ปธ.สมานฉันท์ รุ่มร้อนจี้นายกฯ เปิดเวทีเจรจาสมานฉันท์ โบ้ยสงครามจะยุติได้ต้องเจรจาเท่านั้น ชี้เปิดประชุมรัฐสภาแก้ไข รธน.ไม่เกี่ยวกับ ส.ว.-ส.ส.เข้าชื่อหนุนแก้ รธน. เปิดเกมชน ส.ว.สรรหาหัวหดทยอยถอนชื่อไม่ทันเกมการเมือง
วันนี้ (14 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการที่รัฐสภาจะพิจารณารับทราบผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ว่า การประชุมดังกล่าวเป็นเพียงการรับทราบผลการศึกษาเท่านั้น เป็นการอภิปรายแนวทางของ 6 ประเด็น ซึ่งไม่แน่ใจว่าที่ประชุมรัฐสภาจะแก้ไขทั้ง 6 ประเด็นเลยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม นอกจาก 6 ประเด็นดังกล่าวคณะกรรมการสมานฉันท์ ได้เสนอแนวทางการสร้างสมานฉันท์ โดยรัฐบาลจะต้องเร่งทำเป็นการด่วนเพื่อลดวิวาทะ รัฐบาลจะต้องเป็นผู้เปิดการเจรจากับฝ่ายค้าน แต่ขณะนี้รัฐบาลยังมีท่าทีนิ่งอยู่
“นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารสูงสุด ถ้าอยากเห็นบ้านเมืองมีความสมานฉันท์ต้องเร่งเปิดเจรจา โดยรูปแบบไม่จำเป็นต้องเรียกประชุมใหญ่ แต่รัฐบาลควรแสดงเจตนารมณ์และส่งตัวแทนมาปรึกษาว่าจะสมานฉันท์อย่างไร” นายดิเรกกล่าว
เมื่อถามว่า การเจรจากับฝ่ายค้านจะสำเร็จหรือไม่ เพราะปัญหาใหญ่อยู่ตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายดิเรกตอบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พร้อมที่จะเจรจาอยู่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลควรดำเนินการเจรจาภายในก่อน เพราะสงครามจะยุติได้จะต้องมีการเจรจาเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะไม่มีวันสงบ
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในวันที่ 19 ก.ย.นี้อย่างไร นายดิเรกตอบว่า คงไม่มีปัญหา เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงได้ประกาศแล้วว่า จะไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะเขาสามารถชุมนุมได้ตามรัฐธรรมนูญ
นายดิเรกกล่าวว่า แม้จะมีการประชุมรัฐสภาในวันที่ 16-17 ก.ย.ก็ตาม แต่ถือว่าไม่เกี่ยวกับญัตติการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กลุ่ม ส.ส.และส.ว.เข้าชื่อกันตามมาตรา 291 โดยญัตตินี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพราะเสนอมาถูกช่องทาง แต่ยอมรับว่าการที่มี ส.ว.ทยอยกันถอนชื่อนั้นทำให้ญัตตินี้เสียกระแสบ้าง แต่ตรวจสอบแล้วเสียงของ ส.ส.และ ส.ว.ยังเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีผลกระทบต่อญัตติดังกล่าว และยืนยันว่าผู้เสนอญัตติไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อต้องการแก้ปัญหาที่ต้นตอคือการเมือง ทั้งนี้จากการพูดคุยกับ ส.ว.ที่ทยอยถอนชื่อพบว่า ส่วนใหญ่เป็น ส.ว.สรรหาที่ไม่ทันเกมการเมือง จึงกลัวถูกยื่นถอดถอน และต้องการแก้รัฐธรรมนูญตามกรอบของคณะกรรมการสมานฉันท์