xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ชัดเช่าNGVขสมก.เจ๊งหนักกำไร1,100บ./คัน/วันเพ้อฝัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชี้ชัดๆ แผนเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันเสี่ยงล่มจมหนัก ขณะที่เอกชนเป็นเสือนอนกินสบาย ตัวเลขผู้โดยสารซื้อตั๋ว 30 บาท 350 คนต่อวันต่อคัน เพื่อทำกำไร 1,100 บาทต่อคันต่อวัน เฟ้อฝัน "คำนูณ" ตอกหน้า"ชุมพล" ย้ำไม่ได้ทำเกินหน้าที่ เพราะ ส.ว.มีหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอยู่แล้ว เชื่อการยืดเวลาออกไปอีก 1 เดือน เพื่อความมั่นใจในการผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน และงบปี 53 มากกว่า "มาร์ค" ยันให้สภาพัฒน์ไปศึกษาอีกรอบ ไม่ใช่เป็นการซื้อเวลา แต่ต้องการข้อสรุปว่าซี้อหรือเช่าดีกว่ากัน ด้าน "เทพเทือก" ยันทำแน่ "ชวรัตน์" ชี้ 40 ส.ว.ไม่เข้าใจการเมือง!

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าการจัดหารถโดยสารปรับอากาศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 4,000 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) สามารถดำเนินการได้หลายวิธี ทั้งการเช่า การซื้อ และการให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถ ซึ่งที่ผ่านมาการเสนอขอจัดซื้อรถ มีปัญหาในเรื่องเงินลงทุน ส่วนวิธีการเช่าขณะนี้ก็ถูกมองว่าไม่โปร่งใส โดยเฉพาะการที่ขสมก.ต้องเข้าไปแบกรับความเสี่ยงของรายได้แทนเอกชน และทำสัญญาเช่ารถผูกมัดระยะยาว 10 ปี ในขณะที่วิธีให้เอกชนเข้าร่วมการเดินรถ ซึ่งเอกชนจะต้องเป็นผู้จัดหารถและทำการเดินรถพร้อมกันซ่อมบำรุงรักษาด้วย โดย ขสมก.เป็นผู้กำหนดมาตรฐานรถ และการให้บริการ กลับไม่มีการพูดถึง  
"การให้เอกชนเข้าร่วมเดินรถเป็นรูปแบบการเดินรถโดยสารในปัจจุบัน  โดยขสมก.เป็นผู้กำกับดูแลและ ขสมก.ไม่ต้องเข้าไปรับความเสี่ยงในเรื่องการขาดทุน และไม่ต้องดูแลงานซ่อมแซมบำรุงรักษาที่ขสมก.ไม่ถนัดและมีรูรั่วค่อนข้างมาก และขสมก.รอเก็บค่าต๋งอย่างเดียว" แหล่งข่าวกล่าว
โครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ปฎิเสธไม่ได้ว่า มีผลประโยชน์ของฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงมีความพยายามผลักดันกันอย่างมากโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านที่มีมากเช่นกัน นอกจากนี้ การดำเนินโครงการมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนสูงมาก เพราะตัวเลขประมาณการณ์ผู้โดยสารเป็นการคาดการณ์ว่าน่าจะเกิดขึ้นที่ 350 คนต่อคันต่อวัน ซึ่งจะทำให้มีกำไร 1,100 บาทต่อคันต่อวันนั้น หากจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามคาด และเกิดการขาดทุนขึ้น ขสมก.จะเอาเงินจากไหนมาจ่ายค่าเช่ารถให้เอกชน
ทั้งนี้ ตามข้อเสนอ คาดว่าจะมีผู้โดยสาร 350 คนต่อคันต่อวัน เก็บค่าโดยสารแบบเหมา 30บาท  ดังนั้นรถ 4,000 คัน จะต้องมีคนซื้อตั๋วราคา 30 บาท รวม 1.4 ล้านคนทุกวัน ถึงจะไม่ขาดทุน หรือมีรายได้รวมประมาณ 42 ล้านบาทต่อวัน โดยหากขาดทุน ขสมก.ก็ต้องจ่ายค่าเช่าเท่าเดิมให้เอกชน ซึ่งกลายเป็นการรับประกันรายได้ให้เอกชน ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงสูง ในขณะที่ปัจจุบันรายได้จากการเดินรถทั้ง ขสมก. และรถร่วมฯ ขสมก. ทั้งปรับอากาศและรถร้อนรวมกัน ประมาณ 7,000 คัน มีรายได้ต่ำกว่า 32 ล้านบาทต่อวัน
สาเหตุเนื่องจากมีระบบขนส่งอื่นๆ ทั้งรถไฟฟ้า รถตู้ ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย จักรยานยนต์รับจ้าง  เรือ และรถนอกระบบอื่นๆให้บริการ โดยจำนวนผู้โดยสารรถร้อนของขสมก.เฉลี่ยประมาณ 388 คนต่อคันต่อวัน (เก็บค่าโดยสาร 7 บาท) จำนวนผู้โดยสารรถร้อนตามโครงการรถเมล์ฟรี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 499 คน ต่อคันต่อวัน
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเลขล่าสุดในการเสนอ ครม.เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 52 โครงการดังกล่าวมีมูลค่ารวม 10 ปี เป็นเงินถึง 133,560.8 ล้านบาท โดยมีต้นทุนค่าเช่ารถ 4,000 คัน ตลอด 10 ปี  64,853.2 ล้านบาท คิดต่อวันต่อคัน 4,442 บาท ประกอบด้วย ค่าเช่ารถโดยสาร 1,885 บาท ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษารถโดยสาร 2,250 บาทแล้วยังมีค่าระบบอิเลกทรอนิกส์  E-Ticket และ GPS 139 บาท ค่าประกันภัย 31 บาท ค่าภาษี 8 บาท ค่าใช้จ่ายบริหารจัดการ 129 บาท โดยผู้ให้เช่าจะต้องมีรถสำรอง 10% คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 6.725 % จากค่าเช่าเดิมตลอด 10 ปี รวม 67,992.20 ล้านบาท จากการคิดอัตราดอกเบี้ย 9%
นอกจากนี้ ขสมก.ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการอีก 4,706 บาทต่อวันต่อคัน หรือคิดรวม 4,000 คันตลอด 10 ปี คือ 68,707.6 ล้านบาท  ประกอบด้วย ค่าสนับสนุน 490 บาท ค่าสวัสดิการ 203 บาท ค่าบำเหน็ญบำนาญ กองทุน 170 บาท ค่าเชื้อเพลิง 2,011 บาท อื่นๆ 139 บาท ค่าใช้จ่ายกอง เขตเดินรถ 71 บาท ค่าใช้จ่ายสำนักงานใหญ่ 30 บาท และค่าพนักงานขับรถ 1,592 บาท

ขสมก.หนี้ท่วมไม่มีปัญญาซื้อ

สำหรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม ในการจัดหารถโดยสารด้วยวิธีการซื้อ ขสมก.ไม่สามารถดำเนินการได้เอง เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน รัฐจะต้องรับภาระด้านงบประมาณ โดยการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดซื้อรถโดยสาร หรือจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ ขสมก. ดำเนินการ ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายไว้คันละ 5,274,925 บาท ประกอบด้วย ราคาตัวรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ 5 ล้านบาท ระบบอิเล็กทรอนิกส์ 274,925 บาท รวมการจัดซื้อรถ 4,000 คัน ประมาณ 21,099.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ยังไม่รวมดอกเบี้ย ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา และ ขสมก.ต้องรับผิดชอบตลอดไป ซึ่งคาดว่าตลอด 10 ปี จะต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาประมาณ 32,850 ล้านบาท

“โสภณ”อ้างขาดทุนรอช้าไม่ได้

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีที่กลุ่ม 40 ส.ว.ได้มีการเสนอให้เพิ่มระยะเวลาการศึกษาโครงการรถเมล์เอ็นจีวี ออกไปเป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อให้มีความรอบด้านว่า ยังยึดแนวทางตามมติ ครม. ที่ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาเป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งถ้าหากทำตามข้อแนะนำจาก 40 ส.ว.แล้ว จะเป็นการซื้อเวลา และทำให้ ขสมก.ได้รับผลกระทบ เพราะขณะนี้ขสมก. ขาดทุนวันละ16 ล้านบาท
        "ถ้ายืดเวลาออกไป มันก็เป็นการซื้อเวลาเปล่าๆ และสิ่งที่จะเกิดขึ้น ขสมก. ต้องขาดทุนวันละ16 ล้านบาท จะมีใครไปดูแลเขาบ้าง และสิ่งที่ประชาชนได้รับโดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ต้องเสียโอกาสในการได้ใช้บริการรถใหม่อย่างรวดเร็วแน่นอน" นายโสภณกล่าว
          ส่วนข้อเสนอที่ต้องการให้องค์กรอื่น นอกจาก สศช.ศึกษาคู่ขนาน และเปรียบเทียบข้อมูลด้วยนั้น นายโสภณ กล่าวว่า สามารถทำได้ อยู่ที่ใครจะเริ่มดำเนินการ และเป็นข้อเปรียบเทียบว่าจะมีความต่างกัน

ส.ว.ยันตรวจสอบรัฐบาลตามหน้าที่

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ เมื่อเช้าวานนี้(4มิ.ย.) ถึงกรณีที่ นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมากล่าวหาว่ากลุ่ม 40 ส.ว.ทำหน้าที่เกินบทบาทตัวเอง พยายามไล่ล่ารัฐบาล โดยเฉพาะการออกมาคัดค้านโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันว่า ถือว่าเป็นหน้าที่ของส.ว.ที่จะต้องคอยกำกับตรวจสอบรัฐบาล และกลั่นกรองกฎหมาย ซึ่งจะไล่ล่าเฉพาะรัฐบาลชั่วเท่านั้น
ทั้งนี้ กรรมาธิการหลายคณะของวุฒิสภาต่างเห็นตรงกันว่าโครงการนี้ไม่โปร่งใส จึงมีการปรารภกันในหมู่คณะว่า หากรัฐบาลยอมให้โครงการนี้ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ก็จะพร้อมใจกันคัดค้านร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 และร่าง พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ ส่วนมติ ครม. ที่โยนให้คณะกรรมการสภาพัฒน์ไปศึกษาอีก 1 เดือน ว่าจะจัดซื้อ หรือเช่ารถเมล์เอ็นจีวีนั้น ถือว่าเป็นซื้อเวลา หรือนัยทางการเมือง ก็เพื่อเป็นเงื่อนไขในการผ่านร่าง พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทต่างหาก

จี้ปลดเงื่อนไข "ล็อกสเปก"

นายธวัช บวรวนิชกุล ส.ว.สรรหา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการคมนาคม วุฒิสภา กล่าวว่า การที่ครม.ตีกลับโครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน เพื่อให้ทางสภาพัฒน์ ไปศึกษาตัวเลขการจัดซื้อ และการเช่ารถนั้น เป็นเพียงการซื้อเวลาของรัฐบาลเท่านั้น ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา เพราะข้อเท็จจริงขณะนี้ทุกฝ่ายยอมรับแล้วว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ดี และมีการศึกษามานานแล้วว่า ขสมก. ควรใช้วิธีเช่า เนื่องจากการบริหารจัดการภายใน ขสมก.เองมีปัญหา รัฐบาลจึงควรกล้าหาญผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้น แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการประมูล เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนหลายรายสามารถเข้าร่วมแข่งขันราคาได้ ไม่ใช่กำหนดให้มีธนาคารค้ำประกันเป็นวงเงินสูงถึง 3,500 ล้านบาท เหมือนเช่นปัจจุบันนี้
การกำหนดเงื่อนไขไว้สูงเกินความจริง ถือเป็นการล็อกเสปก ให้ใครหรือไม่ กลับไม่มีการพูดถึงและให้ความสำคัญ รัฐบาลจึงควรให้มีการศึกษาวิธีการประมูลใหม่ว่า ทำอย่างไรจึงจะเปิดกว้างให้เอกชนเข้าร่วมประมูลอย่างเปิดเผย เพียงเท่านี้ก็จะสะท้อนราคาที่แท้จริงของตลาดได้แน่นอน
"หลักการถือว่าเป็นโครงการที่ดี แต่สาธารณะชนกำลังวิจารณ์ในเรื่องความไม่โปร่งใสมากกว่า ราคาที่แพง ก็เนื่องมาจากไม่เปิดกว้างในการประมูล หากลดให้บริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท สามารถเข้าร่วมประมูลได้เพียงเท่านี้ ก็จะมีเอกชนจำนวนมากแย่งกันเสนอราคา" นายธวัชกล่าว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกลุ่ม 40 ส.ว. ต้องการให้ยืดระยะเวลาศึกษาการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคันออกไปเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อความรอบคอบ และต้องการให้หน่วยงานอื่นเข้ามาศึกษาด้วยว่า ขณะนี้เราไม่ได้เจาะจงไปที่ตัวสำนักงาน เราส่งไปที่คณะกรรมการของสภาพัฒน์ ซึ่งตนคิดว่ามีทั้งผู้มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญและน่าจะมีเครือข่ายอยู่ หากให้เวลาเขา 1 เดือนไปศึกษา ถ้ามีความจำเป็นอะไรในแง่ที่จะต้องดึงฝ่ายอื่นๆ เข้ามาก็สามารถรายงานเข้ามาได้ เรายินดีอยู่แล้ว
ส่วนข้อเสนอการทำประชาพิจารณ์นั้น เห็นว่าเรื่องการปรับปรุงรถเมล์น่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะยอมรับได้ เพราะสภาพของการบริการและปัญหาของ ขสมก. ตนมั่นใจว่าไม่มีใครคิดว่า ควรจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปไม่จบไม่สิ้น ฉะนั้นถึงอย่างไรก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่มีความต้องการของคน คือรถที่ใหม่ สะอาด และบริการที่ดี ระบบที่สะดวก เชื่อมโยงกับขนส่งมวลชนอื่นได้ในอนาคต คิดว่าประเด็นเหล่านี้คงไม่มีความจำเป็นต้องมาตั้งคำถามว่า ควรทำหรือไม่ เหมือนกับติดอยู่ประเด็นเดียวว่า การจะได้รถที่จะมาเข้าสู่ระบบนี้ วิธีการที่จะจัดหามาวิธีใดดีที่สุด ก็เท่านั้นเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังมองว่าปัญหาอยู่ที่วิธีการเช่า หรือการซื้อ แต่ประชาชนมองว่า ปัญหาครั้งนี้อาจจะมีการแสวงหาประโยชน์ จะให้คำตอบอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประเด็นอยู่ที่ว่า การเช่าหรือการซื้ออันไหนคุ้มค่าที่สุด และไปวิธีไหนแล้วก็ต้องไปสู่กระบวนการที่โปร่งใสที่สุด สมมุติว่าในเชิงการบริหาร ดูแล้วว่าการซื้อดีกว่าเช่า ประเด็นไม่ได้หมายความว่า ซื้อราคาไหนก็ได้อยู่ดี ต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสว่าควรจะซื้อที่ราคาไหน และต้องไปตรวจสอบตรงนั้นอีกที
