xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.-ส.ว.ชงรื้อ27มาตรา คาดถกแก้รธน.16-18ก.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะนำเข้าหารือในที่ประชุมครม.วันนี้ ( 8 ก.ย.) จากนั้นก็ส่งไปที่สภาฯ คงจะเป็นเย็นวันที่ 8 ก.ย. หรือไม่ก็วันที่ 9 ก.ย. ซึ่งตนอยากให้สภาประชุมในวันที่16-18 ก.ย.นี้ ส่วนจะกี่วันก็แล้วแต่ทางประธานสภาจะกำหนด
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ อยากจะแก้มาตราใดบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บางเรื่องไม่มีปัญหา อย่างมาตรา190 เป็นต้น แต่บางเรื่องอยากให้ระมัดระวัง เพราะมีการไปตีความมาตรา 122 เหมือนกัน ว่าประเด็นไหนที่เป็นประโยชน์โดยตรงของ ส.ส.และส.ว. จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร ฉะนั้นเป็นแนวทางที่ต้องไปดูรายละเอียดตรงนั้น ส่วนแนวคิดที่บอกว่าอาจจะต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. สำหรับระยะยาว เราก็ไม่ได้ขัดข้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดยืนของพรรคเรื่องการนิรโทษกรรม ยังเหมือนเดิมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เวลานี้มันไม่มีประเด็น
เมื่อถามว่ามีส.ส.และส.ว.บางส่วนรวมทั้งพันธมิตรฯ ออกมาบอกว่า ถ้ามีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะออกมาชุมนุมคัดค้าน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าการอภิปรายทั่วไป มันไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ต้องชุมนุมคัดค้านอะไร เป็นการรับฟัง ถ้าไม่รับฟังกันก่อน เราก็จะไม่ทราบเหตุและผลของแต่ละฝ่าย ดังนั้นใครที่อาจจะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนก็อยากให้เป็นเรื่องของสภาฯ ที่จะพูดคุย อธิบาย ประชาชนจะได้รับรู้รับทราบ จากนั้นจะตัดสินใจทำอะไร คงจะเปิดให้มีส่วนร่วมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ก็ต้องอธิบายต่อสังคมได้ หากอธิบายไม่ได้ ก็คงแก้ไขไม่ได้

**อาจถึงขั้นทำประชามติ
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อทุกคนในสังคม เพราะฉะนั้นการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบคอบเป็นเรื่องจำเป็น แน่นอนว่ามีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่กระบวนการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ถือว่ามีบทบาทสำคัญต้องรับฟังเสียงกันก่อน สมมติถ้ามีประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันการนำไปสู่การทำประชามติ ก็เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รัฐบาลก็ต้องพร้อมที่จะดำเนินการเช่นเดียวกัน

**วิปให้ถก2วันพร้อมถ่ายทอดสด
นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมวิป ได้มีมติให้มีการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาในการเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เปิดอภิปราย 2 วัน และให้ถ่ายทอดสด ทั้งทางวิทยุและโทรทัศน์ด้วย
ทั้งนี้ หากที่ประชุมครม.วันนี้ เห็นชอบ ขั้นตอนต่อไปก็จะมีการส่งหนังสือเพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป ถึงประธานรัฐสภา เพื่อให้พิจารณาว่าจะบรรจุในระเบียบวาระการประชุมเมื่อใด จากนั้นจะมีการหารือร่วมกันของวิปทั้ง 3 ฝ่าย คือรัฐบาล ฝ่ายค้านและวุฒิสภาต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือกรณีที่พรรคเพื่อแผ่นดิน และส.ว.บางส่วนได้ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น โดยที่ประชุมเห็นว่า เป็นเอกสิทธิของสมาชิก และพรรคประชาธิปัตย์คงไม่ขอให้สมาชิกเหล่านั้นถอนชื่อ แต่อยากบอกว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีจุดยืนตามแนวทางของกรรมการสมานฉันท์ฯ อย่างต่อเนื่อง และคิดว่าการรับฟังความเห็นของสมาชิกจะเป็นเรื่องดี และพรรคร่วมรัฐบาล จะยื่นญัตติในเรื่องนี้ต่อไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการเห็นพ้องต้องกัน
อย่างไรก็ตามในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องยึดหลัก 6 ประเด็นของกรรมการสมานฉันท์ แต่การแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องร่วมมือกัน เพราะไม่เช่นนั้นอาจไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง คือ 311 เสียง

