xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ค้าน พ.ร.ก.กู้เงิน ซัดไม่อยากให้ตั้งโต๊ะบุฟเฟต์รอเสือหิวมากิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“แกนนำ 40 ส.ว.” ลั่นส่วนตัวขอค้าน พ.ร.ก.-พ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้าน ชี้เพราะรัก เชื่อมั่น “มาร์ค-กรณ์” ตั้งเงินงบประมาณในเหตุที่จำเป็น หวังช่วยฟื้นเศรษฐกิจประเทศ ชี้แต่ไม่มั่นใจจะกลับมานั่งบริหารประเทศอีกครั้งหรือไม่ ระบุไม่อยากให้ตั้งโต๊ะบุฟเฟต์ปล่อยให้รัฐบาลใหม่มากินต่อ ขณะที่ “กรณ์” แก้เกี้ยวไม่ใช่อย่างที่คิด แต่ทำเพื่อให้รัฐบาลเข้าถึงแหล่งทุน

วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวม 800,000 ล้านบาท โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ส่วนตัวขอคัดค้านการตรา พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน 8 แสนล้านบาท โดยการคัดค้านเป็นไปเพราะความรักและความเป็นห่วงรัฐบาลว่าไม่อยากให้มีการใช้เงินงบประมาณลักษณะนี้ไปในมิชอบ และเพื่อต้องการรักษาความศักดิ์สิทธิ์องรัฐธรรมนูญเอาไว้ สำหรับสาเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับการตรากฎหมาย เพราะการที่รัฐบาลกำหนดตัวเลขการลงทุนไว้ในโครงการไทยเข้มแข็ง 1.5 ล้านล้านบาทตลอดเวลา 3 ปี เฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านบาท ตนไม่มั่นใจว่าภาครัฐจะมีศักยภาพในการเบิกจ่ายได้จริง

“ผมได้ไปตรวจสอบผ่านทางศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงการคลัง ณ วันที่ 15 มิ.ย.พบว่างบลงทุนที่อยู่ในงบประมาณประจำปี 2552 จำนวน 2.1 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายจริงเพียง 6.5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น หรือคิดเป็น 30.79% ทั้งๆ ที่ปีงบประมาณจะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.นี้ แต่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนเพียงไม่เท่าไหร่ และถ้าเป็นแบบนี้หากมีการอนุมัติในเรื่องโครงการไทยเข้มแข็ง รัฐบาลจะกำชับให้มีการเบิกจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความโปร่งใสได้อย่างไร เพราะโครงการไทยเข้มแข็งผูกพันประเทศไทยถึงปี 2555” นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณกล่าวว่า นอกจากนี้ การกู้เงิน 8 แสนล้านบาท รัฐบาลบอกว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้ลงทุนใน 6 พันโครงการ จึงต้องหลีกเลี่ยงกระบวนการตามงบประมาณปกติ ส่วนตัวมองว่าไม่ผิด เพราะไม่งั้นรัฐบาลก็ต้องเลือกการแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 แต่รัฐบาลไม่ทำเพราะต้องการรักษาวินัยทางการเงินการคลังเอาไว้ แต่การที่รัฐบาลตัดลดงบลงทุนใน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2553 แต่มาใช้งบลงทุนนอกระบบงบประมาณจำนวน 8 แสนล้านบาท เวลา 3 ปี อาจจะเกิดการรั่วไหลได้

“รัฐบาลได้อาศัยสถานการณ์พิเศษเพื่อขอกู้เงินโดยใช้ระบบนอกงบประมาณ ซึ่งมองว่าการที่ไม่ใช้ระบบงบประมาณปกตินั้นส่วนมาจากการที่เงินในงบประมาณจะมีระบบการตรวจสอบมากพอสมควรทำให้เกิดการฉ้อฉลได้ยาก และกระบวนการเบิกจ่ายในระบบงบประมาณนั้นจะเกิดการเหนี่ยวรั้งระหว่างฝ่ายการเมือง และฝ่ายข้าราชการประจำ” นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลเองได้แสดงพิรุธอีกหลายประการ เช่น เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมาก่อนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติมอีก 4.9 พันล้านบาท ให้แก่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ กระทรวงมหาดไทย แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะชี้แจงว่าไม่ได้เป็นให้งบประมาณเพื่อแลกกับการโหวตของ ส.ส. แต่สังคมก็ได้เชื่อไปอย่างนั้นแล้วว่าเป็นการแลกเปลี่ยนจริง ตามมาด้วยข่าวลือเกี่ยวกับ ส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านได้มีการหารือกับนายกฯ เกี่ยวกับการของบประมาณ ข่าวที่ออกมาลักษณะนี้รัฐบาลจะให้ความมั่นใจได้อย่างไรว่าจะใช้งบประมาณไม่ให้เกิดการรั่วไหล

“ผมรักและเชื่อมั่นนายกฯ และ รมว.คลังคนนี้ แต่ไม่เชื่อว่าอนาคตท่านนายกฯ จะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกหรือไม่หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะระเบียบเกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่รัฐบาลบอกว่าจะใช้เพื่อควบคุมการใช้งบประมาณ เอาเข้าจริงเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็สามารถแก้ไขได้เพียงแค่การใช้มติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น เพราะอย่าลืมระเบียบการใช้งบประมาณดังกล่าวไม่ได้ตราขึ้นเป็น พ.ร.บ.ที่ต้องผ่านสภา ถ้าเป็นแบบนี้จะให้เข้าใจใช่หรือไม่ว่ารัฐบาลชุดนี้กำลังตั้งโต๊ะบุฟเฟต์ให้รัฐบาลชุดต่อไปมากินต่อ ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น” นายคำนูณ กล่าว

นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถลงมติเห็นด้วยกับตรากฎหมายกู้เงินครั้งนี้ คือ มาตรา 4 ใน พ.ร.ก.กู้เงิน ที่ระบุว่าเงินที่ได้จากการกู้ให้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำสั่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะมีมติสมทบเป็นเงินคงคลัง เพราะจะเป็นช่องทางให้การเกิดการทุจริตได้และรัฐบาลเห็นระบบสภาเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น ดังนั้นจึงขอใช้สิทธิไม่ให้ความเห็นชอบเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน

จากนั้น นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ชี้แจงว่า สาเหตุที่รัฐบาลต้องกำหนดตัวเลข 1.5 ล้านล้านบาท และ มีระยะเวลาผูกพันไปถึงปี 2554 เพราะรัฐบาลต้องการส่งสัญญาณให้นักลงทุนเห็นว่ารัฐบาลเน้นการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ถ้ารัฐบาลจะไม่เลือกใช้วิธีการตรากฎหมายกู้เงินก็ทำได้โดยใช้การแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้

“แต่เราไม่ทำเพราะถ้าทำแบบนั้นจะเป็นการส่งสัญญาณในทางลบที่เป็นการสะท้อนถึงไม่รักษาวินัยทางการเงินการคลังของรัฐบาล จึงไม่ทำอย่างนั้น แต่การตรากฎหมายกู้เงินทั้ง 2 ฉบับเป็นการเพียงการเปิดโอกาสให้รัฐบาลมีกฎหมายที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ” นายกรณ์ กล่าว



















กำลังโหลดความคิดเห็น