"เวลานี้ไม่ใช่เรื่องนักการเมือง เป็นเรื่องที่ให้ทางคณะกรรมการสภาพัฒน์ไปดูในเชิงเทกนิค การบริหารว่าวิธีการใดดีที่สุด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่าหากจะเดินหน้าโครงการนี้ เรื่องความโปร่งใสต้องมาเป็นอันดับแรก
เมื่อถามว่า ทำไมรัฐบาลไม่มีนโยบายในใจของตัวเอง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญที่จะตอบได้ว่า เช่าหรือซื้อ ดีกว่ากัน มันมีข้อดีข้อเสีย ซื้อก็เป็นสินทรัพย์ของเรา ขณะเดียวกันปัญหาที่ผ่านมา ระบบการซ่อมบำรุงดูแล ก็มีปัญหา อย่างที่เป็นอยู่ ถ้ามีคนมารับผิดชอบทุกอย่างได้ก็เป็นข้อดี ขณะเดียวกัน ความยืดหยุ่นความคล่องตัวน้อยกว่า ถ้าจะปรับเปลี่ยนอะไร ฉะนั้นมีทั้งข้อดี ข้อเสีย เวลาที่เขาศึกษามาก่อนหน้านี้ ก็ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่า วิธีไหนดีกว่ากัน
ส่วนที่ถูกมองว่ารัฐบาลยืดปัญหาดองไปเรื่อยๆ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เพียงเดือนเดียว ความจริงเรื่องนี้ค้างมานาน เรื่องนี้พูดกันมาตั้งแต่ต้นหรือกลางปีที่แล้ว และมีปัญหาเรื่องตัวเลขมาโดยตลอด เมื่อมาถึงรัฐบาลนี้ พอเสนอเข้ามา 2 สัปดาห์ เราไปไล่ดูตัวเลขในส่วนของการเช่า ก็ลดลงไปได้ ถึง 5 พันล้าน แต่ยังมีข้อสงสัยว่า ซื้อจะดีกว่านี้ไหม ต้องไปดู
เมื่อถามว่า พรรคภูมิใจไทยมีการตั้งแง่ว่า การไม่ผ่านโครงการนี้ เป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ อยากดึงเรื่องรถเมล์ไปทำเอง เพื่อเป็นผลงานของพรรค นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดถึงตรงนั้น ความจริงความคิดเรื่องการจะโอนให้ กทม. ถึงขั้นที่เคยมีมติครม.ไปแล้ว แต่ทำไม่สำเร็จเพราะมีปัญหาเรื่องหนี้สินที่ค้างอยู่ ส่วนการปฏิรูปองค์กรก็ต้องทำไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องระบบตั๋วต้องเปลี่ยน และจะมีการเสนอทางออกให้กับพนักงาน เพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนจำนวนคน พอสมควร เพื่อลดต้นทุน แต่ต้องมีโครงการรองรับตรงนี้ไปพร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยน ฉะนั้นขอยืนยันว่า การทำครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการเปลี่ยนรถอย่างเดียว ต้องเป็นการเปลี่ยนระบบของตัวบริการด้วย เหมือนกับที่ ครม.มีมติเรื่องรถไฟ ว่าต่อไปนี้ ตัวการรถไฟที่เป็นตัวแม่ ทำเรื่องของราง ส่วนการเดินรถต้องแยกองค์กรออกมา การบริหารเรื่องทรัพย์สินที่ดิน ก็ต้องแยกออกมา ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การขาดทุนลดลงได้เยอะ
เมื่อถามว่า ต้องมีการเคลียร์ใจกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าทุกอย่างมีเหตุผลชัดเจนอยู่แล้ว และทุกท่านก็ดูเข้าใจดี ในที่ประชุมครม.ไม่เห็นมีข้อโต้แย้งอะไร ก็ได้ข้อสรุป
"เรื่องตัวเลขที่มีการถกเถียงกัน เพราะมีความเห็นต่าง เช่น เรื่องดอกเบี้ย และเรื่องค่าซ่อม เป็นปัญหามาก เพราะฝ่ายหนึ่งอิงสภาพ อีกฝ่ายอิงเอาการศึกษาของทางสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งความจริงไม่ได้ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง แต่ศึกษาเรื่องการกำหนดค่าตอบแทน ว่ารัฐควรจะชดเชยเท่าไร กรณีที่รถเมล์ให้บริการฟรี หรือต่ำกว่าต้นทุน และยังมีปัญหาเถียงกันอีกว่า การซ่อม มาตรฐานทั้งเรื่องยาง และเรื่องอะไรต่างๆ มีความแตกต่างกัน ซึ่งยังเป็นตัวเลขที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ทางกระทรวงยืนยันว่า ได้ปรับลดลงมาถึงที่สุดแล้ว แต่ก็ยังมีคำถามว่า ซื้อถูกกว่าหรือไม่"
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า เป้าหมายสำคัญที่สุดของโครงการนี้คือ จะต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน ในแง่ของตัวขสมก. ก็จะต้องฟื้นขึ้นมาให้ได้ และมีบริการรถเมล์ที่ดี