**"เพื่อไทย"ยังย้ำจุดยืนเดิม
นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึง ท่าทีของพรรค ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ในเบื้องต้นจะให้วิปฝ่ายค้านไปประสานหารือพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะล่าสุดที่ นายสมเกียรติ ศรลัมภ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ที่ได้รวบรวมรายชื่อส.ส.และ ส.ว.เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อรัฐสภา รวมถึงจะหารือกับฝ่ายรัฐบาล
"เบื้องต้นในเรื่องนี้ ก็ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี แต่จะต้องไปดูประเด็นที่จะมีการแก้ไข ซึ่งพรรคเพื่อไทย ยังยืนยันจุดยืนเดิม ตามร่างที่เคยเสนอเข้าสู่สภาไปรอนานแล้ว ที่จะให้มีการแก้ไขในประเด็น มาตรา 93-98 การเปลี่ยนเขตเลือกตั้งเขตใหญ่ มาเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรค มาตรา 266 ในการปฎิบัติหน้าที่ของ ส.ส. และมาตรา 190 ว่าการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา รวมถึงต้องนำผลการศึกษาของคณะกรรมารสมานฉันท์ได้สรุปผลศึกษาไว้เข้ามาพิจารณาประกอบด้วย" ปธ.วิปฝ่ายค้านกล่าว

**ชี้แก้รธน.ส่อเพิ่มความขัดแย้ง
วานนี้ (7 ก.ย.) นายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี นายสมเกียรติ ศรลัมภ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อเพื่อแผ่น นายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ส.และส.ว.ประมาณ 10 คน ได้ยื่นร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ....ต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เป็นผู้รับเรื่อง
นายประสพสุข กล่าวว่าจะนำเรียนนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อดำเนินการ ต่อไป แต่คงไม่เอาไปรวมกับรายงานสมานฉันท์ เพราะเป็นคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกัน นี่เป็นการยื่นเรื่องเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ ยังมีเรื่องอื่นอีก ซึ่งเป็นการใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291
เมื่อถามว่ามีบางฝ่ายขู่จะยื่นถอดถอน นายประสพสุข กล่าวว่าคงไม่พิลึกอย่างนั้น คนที่มีอำนาจแก้ ควรจะแก้ ถ้าคิดอย่างนั้น ก็คงแก้ไม่ได้
เมื่อถามว่าอาจเพิ่มความวุ่นวาย ความขัดแย้งในสังคม นายประสุข กล่าวว่า อาจจะมีบาง แต่เราอยู่ในระบบก็ต้องสู้กันด้วยระบบรัฐสภา ต้องพูดคุยกันด้วยเหตุผล ซึ่งคงต้องเฝ้าดูกันต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นแก้ไขรธน. จะนำไปสู่ความขัดแย้งอีกหรือไม่ นายประสพสุข กล่าวว่า อาจจะมีส่วน แต่เราก็ต้องแก้ปัญหากันต่อไป

