ที่ประชุมวุฒิสภาเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท ส.ว.ต่างลับฝีปากพร้อมชำแหละรายมาตรา ด้าน “ส.ว.ไพบูลย์” แกนนำ 40 ส.ว.ชี้มีหลายโครงการ เช่น ชุมชนพอเพียง พ.ร.ก.กู้เงินเริ่มมีกลิ่นทุจริต ขณะที่ “จำนงค์” เหน็บปชป.ปากเลื่อมใสระบบรัฐสภา แต่ทำตรงข้าม ระบุจัดทำงบไม่ผ่านรัฐสภา ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ยุ "เรื่องไกร” เดินหน้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญ ด้าน”ธวัช” ระบุ กก.กลั่นกรองแค่ตรายางอนุมัติงบ ชี้ขรก.ถึงติดคุก ข้อหาสมรู้ร่วมคิด
วันนี้ (10 ส.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ ที่มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ.... (กู้เงิน 4 แสนล้าน) ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบแล้ว โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นายกรณ์ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลในการประชุมครั้งที่ผ่านมาแล้ว ดังนั้น วันนี้จึงเปิดให้สมาชิกได้อภิปราย โดยนายประสพสุขได้แจ้งว่า ส.ว.จะมีเวลาอภิปรายคนละ 10 นาที และจะมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 เป็นระยะด้วย
นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว แต่รัฐบาลกลับทำงานคล้ายๆ กับประเทศกำลังอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ แล้วยังมาเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินอีก ทั้งๆ ที่การใช้เงินตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะใช้ใน 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งตนเห็นว่ารัฐบาลควรที่จะเสนอไปตามร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณมากกว่า นอกจากนี้ ตนยังไม่มั่นใจว่าคนด้อยโอกาส คนพิการ จะได้รับความเป็นธรรมจากงบประมาณดังกล่าวหรือไม่ เพราะโครงการขนาดใหญ่ ระบบขนส่งสาธารณะ ระบบเทคโนโลยี ไม่มีรายละเอียดทั้งโครงสร้าง แบบ และแผนงาน ที่จะให้ความไว้วางใจว่า จะมีระบบอำนวยความสะดวกให้กับคนด้อยโอกาส คนพิการ ผู้สูงอายุ รวมไปถึงการตรวจสอบ ความเชื่อมั่นว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการกู้เงินของรัฐบาลหรือไม่
นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา แต่ละรัฐบาลได้มีนโยบายการกู้เงินมาโดยตลอด จนถึงรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขทั้งหมดจนถึงการกู้เงินของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ คิดเป็นประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้ประชาชนเป็นหนี้จากการกู้เงินของรัฐบาล 1 แสนบาทต่อหัว จึงอยากสอบถามรัฐบาลว่า มีแนวทางในการใช้หนี้อย่างไร และต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะปลดภาระหนี้ดังกล่าวได้ทั้งหมด
“การที่ รมว.คลังบอกว่าในปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ในแดนบวก และปี 2557 เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่สภาวะมั่นคงจะทำได้อย่างไร เพราะเมื่อดูจากตัวเลขที่รัฐบาลกู้นั้นและยังมีภาระดอกเบี้ย ที่ต้องชำระอีกจำนวนมากจึงเป็นห่วงว่า ถ้าประเทศมีหนี้มากจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวสนับสนุนรัฐบาลให้มีการกู้เงินเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในทางปฎิบัติอยากให้รัฐบาลเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณด้วยเพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่” นายเจริญ กล่าว
นายเจริญกล่าวว่า แม้นายกจะมีความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน และเจตนาดี แต่อยากเห็นนายกฯแสดงความกล้าหาญ โดยในการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อเปิดทางให้คนที่มีฝีมือเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีประสิทธิภาพ โดยโครงการชุมชนพอเพียง ที่เริ่มมีการทุจริตตอนนี้นายกฯต้องแสดงความเด็ดขาดให้เห็น
นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี กล่าวว่า งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ.2552 กำลังมีการปิดงบประมาณแล้วปรากฎว่า ยังไม่มีการเร่งรัดการเบิกจ่ายเท่าไหร ทั้งนี้ การกระจายงบประมาณที่ผ่านมา มีการเรียกเร่ขายกันมาก โดยมีการเรียกรับผลประโยชน์ 10-20% โดยเฉพาะจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการเฉลี่ยงบประมาณให้ ส.ส.400 คน ได้คนละ 25 ล้านบาท รวมเป็นประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยเอาไปฝากไว้ที่กรมส่งเสริมฯ และให้หน่วยงานทำเรื่องเบิกจ่าย ตามสายงานให้กับ ส.ส. ซึ่งตนเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่รู้ไม่น่าจะเป็นไปได้ จึงเรียกร้องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้เข้ามาตรวจสอบด้วย ดังนั้น ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ที่จะมีการกู้เงินเพิ่มเติม
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เรื่องกู้เงินตาม พ.ร.บ.ยังมีเวลาไม่เหมือนกับ พ.ร.ก.กู้เงินที่ผ่านไปก่อนหน้านี้ ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขาดรายละเอียดที่จำเป็นในการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะมาตรา 3 เป็นการจำกัดหน้าที่รัฐสภาเพียงแค่ให้รับทราบเท่านั้น ถ้าทำแบบนี้จะเป็นประเพณี ที่ไม่ถูกต้องจากเดิมที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นกลไกสำคัญในการตรวจสอบ ต้องตกไปเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวล และโครงการตาม พ.ร.ก.มีหลายโครงการมีปัญหา เช่น โครงการชุมชนพอเพียง การปรับปรุงขนส่งมวลชนระบบราง
