xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาทางการเมืองที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยา

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน ซึ่งผ่านการคัดสรรจากสภาผู้แทนราษฎร ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยจุดประสงค์หลักก็เพื่อปฏิรูปการเมือง อันเนื่องมาจากปัญหาทางการเมืองที่สังคมเผชิญอยู่ขณะนั้น 5 ประการด้วยกัน

ประการแรก ระบบการเมืองไทยก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2540 มักจะเป็นรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคที่เรียกว่ารัฐบาลผสม มีการต่อรองทางการเมืองสูง แต่ก็มีการออมชอมในหลายส่วน ส่งผลทางลบในทางการเมืองอย่างสำคัญคือ “นายกรัฐมนตรีไม่สามารถแสดงความเป็นผู้นำทางการเมืองได้”

ทั้งนี้เนื่องจากอำนาจต่อรองและแรงกดดันจากภายในพรรคของตนเองและพรรคร่วมรัฐบาล นายกรัฐมนตรีจึงทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ประสานผลประโยชน์ของฝ่ายต่างๆ ส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างแข็งขันและเข้มข้น รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงมีจุดประสงค์หลักที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีลักษณะเป็นฝ่ายบริหารที่แข็งแกร่ง โดยนายกรัฐมนตรีสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล แทนที่จะมีลักษณะเป็นรัฐบาลเป็ดง่อย (lame duck) ที่ไม่สามารถใช้อำนาจและแสดงความเป็นผู้นำได้อย่างเต็มที่

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญปี 2540 มุ่งเน้นในการแก้ไขปัญหาหลักซึ่งทำลายความชอบธรรมของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย นั่นคือ ปรากฏการณ์ที่มีการใช้เงินซื้อเสียงอย่างดาษดื่นในการเลือกตั้งทุกครั้ง การเลือกตั้งทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอ่อนลง และแทนที่จะเป็นการเลือกตั้งตามหลักสากลอันเป็นสิ่งที่พึงปรารถนากลับกลายเป็นการประกอบพิธีกรรมทางการเมืองเพื่อให้ครบถ้วนกระบวนวิธี

ประการที่สาม รัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.ร. ปี 2540 มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งเกิดขึ้นอย่างดาษดื่นในหลายรัฐบาล แต่เนื่องจากการขาดองค์กรที่สามารถจะป้องกันและปรามปบรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงดังกล่าว ทำให้เกิดการรั่วไหลของทรัพยากร การฉ้อราษฎร์บังหลวงที่กล่าวมานั้นกระทำโดยการใช้งบประมาณแผ่นดินโดยมีผลประโยชน์เป็นเชิงร้อยละจากการจัดซื้อจัดจ้างและก่อสร้าง เช่น ร้อยละ 20 ของโครงการ

ประการที่สี่ มีการละเมิดกฎหมายและการกระทำที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ด้วยการแทรกแซงการบริหารงานของข้าราชการประจำในการโยกย้ายแต่งตั้ง การเล่นพรรคเล่นพวก ฯลฯ ทำให้เกิดการเสียขวัญและกำลังใจในหมู่ข้าราชการประจำซึ่งก็มีปัญหาทางการเมืองภายในองค์กรของตนเองอยู่แล้ว

ประการที่ห้า ปัญหาเรื่องการช่วงชิงตำแหน่งบริหารในคณะรัฐมนตรี จนเกิดการต่อรอง การออมชอม ต่างมุ่งหมายตาจ้องเอากระทรวงสำคัญที่จะนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาให้ เช่น กระทรวงคมนาคม อุตสาหกรรม พาณิชย์ และกระทรวงที่มีอำนาจ เช่น กลาโหม มหาดไทย ต่างประเทศ จนแบ่งกระทรวงออกเป็นระดับต่างๆ เสมือนหนึ่งการแยกแยะคุณภาพสินค้า

จากปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นผู้ร่างรัฐธรรมนูญพยายามจัดทำรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาต่างๆ โดย

1) กรณีนายกรัฐมนตรีได้มีระบบการเลือก ส.ส. แบบสัดส่วนตามบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้หัวหน้าพรรคดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ในแง่ Party List กลายเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงแบบอ้อม

ก) การเสนอชื่อและการลงมติผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสภา เป็นการประกาศให้ทราบถึงการสนับสนุนของประชาชนผ่านตัว ส.ส. ผู้ลงมติ เมื่อรวมทั้งจำนวนเสียงที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ บวกกับจำนวนเสียงที่ลงมติในสภา ซึ่งสะท้อนถึงจำนวนประชากรที่เลือก ส.ส. ผู้นั้น นายกรัฐมนตรีก็จะมีเสียงท่วมท้นจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

