ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
ช่วงวันที่ 24-27 มิถุนายน กลุ่มการเมืองคนเสื้อแดงที่มี “ทักษิณ ชินวัตร” อยู่เบื้องหลัง พยายามจะสร้างกิจกรรมให้เข้ากับวันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เพื่อให้ดูเสมือนมีเจตนาเดียวกันกับคณะราษฎร ที่เคยก่อการเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2475 ยึดอำนาจการปกครอง และเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ที่ผ่านมา แกนนำคนเสื้อแดง ทั้งในระดับผู้บงการ ผู้ใช้ หรือผู้จ้างวาน พยายามกล่าวอ้าง หรือยก “ทักษิณ ชินวัตร” –นายใหญ่ของตน ขึ้นไปเทียบเคียงกับ “ปรีดี พนมยงค์” แกนนำคณะราษฎร เหมือนเช่นที่ “ทักษิณและพวก” ชอบยกตัวเองขึ้นไปเทียบกับคนดีผู้ยิ่งใหญ่หลายๆ คนอย่างเกินความเป็นจริง
ในโอกาสคล้ายวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 เมื่อมีความพยายามที่จะยกเอา “ทักษิณ ชินวัตร” ขึ้นไปเปรียบกับ “อาจารย์ปรีดี พนมยงค์” ก็ควรที่จะมีการวิเคราะห์และวิพากษ์ เปรียบเทียบให้สังคมไทยเห็นความเป็นจริง อย่างน้อยในประเด็น ดังต่อไปนี้
1) ภูมิหลังชีวิตของทักษิณ ชินวัตร เหมือนหรือต่างจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อย่างไร
ครอบครัวชาวนาอยุธยาของอาจารย์ปรีดี แตกต่างจากครอบครัวพ่อค้านักธุรกิจและนักการเมืองของทักษิณอย่างไร ? หล่อหลอมโลกทัศน์ ค่านิยม และจิตใจที่แตกต่างกันอย่าวไร ?
อาจารย์ปรีดี จบปริญญาเอกด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนจะกลับมาทำงานรับราชการตลอดชีวิต แต่ทักษิณจบปริญญาเอกด้านอาชญวิทยา (วิชาเกี่ยวกับอาชญากรรม) จากมหาวิทยาลัยแซมฮิวสตันสเตต สหรัฐอเมริกา กลับมารับราชการตำรวจ แล้วก็ลาออก ไปทำมาหากินในธุรกิจส่วนตัว
อาจารย์ปรีดี มีประวัติในการทำงานเพื่อประเทศชาติส่วนรวมยาวนานตลอดชีวิต ไม่เคยมีมลทินในเรื่องทุจริตโกงกินเลย อาทิ เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำเสรีไทย เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าแผ่นดิน ในขณะที่ทักษิณ เมื่อลาออกจากราชการตำรวจ ก็ไปทำธุรกิจส่วนตัว เคยถูกคดีเช็คเด้ง เคยถูกฝรั่งที่ทำธุรกิจร่วมกันฟ้องร้องกล่าวหาว่าโกง ทักษิณไม่เคยแสดงบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยร่วมกับประชาชนมาก่อนเลย สามารถร่ำรวยขึ้นมาได้ก็ด้วยธุรกิจผูกขาดที่ได้สัมปทานไปจากรัฐ อาทิ วิ่งเต้นกับเผด็จการทหาร รสช.จนได้สัมปทานดาวเทียม เป็นต้น และเมื่อเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อผลประโยชน์ให้บริษัทโทรคมนาคมของตนและครอบครัวมหาศาล แล้วยังหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษีในการขายกิจการให้ต่างชาติอีกด้วย
พูดง่ายๆ ว่า ก่อนจะเป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์ปรีดีได้ต่อสู้และทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของแผ่นดินมาโดยตลอด ในขณะที่ทักษิณนิยมเรื่องวิ่งเต้น ทำธุรกิจ แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนและครอบครัว
2) พฤติกรรมระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ควรจะได้ศึกษาเปรียบเทียบว่า ทั้งตัวทักษิณและคนใกล้ชิดแวดล้อม ได้มีการใช้อำนาจรัฐ “ฉ้อราษฎรและบังหลวง” หรือไม่อย่างไร มหาศาลเพียงใด เพราะว่าอาจารย์ปรีดีไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยในเรื่องนี้เลย
3) พฤติกรรมของหลังบ้าน หรือภริยาและคนในครอบครัว
