xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม 40 ส.ว.ขู่ลับมีดชำแหละ พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้าน ตั้งแต่หัวจรดเท้าแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.(ซ้าย)
“ไพบูลย์” แกนนำ 40 ส.ว.ออกลาย ทวง “มาร์ค-กรณ์” หลังผ่าน พ.ร.ก.กู้เงินขอแลก งบประมาณลงใต้ อุดหนุนทุกหมู่บ้านละ 2 ล้านบาท พร้อมแจกเกษตรกรต่อหัว 2 พัน แจงเหตุคว่ำ พ.ร.บ.สรรพสามิตน้ำมัน ชี้ “พฤฒิชัย” แจงไม่เคลียร์ ขู่เตรียมลับมีดรอชำแหละ พ.ร.บ.กู้เงินตั้งแต่หัวจรดเท้า

วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า ภายหลังจากที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบกับ พ.ร.ก กู้เงิน 4 แสนล้านบาทแล้ว อยากเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายกรณ์ จาตกวณิช รมว.คลัง ให้พิจารณาเพิ่มเติมโครงการในกรอบการใช้เงินตาม พ.ร.ก.ด้วย โดยเฉพาะใน 2 กรณี คือ 1.โครงการเช็คช่วยชาติ ควรขยายเพิ่มให้แก่เกษตรกรที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ โดยใช้ฐานข้อมูลจาก ธ.ก.ส.จำนวน 4,341,171 บาท และ 2.ให้จัดทำโครงการให้เงินสนับสนุนความเข้มแข็งของหมู่บ้านในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.นราธิวาส 581 หมู่บ้าน จ.ปัตตานี 616 หมู่บ้าน จ.ยะลา 327 หมู่บ้าน และ 4 อำเภอใน จ.สงขลา 358 หมู่บ้าน รวม 1,882 หมู่บ้าน โดยให้เงินสนับสนุนหมู่บ้านละ 2 ล้านบาท รวมวงเงิน 3,764 ล้านบาท โดยให้หมู่บ้านตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลการใช้เงินเอง

“แม้โครงการนี้ไม่ได้อยู่ในโครงการไทยเข้มแข็ง แต่ก็ขอให้รัฐบาลบรรจุเข้าไป เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และส่งผลให้รัฐบาลแสดงถึงความตั้งใจที่จะกระจายเม็ดเงินให้ถึงมือประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวรัฐบาลมีการล็อบบี้ ส.ว.เพื่อให้ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน ว่า ปกติแล้วเมื่อรัฐมนตรีเข้ามาสภาก็จะมีการเข้ามาพูดคุยกับ ส.ว.อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพราะ นพ.พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รมช.คลัง ไม่สามารถชี้แจงต่อวุฒิสภาได้เพียงพอ และบางช่วงยังมีการตอบโต้ระหว่าง ส.ว.กับรัฐมนตรีอีก เมื่อที่ประชุมฟังแล้ว จึงไม่เห็นด้วย ผลจึงออกมาอย่างที่เห็น ยืนยันว่า ส.ว.ไม่ได้เตรียมการมาล่วงหน้าจะลงมติอย่างไรในส่วนของภาษีสรรพสามิต ไม่มีการล็อบบี้กัน และมติที่ออกมาก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมชาติของ ส.ว.ทุกคน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า สำหรับการลงมติ พ.ร.ก.กู้เงิน โดยรวมถือว่าการชี้แจงของนายกฯมีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว.บางส่วน แต่ส่วนใหญ่ตัดสินใจก่อนที่นายกฯจะเดินเข้ามาสภาแล้ว และเมื่อนายกฯกลับมาชี้แจงด้วยตัวเอง วุฒิสภาก็รู้สึกว่า นายกฯให้เกียรติกับวุฒิสภา ซึ่งมติที่ออกมาระหว่างไม่เห็นด้วยกับเห็นด้วยที่ห่างกัน 21 เสียงนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นไปตามจุดยืนของแต่ละคน ยืนยันว่า 40 ส.ว.ไม่มีการเสียงแตก เพราะที่ผ่านมา 40 ส.ว.ไม่เคยมีมติว่าจะลงมติอย่างไรให้เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมของกลุ่มที่แต่ละคนแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันได้ ส่วนมติจะออกมาอย่างไร เราเคารพการตัดสินใจนั้น สำหรับ พ.ร.ก.สรรพสามิตฉบับนี้ถือว่าหมดหน้าที่ของ ส.ว.แล้วแต่เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณา

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนการที่ประธานวุฒิสภาปิดประชุมเมื่อคืนวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่มีการพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เป็นเพราะเห็นว่าใกล้เวลาปิดสมัยประชุมวันที่ 23 มิ.ย.ในเวลา 24.00 น.อีกทั้ง นายกรณ์ ไม่ได้เสนอหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ดังกล่าว หากนำมาพิจารณาจะไม่ทันกับเวลาที่จะหมดไป อย่างไรก็ดี เข้าใจว่า รัฐบาลคงมีเวลาเตรียมตัวในการอธิบายกับวุฒิสภาให้ชัดเจนในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ เข้ามาในการประชุมวุฒิสภาครั้งต่อไป

“ผมเชื่อว่า เมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ส.ว.ส่วนใหญ่คงลงมติรับหลักการแต่จะมีการแก้ไขมากพอสมควรในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ไม่ว่าจะเป็นวงเงินที่อาจปรับลดไม่ให้ถึง 4 แสนล้านบาท ตลอดจนกรอบการใช้เงินที่อยากให้เข้าสู่ระบบงบประมาณปกติรวมทั้งกลไกการตรวจสอบการใช้เงินและอำนาจของรัฐมนตรีว่ามีอำนาจมากเกินไปหรือไม่และควรตัดทอนอำนาจอย่างไรเพื่อให้เกิดความเหมาะสมอย่างไร” นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ วุฒิสภาคงจะมอบให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2553 ของวุฒิสภาทั้ง 27 คน มาเป็นผู้มาดูแลและตรวจสอบการใช้เงินตาม พ.ร.บ.เงินกู้ ส่วน พ.ร.ก.เงินกู้ อาจตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเป็นการเฉพาะอีกหนึ่งชุดเพื่อมาดูแล
กำลังโหลดความคิดเห็น