"เทพเทือก"ยันไม่เลิกโครงการ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เหตุผลจริงๆ คือ ครม.ส่วนใหญ่เห็นว่าต้องช่วย ขสมก.ให้เขาสามารถปรับปรุงการทำงานของตนเองได้ และสามารถจัดหารถที่มีคุณภาพดีมาบริการให้กับประชาชน เพราะแม้จะมีรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ความต้องการในการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ของคนกทม. ก็ยังจำเป็นที่ต้องพึ่งขสมก.อยู่
"ขอให้มั่นใจว่าโครงการนี้ ทำแน่นอน แต่จะทำอย่างไรถึงจะดีที่สุด ตรงนี้เป็นปัญหาที่ ครม.ต้องรับผิดชอบร่วมกัน"นายสุเทพกล่าว
ส่วนที่มีการมองกันว่ารัฐบาลกำลังดึงเรื่อง เพื่อรอให้การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก่อน นายสุเทพ กล่าวว่าคงไปห้ามคนคิดไปต่างๆ นานา ไม่ได้ แต่ยืนยันว่ารัฐบาลทำทุกอย่างตรงไปตรงมา ครม. ทุกคนแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ แม้แต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ที่ปกติไม่ค่อยได้พูดเท่าไร ก็ยังแสดงความเห็น ดังนั้นไม่มีใครที่ไปดึงเกม หรือซื้อเวลาทั้งสิ้น แต่ทำตามหน้าที่ของแต่ละคน
อย่างไรก็ตาม นายสุเทพ ยืนยันว่า ไม่มีการไปเจรจานอกรอบกับนายเนวิน ชิดชอบ ก่อนที่จะมีมติครม.ออกมา
"พูดกันไปเรื่อย ไม่มีเลย เรื่องนี้มีการพิจารณาต่อเนื่องมาอยู่แล้ว และการพิจารณาในครม. ก็เป็นช่วงที่ครบเวลาที่นายกฯ กำหนดไว้ ไม่เกี่ยวกันเลย" นาสุเทพ กล่าว และว่า ไม่ห่วงว่าเรื่องนี้จะสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย และจะมาเอาคืนด้วยการตรวจสอบโครงการที่รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์เสนอ