“มีแนวคิดว่าถ้าไม่รับร่าง พ.ร.บ.นี้ วุฒิสภาจะเสียโอกาสในการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว และเรื่องต้องกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎรทันทีส่วนตัวจึงเป็นห่วงมาก แต่ถ้าเรารับหลักการ พ.ร.บ.นี้ก็ไม่ได้เป็นการแสดงว่าเราเห็นด้วย แต่เป็นการรับไว้เพื่อให้มีการแก้ไขที่ถูกต้องตามขั้นตอน ก่อนที่จะส่งกลับไปให้สภาฯ อีกครั้ง”
นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร กล่าวว่า รัฐบาลกู้เงินไปก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ได้ใช้และงบประมาณประจำปี 2553 จำนวน 1.7 ล้านล้านบาท ก็กำลังจะผ่านสภาและยังมีเสนอ พ.ร.บ.กู้เงินอีก 4 แสนล้านบาท ทำให้เงินมะรุมมะตุ้มเปรียบเสมือนสามล้อถูกหวย มีเงินมากองอยู่ตรงหน้าไม่รู้จะใช้อย่างไร นอกจากนี้ ตนเข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความซื่อสัตย์สุจริตและตนก็เชื่อเช่นนั้น แต่ขณะนี้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงแล้วในโครงการชุมชนพอเพียง ประกอบกับเมื่อ งบประมาณที่ผ่านมา ตนจึงไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะจัดการงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกฤชกล่าวว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บภาษีน้ำมันแต่ให้มาเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกแทน รัฐบาลกลับทำในสิ่งที่ไม่ได้พูดแต่สิ่งที่พูดเอาไว้กลับไม่ได้ทำ และภาษีน้ำมันทำให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนเดือดร้อน แต่หากเก็บภาษีที่ดินและมรดกชาวบ้านก็จะไม่ได้รับการเดือดร้อน ตนมองว่าเรื่องดังกล่าวนี้เป็นการพูดโชว์โก้ๆ โดยเชื่อว่าสามารถทำได้ นอกจากนี้นายกฯ ควรปรับ ครม.ได้แล้วเพราะขณะนี้เกิดปัญหาเรื่องการท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อนบ้านไม่คบหา ทางที่ดีควรปรับรัฐมนตรีคนนั้นออกไปได้ รวมทั้งรัฐมนตรีที่ควรฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ควรเอาออกไปให้หมด
นายจำนงค์ สวมประคำ อภิปรายว่า การตั้งงบประมาณเพื่อบริหารราชการแผ่นดินจะต้องใช้ระบบรัฐสภา โดยรัฐบาลขอใช้แล้วรัฐสภาอนุมัติให้ใช้ แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการใช้เงินที่ไม่ผ่านระบบรัฐสภา ซึ่งตนสงสัยว่า การดำเนินการเช่นนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะการใช้เงินงบประมาณนี้รัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งปี โดยกำหนดให้กรมบัญชีกลางเก็บรักษาเงินงบประมาณดังกล่าว ร่างระเบียบดังกล่าวกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ต้องเสนอโครงการที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ต่อคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการ ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของโครงการ กรอบการใช้เงินและแผนดำเนินงาน ซึ่งเป็นการทำหน้าที่แทนสำนักงบประมาณ ทั้งที่ตามปกติหน่วยงานใดต้องการใช้งบประมาณก็เสนอโครงการให้กับสำนักงบประมาณเป็นผู้อนุมัติโครงการ โดยไม่เชื่อว่าคณะกรรมการกลั่นกรองฯชุดนี้จะมีการเวลาพิจารณารายละเอียดของโครงการว่า เหมาะสม ชอบหรือไม่
“วิธีการตั้งและใช้งบประมาณจะใช้ระบบรัฐสภา แต่ครั้งนี้รัฐบาลเสนอร่างพ.ร.บ.กู้เงินฯ เพื่อใช้เงินเองโดยไม่ผ่านรัฐสภา รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ที่พูดเสมอว่า เลื่อมใสระบบรัฐสภา แต่วันนี้ผมไม่ทราบว่า รัฐบาลใช้ระบบอะไร ซึ่งปัญหาก็คือ การกระทำเช่นนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ คงต้องฝากนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ที่มีความเชี่ยวชาญช่วยพิจารณาด้วย”นายจำนงค์ กล่าว
นายธวัช บวรวณิชยกูร ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ดูรายชื่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ล้วนเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถไปทำหน้าที่กลั่นกรองโครงการต่างๆก่อนที่จะนำเสนอครม.เพื่ออนุมัติ แต่ตนไม่เชื่อว่า คณะกรรมการกลั่นกรองฯจะรู้รายละเอียดดีเท่ากับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงที่เป็นผู้เสนอโครงการ ซึ่งร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้อำนาจกู้เงินถึงปี 2554 ดังนั้นควรจะนำไปจัดทำไปในงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี แม้จะมีข้อกำจัดในเรื่องของเพดานเงินกู้ที่ระบุว่า ต้องกู้ไม่เกิน 20% ของหนี้สาธารณะ รัฐบาลก็สามารถเสนอแก้ไขเพดานวงเงินกู้ โดยออกเป็น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมหนี้สาธารณะเพิ่มเพดานวงเงินกู้ เป็นการชั่วคราว
“การออกร่างพ.ร.บ.เงินกู้ ฉบับนี้เกรงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เป็นไปตามวิธีการงบประมาณ อาจทำให้ข้าราชกาต้องคดี เหตุเพราะสมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาล”นายธวัช กล่าว