปกให้กับตัวเอง" นายประสารกล่าว

**"เพื่อแม้ว"ไม่เอาส.ส.ร.-ประชามติ
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีวิปรัฐบาล มีท่าทีต่อแนวทางการแก้ไขรธน. โดยให้มี ส.ส.ร.ว่า หลังจากเดินทางกลับจากสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรี ควรแก้ไขปัญหาตามที่มีเสียงสะท้อนของประชาชน ให้แก้ไขรธน.6 ประเด็นโดยไม่ต้องทำประชามติ หรือมี ส.ส.ร. เพื่อลดวิกฤติความขัดแย้ง
"หากนายกฯยังพยายามตั้ง ส.ส.ร. จะถือเป็นการซื้อเวลา พรรคเพื่อไทย ยืนยันการแก้ไขรธน. 6 ประเด็น ตามที่กก.สมานฉันท์ฯเสนอ โดยไม่ต้องมีการทำประชามติ แต่ใช้กลไกของรัฐสภาตามรธน. มาตรา 291 โดยหลังจากแก้ไขแล้ว ควรยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน และตรงนี้ก็จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ความจริงใจของนายกฯ ว่าปากเป็นประชาธิปไตย แต่หัวใจเป็นเผด็จการหรือไม่" นายพร้อมพงศ์ กล่าว

**ชี้แก้รธน.ถูกลากสู่เกมการเมือง
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) กล่าวว่า วิวาทะว่าด้วยการแก้ไขรธน.ขณะนี้กำลังตกอยู่ในหลุมพรางของเกมการเมือง โดยเฉพาะบรรรดาพรรคการเมือง ทำให้กรอบ และสาระที่ถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ไม่ได้อยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง แต่กำลังถูกลากไปเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง สังเกตได้จากการประชุมของวิป 3 ฝ่าย ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่า เป็นเกมการต่อรองทางการเมือง
ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ว่ากระบวนการแก้ไขรธน. จะได้ข้อยุติในรูปแบบใดก็ตาม ก็จะไม่จบ และถูกลากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมือง เช่น ถ้าใช้รูปแบบการลงประชามติ กระบวนการลงประชามติ ก็จะถูกบิดเบือนไปเป็นประเด็นเอา หรือไม่เอารัฐบาล คล้ายๆ กับตอนที่พรรคพลังประชาชน รณรงค์ให้ประชาชนลงมติไม่รับร่างรธน.ฉบับ 2550 โดยอ้างว่า เป็นรธน.ฉบับ คมช. จึงไม่สนใจเนื้อหาของรธน. ว่าก้าวหน้าหรือไม่
ขณะเดียวกันหากตั้ง ส.ส.ร.3 พรรคเพื่อไทย ก็จะไม่รับ และจะเคลื่อนไหวมวลชนต่อต้าน เพราะพรรคเพื่อไทยต้องการรวบรัดตัดตอน รื้อรธน. เพื่อหวังผลนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และบีบให้รัฐบาลยุบสภา ซึ่งลึกๆ แล้วพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ต้องการปฏิรูปการเมือง แต่ต้องการเอาระบอบทักษิณ กลับมาเท่านั้น
แต่หากใช้วิธีแก้โดยสภาฯ ส.ส. ที่เข้าชื่อยื่นญัตติ ก็จะถูกประชาชนเข้าชื่อถอดถอนตามรธน. มาตรา 122 ที่ห้าม ส.ส.-ส.ว. ทำหน้าที่ขัดกันทางผลประโยชน์ ซึ่งยิ่งจะทำให้เรื่องล่าช้าไปอีก เพราะหากศาลรธน. รับวินิจฉัย ก็ต้องใช้เวลา และกระบวนการแก้ไขรธน. ก็ต้องยุติไว้ก่อน เพราะไม่รู้ว่าจะขัดกับรธน.หรือไม่ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา
ดังนั้นบรรดา ส.ส.-ส.ว. ควรล้มเลิกความพยายามแก้ไขรธน.ไว้ก่อน เพราะหากยังดันทุรัง ก็พอคาดการณ์ได้ว่า ความแตกแยกรุนแรงกำลังรออยู่เบื้องหน้า ซึ่งน่าแปลกใจว่า ทำไมนักการเมืองไทยชอบนำพาสังคมไปสู่ความแตกแยก และมักใช้ประชาชนเป็นเหยื่อทางการเมือง ทำไมไม่เลือกหนทางสันติ และสมานฉันท์อย่างแท้จริง ถ้าจะให้ดีควรตั้งคณะกรรมอิสระจากหลายฝ่ายขึ้นมาศึกษา และทบทวนการบังคับใช้รธน.ก่อน ค่อยพิจารณาว่า จะแก้ไข้ปรับปรุงอย่างไร
ถ้า ส.ส.-ส.ว.สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และให้เกียรติประชาชนมากกว่านี้ เชื่อว่าแรงต้านต่อการแก้ไขรธน.จะลดลง และจะทำให้กระบวนการแก้ไขในอนาคต เป็นแนวทางสมาฉันท์มากกว่าแนวทางเผชิญหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น