แม้มีผู้พยายามจะอ้างว่า ภริยาของอาจารย์ปรีดีและทักษิณ สืบเชื้อสายมาจากสกุล “ณ ป้อมเพชร์” เหมือนกัน แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ศุขปรีดา พนมยงค์ บุตรชายอาจารย์ปรีดี เปิดเผยว่า มีความสัมพันธ์กันเพียงเป็นญาติห่างๆ เท่านั้น สมัยก่อนใครเป็นญาติกันแล้วไม่มีนามสกุลก็มาขอใช้ แต่ก็ดีเหมือนกัน เห็นว่าคุณพจนีย์สนใจบริเวณตำบลป้อมเพชรที่อยุธยา ไปซื้อที่บูรณะ ก็ควรจะมีการศึกษาและเปรียบเทียบต่อไปด้วยว่า พฤติกรรม การวางตัว การกำหนดบทบาทของตนเองในระหว่างที่สามีเป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยาของอาจารย์ปรีดี ไม่เคยก้าวก่ายการทำงานของสามี ให้เป็นที่ติฉินนินทา ได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว เป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างที่พึงประสงค์ของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นแบบอย่างของภรรยานักการเมืองที่ดี โดยมีชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สมถะเรียบง่าย แม้ยามจากโลกไปก็ไม่สร้างความลำบากให้กับลูกหลาน ญาติมิตร ทิ้งคำสั่งเสียว่า ไม่ให้จัดพิธีการใดๆ ไม่ยอมรับเกียรติ ไม่รบกวนญาติมิตรทั้งปวง เพียงให้นิมนต์พระภิกษุมาแสดงธรรม งานจัดพิธีไว้อาลัยมีความเรียบง่ายที่สุด โดยมีเพียงภาพท่านผู้หญิงอยู่ในห้องโถงของสถาบันปรีดี และเปิดโอกาสให้ญาติมิตรเข้าแสดงความอาลัยโดยไม่ต้องมีพวงหรีดหรือเงินทำบุญใดๆ เป็นแบบอย่างให้เห็นว่า ไม่มีอะไรจะนำไปสู่ปรโลกได้ เว้นแต่คุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญไว้แต่หนหลัง
ท่านผู้หญิงพูนศุข เคยให้สัมภาษณ์ว่า “นายปรีดีไม่เคยให้ของขวัญมีค่าแก่ฉันเช่นสามีหลายท่านกระทำกัน แต่ภายหลังวายชนม์ฉันค้นเอกสารได้พบพินัยกรรมที่นายปรีดีเขียนด้วยลายมือตนเอง ลงวันที่ 2 มกราคม 2509 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดดิฉัน จึงทำให้ฉันได้รับบำเหน็จตกทอดนายปรีดี เป็นเงิน 123,960 บาท ขณะที่มีชีวิตอยู่ นายปรีดีได้รับบำนาญเดือนละ 4,123 บาท ดังนั้น ฉันจึงได้รับบำเหน็จตกทอด 30 เท่าของบำนาญ เมื่อฉันรำลึกถึงความหลังคราใดก็รู้สึกซาบซึ้งที่นายปรีดีได้เสียสละและไม่เห็นแก่ตัว ให้ความไว้วางใจแก่ฉันอย่างเต็มที่ และอดภูมิใจไม่ได้ว่าเป็นภริยานักการเมืองที่มุ่งบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎร โดยมิเคยฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือกอบโกยผลประโยชน์เพื่อตัวเองและครอบครัวเลย”
ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับท่าที บทบาท และคำพูดของภริยาทักษิณ จากปากของนายเสนาะ เทียนทอง อดีตประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีทักษิณ เปิดเผยไว้ในหนังสือ “รู้ทันทักษิณ4” เล่าว่า ตนเคยพูดและเตือนกับคุณหญิงอ้อว่า “น้อง ถ้ามันได้มาอีกแสนล้านเอาไปทำไม” เขาพากันตอบว่า “ก็รู้ แต่ในเมื่อเล่นการเมืองมันต้องควักเงิน ก็ต้องถือว่าเป็นธุรกิจ” เคยเตือนหนักๆ ถึงขั้นว่า “ในอนาคตถ้ามันจะเดือดร้อนหนักๆ คือคนเป็นหัวนะ” เขาก็ตอบอย่างไม่สะทกสะท้านว่า “ก็รู้ ถ้าพี่ทักษิณจะลงต้องให้พรรคไทยรักไทยมีอำนาจอย่างน้อยสองสมัยถึงจะปลอดภัย”
4) เปรียบเทียบอุดมการณ์จากพฤติกรรม
การจะรู้ว่าอุดมการณ์ของอาจารย์ปรีดีและทักษิณเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ไม่ใช่ไปดูคำพูดที่เขาพูดถึงตัวเอง แต่ต้องดูที่การกระทำจริงๆ เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
ทักษิณแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างไร? พยายามขายสมบัติชาติไปเป็นของเอกชนในตลาดหุ้นอย่างไร? พยายามผูกขาดอำนาจการเมือง แทรกแซงครอบงำระบบตรวจสอบอย่างไร? แทรกแซงและยึดครองสื่ออย่างไร? วิ่งเต้นเสนอสินบนแทรกแซงอำนาจตุลาการอย่างไร? จะอ้างว่าตนเองเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ ?
