40 ส.ว.เมินวิปวุฒิฯ ตีกรอบ ส.ว.แก้รธน. ระบุชี้นำไม่ได้ แนะรอมาร์คกลับจากสหรัฐฯ ค่อยเดินหน้าทำประชามติก่อนแก้ไข ยืนกราน ส.ส.-ส.ว.ห้ามจุ้นเสนอร่างเอง เตือนเจอ ปชช.ต้านแน่ เชื่อตั้ง กก.อิสระทำงานควบคู่กก.สมานฉันท์ฯ ทำประชามติ-ยกร่างฯ ไม่เกิน 10 เดือนชงเข้ารัฐสภาได้
วันนี้ (21 ก.ย.) ที่รัฐสภา กลุ่ม 40 ส.ว.นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้แถลงจุดยืนต่อแนวคิดของนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า 1.การจะให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันลงชื่อแล้วไปยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวม 6 ฉบับ ตามประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอ และนำเข้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติก่อนแล้วไปทำประชามตินั้นเกรงว่าจะมีปัญหาถูกประชาชนที่ไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหวกับการที่นักการเมืองจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของตนเอง และอาจมีประชาชนยื่นถอดถอนต่อ ป.ป.ช.
2.ในขั้นตอนการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละมาตราทั้ง 6 มาตรา ควรมอบหมายให้คณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นผู้ศึกษายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ เพราะเป็นผู้เสนอประเด็นเอง ย่อมมีความเข้าใจ และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.30 คนอยู่แล้ว น่าจะยกร่างให้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้ โดยการยกร่างแต่ละมาตราต้องระบุให้มีบทเฉพาะกาลในการแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และต้องกำหนดเวลาว่า การยกร่างแก้ไขจะเสร็จภายในกี่วัน
3.สำหรับคณะกรรมการอิสระ ประกอบด้วย นักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาชน เอ็นจีโอ ตัวแทนประชาชนทุกสาขาอาชีพ เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ จะทำให้ประชาชนรับทราบข้อมูลทุกด้าน เพื่อศึกษาตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการทำประชามติ จำกัดเฉพาะใน 6 ประเด็นที่จะแก้ไขควบคู่ไปกับคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ โดยน่าจะใช้เวลาในการทำงาน 8-9 เดือน จากนั้นถ้าผ่านการประชามติก็ให้นำเข้าสภาพิจารณาเลย โดยรวมขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาไม่เกิน 10 เดือน
4.เมื่อประชาชนลงประชามติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นข้อยุติแล้ว ให้ครม.นำเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขต่อไป และหากประชาชนมีมติไม่เห็นด้วยกับฉบับใดก็ตกไป ทั้งนี้การจัดลำดับขั้นตอนตามที่กลุ่ม 40 ส.ว.เสนอ จะช่วยลดความขัดแย้งในสังคมไทย ให้ประชาชนทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมโดยตรงตั้งแต่ขั้นตอนแรกไปจนสุดท้าย จะก่อให้เกิดความสมานฉันท์ตามวัตถุประสงค์ของนายกฯ ส.ส.-ส.ว. และทุกฝ่ายได้
น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี กลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า วิปวุฒิไม่มีอำนาจจะตัดสินใจว่า วุฒิสภาควรจะทำอย่างไร เพราะ ส.ว.เป็นเอกเทศ เกรงว่าจะไม่ใช่การตัดสินใจของ ส.ว.ทั้งหมด ดังนั้น หลังกลับจากสหรัฐอเมริกา นายกฯ ควรพิจารณาแนวทางการทำประชามติก่อนค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญ