xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” โต้ “ชุมพล” ย้ำไล่ล่ารัฐบาลชั่ว แฉ ครม.ซื้อเวลาต่อรองผ่าน พ.ร.ก.4 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
ส.ว.สรรหา โต้ข้อกล่าวหา “ชุมพล” ไล่ล่าเฉพาะรัฐบาลชั่วเท่านั้น ยืนยันทำหน้าที่ตามบทบาท สอบรถเมล์เช่า “โสภณ” มีพิรุธ เชื่อมติ ครม.แค่ซื้อเวลาต่อรองผ่านร่าง พ.ร.ก.เงินกู้ ย้ำขอสงวนสิทธิ์ค้านร่าง พ.ร.ก.-พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ลั่นถือเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงระบอบรัฐสภา และจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับรัฐบาลชุดต่อๆ ไป

คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายคำนูณ สิทธิสมาน ให้สัมภาษณ์

วันนี้ (4 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ถึงกรณีที่ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมากล่าวหาว่า 40 ส.ว.ทำหน้าที่เกินบทบาทตัวเอง ไล่ล่ารัฐบาล โดยเฉพาะออกมาคัดค้านโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันว่า ถือว่าเป็นหน้าที่ของ ส.ว.ที่จะต้องคอยกำกับตรวจสอบรัฐบาล และกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งจะไล่ล่าเฉพาะรัฐบาลชั่วเท่านั้น ทั้งนี้ กรรมาธิการหลายคณะของวุฒิสภาต่างเห็นตรงกันว่าโครงการนี้ไม่โปร่งใส จึงมีการปรารภกันในหมู่คณะว่า หากรัฐบาลยอมให้โครงการนี้ผ่านมติคณะรัฐมนตรีก็จะพร้อมใจกันคัดค้านร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 และร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ ส่วนมติ ครม.ที่โยนให้คณะกรรมการสภาพัฒน์ไปศึกษาอีก 1 เดือนว่าจะจัดซื้อหรือเช่ารถเมล์เอ็นจีวีนั้น ถือว่าเป็นซื้อเวลา หรือนัยทางการเมืองก็เพื่อเป็นเงื่อนไขในการผ่านร่าง พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทต่างหาก

นายคำนูณกล่าวยืนยันว่าจะไม่ยอมยกมือให้ผ่านร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทแน่นอน เนื่องจากถือว่าจงใจหลีกเลี่ยงการตรวจสอบโดยระบอบรัฐสภา วัตถุประสงค์การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 วงเงินกลมๆ ประมาณ 2 แสนล้าน เพื่อชดเชยเงินคงคลัง ส่วนที่ 2 อีกกลมๆ จำนวนประมาณ 2 แสนล้าน เพื่อทำโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งมียอดเงินทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องกู้เงินทั้งหมดรวม 6 แสนล้านบาท โดยที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาทอยู่ใน พ.ร.บ.ชื่อเดียวกันกับ พ.ร.ก.

นายคำนูณกล่าวต่อว่า การใช้เงินในส่วนที่ 1 เพื่อชดเชยเงินคงคลัง 2 แสนล้านบาท แม้จะมีข้อสงสัยให้วิพากษ์วิจารณ์ได้บางประการ แต่โดยภาพรวมแล้วเห็นว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ เพื่อชดเชยเงินคงคลังตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ตนยอมรับได้ แต่เงินในส่วนที่ 2 ที่จะนำไปใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 นั้น เห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากล และจะกระทบต่อวินัยการคลังของประเทศในระยะยาว โดยมีเหตุผลหลักๆ ในเบื้องต้น 2 ประการ

ประการแรกซึ่งสำคัญที่สุดก็คือ โครงการต่างๆ ที่นำมารวมอยู่ในโครงการไทยเข้มแข็งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถบรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ที่รัฐบาลกำหนดจะเสนอต่อรัฐสภาในสมัยวิสามัญ 15-23 มิ.ย.นี้ พร้อมกับ พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ฉบับรวม 8 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐสภามีโอกาสศึกษาโครงการ และตรวจสอบความคุ้มค่าของการลงทุน ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และวิธีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งบัญญัติไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญ เพื่อความถูกต้องและโปร่งใสในการใช้เงินงบประมาณ แต่รัฐบาลกลับไปตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ลง 2 แสนล้านบาท แล้วโยกมาบรรจุใน พ.ร.ก.ดูเหมือนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐสภา

ประการต่อมา การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นจะทำให้วงเงินงบประมาณปี 2553 น้อยกว่า งบประมาณปี 2552 บวกด้วยงบกลางปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินของประเทศ ไม่เคยมีมาก่อน และจะเปิดโอกาสให้รัฐบาลต่อไปใช้เป็นเหตุผลในการเสนอขอเพิ่มวงเงินงบประมาณ โดยออกเป็นพระราชกำหนดเช่นเดียวกับรัฐบาลนี้

“เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ประเมินฐานะการเงินให้ชัดเจนก่อนเริ่มใช้เงินในโครงการบางโครงการ โดยอ้างเหตุผลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วผลที่ได้ในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจกลับออกมาไม่ชัดเจน เช่น โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ครั้นเมื่อใช้ไปแล้วจนติดเพดานการขาดดุลงบประมาณ แทนที่จะแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ให้สามารถขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราว กลับใช้วิธีออกพระราชกำหนดขอกู้เพิ่ม อันจะเป็นการสร้างตัวอย่างที่ไม่ชอบให้แก่รัฐบาลต่อๆ ไป ถือเป็นการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการเสนอของบประมาณค่าใช้จ่ายตามขั้นตอน”

นายคำนูณให้ความเห็นต่อไปว่า การกระทำเช่นนี้น่าจะส่งผลถึงวินัยการเงิน และการคลังของชาติ ตลอดถึงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ดังที่สถาบันจัดลำดังนานาชาติบางแห่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลว่าจะให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินในกรณีที่เกิดปัญหา ที่เขาไม่ได้พูดให้ชัดเจน คือ เพราะรัฐบาลมีหนี้สินมหาศาล และกำลังบริหารการคลังของชาติอย่างสุ่มเสี่ยง ขาดวินัย ซึ่งจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับรัฐบาลชุดต่อๆ ไป อีกทั้งโครงการไทยเข้มแข็งยังไม่ได้พูดถึงว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนหรือประเทศให้ดีขึ้นได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น