xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ภาคชาวบ้านร้อง ส.ว.ตั้งกระทู้ถาม “มาร์ค” ปล่อย ภท.เสนอร่าง กม.นิรโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป.ป.ช.ภาคประชาชนยื่นหนังสือถึง ส.ว.“ไพบูลย์ นิติตะวัน” เรียกร้องตั้งกระทู้ถามนายกฯ กรณี “ภูมิใจไทย” ผลักดันร่าง กม.นิรโทษฯ ผู้ชุมนุมเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จี้ “มาร์ค” แสดงท่าทีให้ชัดเจน ระบุเป็นร่างกฎหมายที่หมกเม็ดช่วยผู้กระทำผิด และอาจแก้ไขในวาระ 2-3 เพื่อนิรโทษกรรมให้นักการเมือง

วันนี้ (21 ส.ค.) เวลาประมาณ 11.30 น. ที่ห้องแถลงข่าวสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทน ป.ป.ช.ภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ วุฒิสภา เพื่อเรียกร้องให้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีให้แสดงท่าทีที่ชัดเจนกรณีพรรคภูมิใจเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดช่วงการชุมนุมวันที่ 25 พ.ค. - 3 ธ.ค.51 และ 26 มี.ค. 14 เม.ย.52 หลังจากนั้นได้อ่านแถลงการณ์ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนผู้คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ต่อสื่อมวลชน มีเนื้อหาดังนี้

“แถลงการณ์ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนผู้คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ เรื่อง หยุด! ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ หยุด! อ้างความสามัคคี หยุด! ย่ำยีกระบวนการยุติธรรม

ตามที่ตัวแทนพรรคภูมิใจไทยได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 และระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 14 เมษายน 2552 พ.ศ. .... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชัย ชิดชอบ) เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด โดยส่อเจตนาสร้างความสับสนแก่สังคมว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมุ่งนิรโทษกรรมแก่มวลชนทั้งสองฝ่าย คือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มี 9 มาตรา โดยระบุหลักการและเหตุผลในการเสนอว่า "ด้วยปรากฏว่าประเทศไทยได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง มีการแบ่งแยกทางแนวความคิด ทำให้เกิดการประท้วงมีการรวมกลุ่มและชุมนุมของประชาชน ซึ่งการชุมนุมเกิดขึ้นภายใต้ความคิดและความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง จึงเป็นผลให้มีการกระทำผิดทางอาญา และขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศชาติมีความรัก ความสามัคคี และรู้จักการให้อภัย จึงเห็นสมควรออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมือง” แต่ความจริงได้หมกเม็ดในการช่วยเหลือผู้กระทำผิดอย่างไม่แนบเนียน

กล่าวคือ มาตรา 6 ของร่างกฎหมายดังกล่าว กำหนดให้นิรโทษกรรมคดีแพ่ง อาญา และวินัย ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่สั่งการหรือรับคำสั่งให้ปฏิบัติการณ์ในการชุมนุมทั้งสองช่วงเวลา คือ ทั้งในช่วงการชุมนุมของ พธม.และ นปช.อันมีนัยสำคัญต่อการนิรโทษกรรมแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง และนักการเมืองที่เป็นรัฐบาลขณะเกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ 2551 (การสลายการชุมนุมของ พธม.โดยใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก) ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ในข่ายที่อาจจะถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดร้ายแรงในเร็วๆ นี้ เป็นต้น

มิพักต้องกล่าวถึงข้อวิตกที่ว่า อาจมีการใช้เล่ห์เหลี่ยมแก้ไขเพิ่มเติมสาระของร่างกฎหมายฉบับนี้ในชั้นแปรญัตติในวารที่ 2 วาระที่ 3 หรือในชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา เพื่อนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองผู้ต้องโทษและต้องหาในคดีต่างๆ ทั้งหมดนับตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อย่าง “สมประโยชน์” ตามแนวทางของร่าง พ.ร.บ.ความปรองดองแห่งชาติ ที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วแต่ไม่ผ่าน โดยมีเป้าหมายในนำทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปอยู่เสมือนก่อนหน้าวันที่ 19 กันยายน 2549 อันจะเป็นการฟอกความผิดแก่ “ทักษิณ ชินวัตร” และบริวารอย่างเบ็ดเสร็จ

ถึงแม้จะมีกระแสข่าวเชิงวิเคราะห์ว่า การเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ดังกล่าว เป็นเพียงกลเกมต่อรองทางการเมืองกับนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทั้งเรื่องการโยกย้ายตำรวจและทหารประจำปี และการเร่งรัดผลักดันโครงการต่างๆ ที่ถูกขวาง อีกทั้งมีเสียงคัดค้านจากแกนนำ พธม.และ นปช.ที่ต่างไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ “เพราะจะทำลายความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ” และ “หากระบบยุติธรรมไม่เป็นมาตรฐาน ปัญหาความขัดแย้งจะไม่มีวันจบ” แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขความได้เปรียบที่ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดของพรรคภูมิใจไทย คือ นายเนวิน ชิดชอบ

ดังนั้น ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนผู้คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ (ตามรายชื่อแนบท้าย) จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแสดงท่าทีให้ชัดเจนโดยไม่เลี่ยงบาลีว่า “เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ” และต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมในการส่งสัญญาณให้พรรคภูมิใจไทยตระหนักถึงนโยบายของรัฐบาลที่ให้สัญญาประชาคมอย่างหนักแน่นว่าจะยึดมั่นในหลัก “นิติรัฐ-นิติธรรม” หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องแสดงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ให้ชัดเจนว่า จะสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ ที่ส่อเจตนาแอบอ้างความสามัคคีเพื่อช่วยเหลือนายตำรวจและนักการเมืองกลุ่มหนึ่งให้รอดพ้นความผิดอาญาร้ายแรงอย่างย่ำยีกระบวนการยุติธรรมหรือไม่?

ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนผู้คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ : ป.ป.ช.ภาคประชาชน, ชมรมร่วมใจไทยกู้ชาติ, ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย, ชมรมใจภักดิ์รักไทย, เครือข่ายปัญญาสยาม, เครือข่ายธรรมาภิบาล, เครือข่ายปวงชนต่อต้านอธรรม, กลุ่มรณรงค์สื่อต้านคอร์รัปชัน (21 สิงหาคม 2552)”

รายละเอียดหนังสือร้องเรียน



ที่ ปปช.ภช.022/2552

                                                           21 สิงหาคม 2552

เรื่อง ขอให้ตั้งกระทู้ถามกรณีพรรคภูมิใจไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

เรียน ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ (นายไพบูลย์ นิติตะวัน)

สิ่งที่ส่งมาด้วย แถลงการณ์ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนผู้คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรม จำนวน 1 หน้า

ด้วยปรากฏว่าตัวแทนพรรคภูมิใจไทยได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 และระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 14 เมษายน 2552 พ.ศ. .... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชัย ชิดชอบ) เพื่อบรรจุเข้าสู่การพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด (เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552) โดยส่อพฤติการณ์ซ่อนเร้นในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำผิดอย่างขัดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม

ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนผู้คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฯ จึงได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) แสดงท่าทีให้ชัดเจนว่าจะสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้หรือไม่ ทั้งในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย)

ในการนี้ ป.ป.ช.ภาคประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายฯ จึงใคร่ขอให้ท่านสนับสนุนเจตนารมณ์ของภาคประชาชนโดยการตั้งกระทู้ถาม ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในการประชุมวุฒิสภาโดยเร็ว เนื่องจากเป็นประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง

                                           ขอแสดงความนับถือ

                                      (นายประเทือง ปรัชญพฤทธิ์)
                             ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาคประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น