"ชวรัตน์" ชี้ 40 ส.ว.ไม่เข้าใจการเมือง!

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การที่ ครม.มีมติให้สภาพัฒน์ไปศึกษา ไม่ใช่เรื่องการซื้อเวลา แต่เป็นความต้องการของนายกรัฐมนตรีที่อยากให้มีการศึกษาผลดีผลเสียของการเช่าหรือซื้อ แล้วจึงให้กลับมาเสนอใหม่อีกครั้งภายใน 30 วัน ซึ่งตนและพรรคภูมิใจไทยเองก็พอใจ และหากผลการพิจารณาของสภาพัฒน์ระบุว่าซื้อดีกว่าเช่า ก็ต้องยอมรับและทำตาม การให้มีรถวิ่งเพื่อประโยชน์ของประเทศจะซื้อหรือเช่าก็ได้ เพียงแต่ส่วนตัวยังไงก็ยังคิดว่าการเช่ารถจะดีกว่า เพราะสามารถควบคุมงบประมาณได้ ค่าใช้จ่ายค่าประกัน ค่าซ่อม ก็ไม่ต้องเสีย ถ้าดีดลูกคิดแล้วเห็นว่าคุ้มกว่าก็น่าสนใจ ดังนั้นเรื่อง พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ.งบประมาณกับเรื่องรถเมล์ 4 พันคัน ไม่มีความเกี่ยวพันกันเลย อย่าไปมองคนในแง่ร้าย และเรื่องนี้ไม่ใช่การยื่นหมูยื่นแมว มีแต่ยื่นโครงการให้กัน คิดว่ากลุ่ม 40 ส.ว.ไม่เข้าใจการเมือง
"เรื่องรถเมล์นั้นเกิดจากการที่ ขสมก.ต้องขาดทุนวันละ 15 ล้านบาท คิดเป็น 450 ล้านบาทต่อเดือน ขาดทุนสะสมอีก 4-7 พันล้านบาท การเสนอโครงการนี้เพื่อแก้ปัญหาของ ขสมก. และทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ในการได้ใช้รถเมล์ที่มีประสิทธิภาพ 40 ส.ว.คงไม่เข้าใจ เพราะที่บอกว่าให้รอไปอีก 3 เดือนนั้น ก็ไม่เข้าใจว่าให้รอไปทำไม มีประโยชน์อะไร และจะแตกต่างอะไรกับที่จะตัดสินใจเลย บางที 30 วันช้าไปเสียด้วยซ้ำ" นายชวรัตน์อ้าง.
กำลังโหลดความคิดเห็น