เปรียบเทียบกับอาจารย์ปรีดี ที่พยายาม “อภิวัฒน์ประเทศไทย” พยายามกระจายอำนาจการปกครอง วางเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนทุกคน (ไม่ใช่นโยบายแบบเอาหน้าประชานิยม) สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อสร้างพลเมืองที่รู้เท่าทันการเมืองการปกครองประเทศ
แม้แต่ในงานการต่างประเทศ อาจารย์ปรีดีก็เป็นผู้เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ประเทศชาติเสียเปรียบ ในขณะที่ทักษิณเป็นนายกฯ ได้ไปตกลงทำสัญญากับต่างประเทศ เช่น สัญญาค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา เอื้อประโยชน์ธุรกิจเอกชนของครอบครัวและพรรคพวก ส่งผลกระทบต่อประชาชนตัวเล็กตัวน้อยในภาคการเกษตร เป็นต้น
5) พฤติกรรมเมื่อพ้นจากอำนาจไปอยู่ต่างแดน
ควรพิจารณาเปรียบเทียบว่า เมื่อทักษิณและอาจารย์ปรีดีพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไปพำนักอาศัยอยู่ต่างประเทศแล้ว แต่ละคนมีพฤติกรรมอย่างไร ส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศบ้านเกิดอย่างไร?
อาจารย์ปรีดีไม่เคยปลุกระดม จัดซื้อจัดตั้งประชาชน หรือสร้างขบวนการป่วนบ้านป่วนเมือง เพื่อหวังจะได้อำนาจรัฐกลับคืนมาใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ต้องติดคุกและไม่ถูกยึดทรัพย์
อาจารย์ปรีดีไม่เคยโจมตีประเทศไทย ไม่เคยโจมตีทำลายระบบยุติธรรมหรือศาลยุติธรรมของประเทศไทย และที่สำคัญ ไม่เคยพูดจาจาบจ้วงล่วงละเมิด หรือกดดันพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดิน มุ่งให้เกิดการลบล้างความผิดของตนเอง
แม้จะอยากกลับบ้าน แต่อาจารย์ปรีดีก็นึกถึงส่วนรวมมากกว่าตัวเอง ดังที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเขียนไว้ในหนังสือชื่อ “ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น” เล่าว่า “อยากกลับบ้าน แต่ถ้าเรากลับมาแล้ว บ้านเมืองวุ่นวาย ต้องมีคนไม่ชอบ แล้วอย่างนี้จะกลับได้ยังไง อยากให้บ้านเมืองสงบ คิดว่าอยู่ต่างประเทศดีกว่า ใจน่ะอยากกลับ ถ้ากลับมาไม่สงบ ก็เป็นคนไม่รักชาติ เราต้องการให้ชาติบ้านเมืองมีความสงบรุ่งเรือง...”
