xs
xsm
sm
md
lg

วิป 3 ฝ่ายตกผลึกร่าง รธน.แก้เพียงหนึ่งเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายลงมติให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ยกร่างแก้ไข รธน. ย้ำร่างแก้ไขต้องต้องเป็นร่างหนึ่งเดียว “ดิเรก” ให้นายกฯ ตัดสินยกร่างแก้ไขเพียงร่างเดียว “เพื่อไทย” ยัน ส.ส.-ส.ว.ยื่นแก้ รธน.เพื่อส่วนรวม

วันนี้ (24 ก.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของวิป 3 ฝ่าย โดยมีนายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล นายวิทยา บุรณะศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ในฐานะตัวแทนวิปวุฒิสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมประชุม

จากนั้น นายชินวรณ์แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เป็นผู้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เป็นผู้เสนอ โดยให้ ส.ส.และส.ว.ร่วมกันเสนอญัตติ ส่วนวิธีการยกร่างฯ ว่าจะเสนอรวมเป็น 1 ร่าง หรือแยกเป็น 6 ร่าง รวมถึงแนวทางของการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นยังไม่มีข้อสรุป ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ตัวแทนของแต่ละฝ่ายไปหารือกันเองแล้วนำมาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 ต.ค. โดยจะพูดถึงกรอบเวลาในการดำเนินการด้วย เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อประชุมร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ส.และส.ว.จะเข้าชื่อในญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญครบทั้ง 311 คนหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ต้องมีการแสวงหาความร่วมมือต่อไป แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือ ส่วนตนจะร่วมลงชื่อหรือไม่ นั้น จะขอดูความชัดเจนก่อน ส่วนกังวลหรือไม่หากมีการรวบรวมรายชื่อ ส.ส.และ ส.ว.เพื่อเสนอญัตติ ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 นายวิทยาชี้แจงว่า การแก้รัฐธรรมนูญเราจะปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายทุกประการ ฝ่ายค้านยืนยันว่า ร่างแก้ไขจะต้องเป็นร่างเดียวเท่านั้น และเชื่อว่าทุกฝ่ายก็จะเห็นด้วย ซึ่งที่ประชุมก็มีเสียงตอบรับที่ดี ส่วนเรื่อง ส.ส.ร.นั้นคงไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญรองรับ รวมทั้งการทำประชามติก็มีแต่จะสิ้นเปลือง

ขณะที่ นายดิเรกกล่าวว่า การที่จะแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์นั้น ในเมื่อทั้ง 3 ฝ่ายเห็นพ้องที่จะแก้ทั้ง 6 ประเด็นก็ควรที่จะยกร่างแก้ไขเป็นร่างเดียว เนื่องจากหากทำเป็น 6 ร่างอาจมี ส.ส.และ ส.ว.ที่ไม่เห็นด้วยซึ่งอาจจะไม่ยกมือโหวตให้จนไม่สามารถแก้ไขปัญหาความสมานฉันท์ได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุป คงต้องรอการประชุมหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีก่อน หากผลออกมาเป็นอย่างไร คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ก็น้อมรับ เชื่อว่า การยกร่างจะใช้เวลาไม่นาน เพราะในคณะกรรมการฯ มีบุคคลที่ศึกษาเรื่องนี้อยู่แล้ว สำหรับการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนทั้งการทำประชามติหรือประชาวิจารณ์นั้นก็ต้องหารือกันอีก ส่วนการไม่เห็นด้วยของกลุ่ม 40 ส.ว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เป็นปัญหา กลุ่ม 40 ส.ว.สามารถแก้ไขในชั้นแปรญัตติได้ แต่หากเขาจะไม่ลงชื่อในร่างแก้ไขก็ไม่เป็นไร ขอแค่ส.ส.และส.ว.ลงชื่อให้ครบตามจำนวนคือ 1 ใน 5 ก็พอแล้ว ส่วนการฟ้องร้องกรณีส.ส.และส.ว.ร่วมลงชื่อว่าอาจจะขัดรัฐธรรมนูญนั้น ขอร้องให้ทุกฝ่ายเลิกทิฐิเพื่อเห็นแก่บ้านเมือง

นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขอฝากไปยัง ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนว่า การที่มีผู้ร้องให้ถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.ในการเข้าชื่อเพื่อยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญว่าอาจะเข้าข่ายเพื่อประโยชน์ของตนเองนั้น คงต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่จากการศึกษารัฐธรรมนูญพบว่าในมาตรา 23 ห้าม ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อแก้กฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ในมาตรา 291 เปิดให้ ส.ส.และ ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ จึงขอบอกไปยัง ส.ส.และ ส.ว.ว่า การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม จึงขอให้ ส.ส.และ ส.ว.เลิกวิตกกังวล
กำลังโหลดความคิดเห็น