ข) ข้อกำหนดที่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. และนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. ต้องลาออกจากสมาชิกภาพในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทำให้อำนาจการต่อรองทางการเมืองอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรี เพราะยุบสภาเมื่อใดบุคคลที่เป็นรัฐมนตรีซึ่งหมดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะไม่เหลือตำแหน่งทางการเมือง ยกเว้นตำแหน่งในพรรคเท่านั้น อำนาจสูงสุดจึงตกอยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจในการยุบสภา

ค) การกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมือง 90 วันนั้น ทำให้อำนาจการต่อรองของหัวหน้าพรรค รวมทั้งผู้ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีมีมาก เพราะอาจจะประกาศยุบสภาโดยอาจจะไม่ส่ง ส.ส. คนเดิม ในขณะที่อดีต ส.ส. ผู้นั้นก็ไม่มีโอกาสเปลี่ยนพรรคและลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะข้อกำหนด 90 วันซึ่งทำให้เปลี่ยนพรรคไม่ได้ และนี่คือการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีคุมไม่ให้ลูกพรรคและ ส.ส. บีบคั้นนายกรัฐมนตรี

ง) การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ต้องใช้คะแนนเสียง 2 ใน 5 จากจำนวน ส.ส. ซึ่งในกรณีของรัฐมนตรีใช้เพียง 1 ใน 5 และในกรณีที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย การยื่นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจจะกระทำได้โดยต้องยื่นเพื่อการดำเนินการถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีด้วย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจล้นเหลือ โดยจะอยู่ภายใต้การควบคุมโดย ป.ป.ช. ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม และวุฒิสภาเท่านั้น

2. รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้มีการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นเพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม นอกจากนั้นก็ยังมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือที่เรียกว่าองค์กรอิสระ ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวก็คือการแก้ปัญหาการซื้อเสียง การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง การละเมิดกฎหมาย การลุแก่อำนาจรังแกประชาชน

3. ได้มีการส่งเสริมให้มีการเมืองภาคประชาชนมากยิ่งขึ้น โดยเริ่มต้นจากการให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชนอย่างเต็มที่ในระดับสากล ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอร่างกฎหมายในหมวด 3 และ 5 ของรัฐธรรมนูญ มีสิทธิการเริ่มต้นกระบวนการการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการกระจายอำนาจ ฯลฯ

รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการนำมาปฏิบัติเป็นเวลาเกือบ 10 ปี จนกระทั่งมีการยึดอำนาจทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และจากนั้นก็มีการแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ออกมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยในการร่างนั้นใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นหลัก มีการเพิ่มเติมหมวดที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน และมีการเพิ่มเติมเพื่อให้นักการเมืองอยู่ในกรอบมากยิ่งขึ้น มีการเน้นถึงหลักธรรมาภิบาลและจริยธรรม แต่โดยทั่วไปก็ยังมีลักษณะคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการแก้ไขระบบการเลือกตั้ง ส.ส. จากเขตเดียวคนเดียวมาเป็นเขตละ 3 คน และวุฒิสมาชิกมีการเลือกตั้งส่วนหนึ่งและสรรหาส่วนหนึ่ง ฯลฯ

อันเป็นที่ทราบอยู่แล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550 มีรัฐบาลภายใต้พรรคพลังประชาชน โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาในปัจจุบันเป็นรัฐบาลผสมโดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ข้อที่ต้องพิจารณาก็คือ กว่าสิบปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 และต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 ปัญหาที่พยายามแก้ไขมาตั้งแต่ต้นได้แก้ไขเยียวยาสัมฤทธิผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งเจ้าของอำนาจอธิปไตยต้องพิจารณาและวิเคราะห์อย่างวัตถุวิสัยดังต่อไปนี้ คือ

1. นายกรัฐมนตรีสามารถแสดงความเป็นผู้นำทางการเมืองได้หรือไม่ เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ได้หรือไม่ อยู่ภายใต้อำนาจการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่อย่างไร อยู่ภายใต้การกดดันของสมาชิกในพรรคเดียวกันมากน้อยเพียงใด

2. การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมหรือไม่ หรือการใช้เงินซื้อเสียง หรือการซื้อสิทธิขายเสียงยังเป็นอยู่เช่นเดิม

3. การละเมิดกฎหมาย ลุแก่อำนาจ ยังมีการกระทำอยู่หรือเลิกโดยเด็ดขาด

4. การฉ้อราษฎร์บังหลวงจากงบประมาณแผ่นดิน และจากโครงการใหญ่ๆ หมดไปจากสังคมไทยหรือยังมีอยู่เช่นเดิม

5. กระบวนการทางการเมืองเป็นไปโดยผลประโยชน์เพื่อชาติและสังคมเป็นใหญ่ หรือมีการใช้กลเม็ดเด็ดพรายเอาชนะคะคานทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม

คำถามที่กล่าวมาทั้งหมด คือคำถามเพื่อทดสอบว่าการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขปัญหาต่างๆ จากรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
กำลังโหลดความคิดเห็น