น่าคิดว่า ทำไมอาจารย์ปรีดีอยู่ต่างประเทศ เสียสละ เพื่อบ้านเมืองส่วนรวมเดินหน้าต่อไปได้โดยสงบสุข แต่ทักษิณอยู่ต่างประเทศ ยังคงปราศรัยปลุกระดม ชักใย เคลื่อนไหว ทำให้บ้านมืองตกอยู่ในวิกฤติ ติดหล่มการเมือง เกิดจลาจล สงครามการเมือง
6) จุดจบของชีวิต จะเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
แม้ถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว อาจารย์ปรีดียังคงได้รับการเคารพยกย่อง เชิดชูเกียรติอย่างสูงยิ่ง เป็นที่จดจำรำลึกของอนุชนรุ่นตลอดไป ในฐานะ “รัฐบุรุษอาวุโส”
แต่ทักษิณจะมีจุดจบอย่างไร ? จะเป็นผู้หนีอาญาที่ไร้แผ่นดินอยู่? หรือจะกลับมาเรืองอำนาจ สถาปนาระบอบทักษิณยึดครองประเทศไทยอีกครั้ง? จะถูกสังหาร? หรือจะยอมจำนน หรือจะฆ่าตัวตายด้วยความรู้สึกละอายเหมือนอดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ ? ฯลฯ
ประเด็นเหล่านี้ เป็นเพียงบางส่วนที่ควรจะมีการวิเคราะห์วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาต่อไป โดยผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ สังคม และการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง
จึงน่าสนใจยิ่งที่ “ปัญญาชนสยาม” อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้รู้จักอาจารย์ปรีดีอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจทักษิณอย่างถึงแก่น จะมาวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ เปรียบเทียบชีวิต อุดมการณ์ และจุดจบของทักษิณ ชินวัตรและปรีดี พนมยงค์ ในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ที่โรงแรมอิมพีเรียลธารา สุขุมวิท 26 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ในงานดังกล่าว ยังจะมีการเสวนาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง “แม้ไม่มีแผ่นดินอยู่ ก็ต้องรู้ทัน” โดยคณะผู้เขียนหนังสือ “รู้ทันทักษิณ 5 สงครามการเมือง” จะมาเป็นผู้นำการเสวนาในวันนั้นได้แก่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ผู้เขียนบทความเรื่อง “คนอื่นเรียกนายกฯ แต่เราเรียกนักโทษ”, พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร ผู้เขียน“สงครามอนารยชนของทักษิณ”, นพ.เกษม ตันติผลาชีวะ ผู้เขียน “เหลี่ยมหนา หรือบ้ากันแน่”, คุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้เขียน “รู้จักพันธมิตรฯ รู้ทันพิษคนเสื้อแดง”, ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล ผู้เขียน “ต้นไม้ประชาธิปไตย : จะโตหรือตายก็ด้วยไทยทุกคน”, ผศ.ทวี สุรฤทธิกุล ผู้เขียน “ตำรวจไทยในสงครามประชาชน”, คุณสุทิน วรรณบวร ผู้เขียน “Air war : สงครามสื่อ ในสงครามการเมือง” โดยผมเป็นบรรณาธิการ/ผู้เขียน และคุณสันติสุข มะโรงศรี ผู้เขียน “ประเทศไทย แพ้ไม่ได้” จะร่วมกันเป็นผู้ดำเนินการเสวนาด้วย ใครสนใจก็ไปร่วมรับฟังได้
ทำไม.. ถึงไม่มีแผ่นดินอยู่ แล้วยังต้องรู้ทัน ?
เพราะว่าสงครามการเมืองยังไม่ยุติ เพราะว่าทักษิณยังไม่วางมือ เพราะว่าระบอบทักษิณยังพยายามจะกลับเข้ามาสถาปนาเหนือราชอาณาจักรไทยต่อไป และประเทศไทยจะยังไม่สงบต่อไป ใช่หรือไม่?
อาจจะเป็นอย่างที่ผู้เขียนหลายๆ ท่าน วิเคราะห์ตรงกันอย่างไม่ได้นัดหมายว่า ตราบใดที่ทักษิณยังอยู่ สงครามการเมืองก็ไม่มีวันเลิกรา
หรืออย่างที่ “เปลว สีเงิน” เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ชัดๆ ว่า “ไม่ตาย ไม่จบ”!
เกริ่นได้แค่ว่า งานนี้ จะเป็นการวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ชะตากรรมของประเทศไทย ที่ตกอยู่ในสงครามการเมืองของระบอบทักษิณ ว่ามีที่มา ที่ไป กลยุทธและกลวิธีการต่อสู้ เล่ห์เหลี่ยมการสงคราม ตลอดจนอนาคตและจุดจบของสงครามการเมืองครั้งนี้ อย่างตรงไปตรงมา
ในงานวันที่ 23 มิ.ย.นี้ จะขาดไปบ้าง ก็แต่ผู้เขียนบางท่านที่ติดภารกิจ เช่น นพ.ประเวศ วะสี ผู้เขียนเรื่อง “จากมหาสยามยุทธ สู่การเยียวยาฟื้นฟู”, คุณเปลว สีเงิน ผู้เขียน “กบฎอสัตยชน : ไม่ตาย ไม่จบ?”, คุณอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้เขียน “จาก “นายกรัฐมนตรีของเรา” สู่ “นายกรัฐมนตรีของคนเสื้อแดง” : “ดีเอ็นเอระบอบทักษิณ” ยังไม่ตาย!” และดร.พิรงรอง รามสูต ผู้เขียน “การสอดแนมเฝ้าระวังกับสงครามการเมือง”
แต่ทั้งหมดนั้น จะอยู่กันครบ ในหนังสือ “รู้ทันทักษิณ 5 สงครามการเมือง” ในการรวมพลครั้งใหม่ล่าสุดของคนรู้ทันทักษิณ !