** ส.ส.- ส.ว.ชงรื้อรธน. 27 มาตรา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ร่าง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับดังกล่าว มีหลักการแก้ไขใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1. ปรับปรุงที่มาของ ส.ส. มาตรา 93-98 2.ปรับปรุงที่มาของ ส.ว. มาตรา 111-121 3. เพิ่มเติมอำนาจในการกำหนดและทบทวนประเภทของหนังสือสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา มาตรา 190
4. ปรับปรุงบทลงโทษยุบพรรคการเมือง และการเพิกถอดสิทธิ์เลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคการเมือง มาตรา 237 5. ปรับปรุงเรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของส.ส.มาตรา 265 และ 6. ปรับปรุงเรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของ ส.ส.และส.ว. ผ่านทางส่วนราชการ และหน่วยงานต่างๆ มาตรา 266 (1) โดยให้เหตุผลว่า หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 ได้พบปัญหาและความขัดแย้งจนอาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และการบังคับใช้ในทางปฏิบัติ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมือง และศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชึ่งได้พิจาณาศึกษาแล้วเห็นสมควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราได้ เป็นการเร่งด่วนเฉพาะหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางในการลดเงื่อนไขความขัดแย้งนำไปสู่การสร้างสมานฉันท์ และการปฏิรูปการเมืองในระยะต่อไป
สำหรับเนื้อหาของร่างแก้ไข มีทั้งสิ้น 27 มาตรา โดยมีมาตราที่น่าสนใจดังนี้ อาทิ มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 93 โดยกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คนมาจากบัญชีรายชื่อ 100 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 94 โดยกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ผู้มีสิทธิ์ เลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้ เขตละ 1 คน มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 95 โดยกำหนดให้การเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยให้ถือเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง มาตรา 12 ให้ยกเลิกความในมาตรา 111 โดยกำหนดให้ ส.ว.ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน 200 คน มาตรา 13 ให้ยกเลิกความในมาตรา 112 โดยกำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ว.แต่ละจังหวัด ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และให้ผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งได้เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภามาตรา 15 ให้ยกเลิกความในมาตรา 115 โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้รับสมัครที่น่าสนใจดังนี้ คือไม่เป็นสมาชิกหรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองหรือพ้นมาแล้วไม่เกิน 1 ปี จากเดิมมีกำหนด 5 ปี ไม่เป็น ส.ส.หรือเป็น ส.ส.แต่พ้นมาแล้วไม่เกิน 1 ปี จากเดิมกำหนด 5 ปี ไม่เป็นรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น มิใช่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่เกิน 1 ปี จากเดิมกำหนด 5 ปี มาตรา 21 ให้ยกเลิกความในวรรค 5 ของมาตรา 190 และกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดประเภทขั้นตอน และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง มาตรา 22 ให้ยกเลิกความใน วรรค 2 ของมาตรา 237
มาตรา 23 ให้ยกเลิกความในอนุมาตรา (1) แห่งมาตรา 265 เกี่ยวกับข้อห้ามของ ส.ส.และ ส.ว.โดยกำหนดให้ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นหรือข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ นอกจากข้าราชการการเมือง เฉพาะกรณีของ ส.ส. มาตรา 24 ให้ยกเลิกความในอนุมาตรา (1) แห่งมาตรา 266 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อห้ามในการใช้ตำแหน่ง ส.ส. และส.ว.เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงระบบราชการ มาตรา 25 ให้ยกเลิกความในมาตรา 297 เกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ทั้งนี้ในร่างดังกล่าวมีบทเฉพาะกาล ในมาตรา 26 กำหนดให้ ส.ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงสมาชิกภาพต่อไป และมาตรา 27 ให้ ส.ว.ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไป จนกว่าจะครบวาระ 6 ปี

** เตือนส.ส.-ส.ว.อาจถูกยื่นถอดถอน
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และหนึ่งในแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวถึงการยื่นญัตติขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ของกลุ่ม ส.ส. และ ส.ว. ที่นำโดยนายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี และนายสมเกียติ ศรลัมภ์ ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน ในประเด็นการขยายเวลาการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.สรรหา จากเดิมที่อยู่ในวาระได้ 3 ปี เป็น 6 ปีว่า อาจจะทำให้ถูกยื่นถอดถอนได้ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการแก้ไขเพื่อให้ได้ประโยชน์กับตนเอง
อย่างไรก็ตาม ตนทราบว่ามีประชาชนจำนวนหนึ่ง เตรียมยื่นเรื่องให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยในกรณีดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ก็จะส่งผลให้ ส.ส.และ ส.ว.ที่ยื่นเรื่องดังกล่าว ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ขณะเดียวกัน จะต้องถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาด้วย ซึ่งหากมีการชี้มูลว่ามีความผิดจริง ส.ส.และ ส.ว.กลุ่มนี้ก็อาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้
กำลังโหลดความคิดเห็น