xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ค้าน พ.ร.ก.กู้เงินโปะ “ไทยเข้มแข็ง” ไม่ผ่านรัฐสภา หลบเลี่ยงการตรวจสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
“คำนูณ” เล็งยกมือสวน พ.ร.ก.เงินกู้ 4 แสนล้าน ในที่ประชุม ส.ว.ระบุไม่เห็นด้วยกับส่วนที่นำมาใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง 2 แสนล้านบาท ถือเป็นการจงใจข้ามขั้นตอนของสภา เป็นตัวอย่างให้รัฐบาลต่อไปเพิ่มวงเงินงบประมาณรายจ่าย โดยออก พ.ร.ก.หลบเลี่ยงการตรวจสอบ ทำเสียวินัยการคลัง อัดยับเป็นการใช้เงินอย่างป่าเถื่อน ไร้วัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2552 นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่ารัฐบาลสามารถกระทำได้โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 184 ว่า เคารพคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตนในฐานะ ส.ว.คนหนึ่ง ก็จะได้แสดงความคิดเห็นและลงมติไม่อนุมัติตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญมาตราเดียวกันนี้ให้ไว้ต่อไป ซึ่งเท่าที่ทราบ วุฒิสภาจะมีการประชุมเพื่อการพิจารณาอนุมติหรือไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าวในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ โดยก่อนหน้านั้น จะเป็นการประชุมพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร สาเหตุที่ไม่เห็นด้วยเพราะถือว่ารัฐบาลจงใจหลีกเลี่ยงการจัดทำโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา จึงไม่บรรจุไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี

“วัตถุประสงค์การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 วงเงินกลมๆ ประมาณ 2 แสนล้าน เพื่อชดเชยเงินคงคลัง ส่วนที่ 2 อีกกลมๆ จำนวนประมาณ 2 แสนล้าน เพื่อทำโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งมียอดเงินทั้งหมด 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องกู้เงินทั้งหมดรวม 6 แสนล้านบาท โดยที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาทอยู่ใน พ.ร.บ.ชื่อเดียวกันกับ พ.ร.ก.”

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า การใช้เงินในส่วนที่ 1 เพื่อชดเชยเงินคงคลัง 2 แสนล้านบาท แม้จะมีข้อสงสัยให้วิพากษ์วิจารณ์ได้บางประการ แต่โดยภาพรวมแล้วเห็นว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ เพื่อชดเชยเงินคงคลังตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ตนยอมรับได้ แต่เงินในส่วนที่ 2 ที่จะนำไปใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 นั้น เห็นว่า มีความไม่ชอบมาพากล และจะกระทบต่อวินัยการคลังของประเทศในระยะยาว โดยมีเหตุผลหลักๆ ในเบื้องต้น 2 ประการ

ประการแรกซึ่งสำคัญที่สุด ก็คือ โครงการต่างๆ ที่นำมารวมอยู่ในโครงการไทยเข้มแข็งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสามารถบรรจุไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ที่รัฐบาลกำหนดจะเสนอต่อรัฐสภาในสมัยวิสามัญ 15-23 มิ.ย.นี้ พร้อมกับ พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ฉบับรวม 8 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐสภามีโอกาสศึกษาโครงการ และตรวจสอบความคุ้มค่าของการลงทุน ตามขั้นตอนและวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และวิธีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งบัญญัติไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญ เพื่อความถูกต้องและโปร่งใสในการใช้เงินงบประมาณ แต่รัฐบาลกลับไปตัดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ลง 2 แสนล้านบาท แล้วโยกมาบรรจุใน พ.ร.ก.ดูเหมือนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐสภา

ประการต่อมา การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นจะทำให้วงเงินงบประมาณปี 2553 น้อยกว่า งบประมาณปี 2552 บวกด้วยงบกลางปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในการจัดทำงบประมาณแผ่นดินของประเทศ ไม่เคยมีมาก่อน และจะเปิดโอกาสให้รัฐบาลต่อไปใช้เป็นเหตุผลในการเสนอขอเพิ่มวงเงินงบประมาณ โดยออกเป็นพระราชกำหนดเช่นเดียวกับรัฐบาลนี้

“เหตุใดรัฐบาลจึงไม่ประเมินฐานะการเงินให้ชัดเจนก่อนเริ่มใช้เงินในโครงการบางโครงการ โดยอ้างเหตุผลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วผลที่ได้ในเชิงกระตุ้นเศรษฐกิจกลับออกมาไม่ชัดเจน เช่น โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ครั้นเมื่อใช้ไปแล้วจนติดเพดานการขาดดุลงบประมาณ แทนที่จะแก้ไข พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ให้สามารถขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็นการชั่วคราว กลับใช้วิธีออกพระราชกำหนดขอกู้เพิ่ม อันจะเป็นการสร้างตัวอย่างที่ไม่ชอบให้แก่รัฐบาลต่อๆ ไป ถือเป็นการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการเสนอของบประมาณค่าใช้จ่ายตามขั้นตอน”

นายคำนูณ ให้ความเห็นต่อไปว่า การกระทำเช่นนี้น่าจะส่งผลถึงวินัยการเงิน และการคลังของชาติ ตลอดถึงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ดังที่สถาบันจัดลำดังนานาชาติบางแห่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลว่าจะให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินในกรณีที่เกิดปัญหา ที่เขาไม่ได้พูดให้ชัดเจน คือ เพราะรัฐบาลมีหนี้สินมหาศาล และกำลังบริหารการคลังของชาติอย่างสุ่มเสี่ยง ขาดวินัย

“อยากจะพูดแรงๆ ว่า การที่รัฐบาลหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของรัฐสภา ออก พ.ร.ก.กู้เงินเช่นนี้ ถือว่าเป็นใช้เงินอย่างอนารยะ ไม่มีวัฒนธรรม หรือพูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือใช้เงินอย่างดิบ ๆ หรือป่าเถื่อน และสร้างตัวอย่างที่เลวขึ้นมา”

ส.ว.สรรหาท่านนี้กล่าวในที่สุดว่า เฉพาะเบื้องต้นนี้ขอพูดถึงแต่วิธีการที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น ยังไม่เจาะลึกไปถึงรายละเอียดของโครงการไทยเข้มแข็ง ว่าแท้จริงแล้วเป็น “ไทยเข้มแข็ง” หรือ “ใครเข้มแข็ง” หรือ “นักการเมืองเข้มแข็ง” กันแน่ ยังไม่พูดถึงว่านักการเมืองจะได้ประโยชน์จากการนำไปหาเสียงอย่างไร และผู้รับเหมาจะจ่ายค่าคอมมิชชัน 10-20 เปอร์เซ็นต์ให้ใครหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น