xs
xsm
sm
md
lg

จี้วุฒิฯ ยื่นกระทู้ถามจุดยืน “มาร์ค” กม.นิรโทษฯ ฉบับภูมิใจห้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไพบูลย์ นิติตะวัน
ป.ป.ช.ภาคประชาชนร้องวุฒิฯ สอบจุดยืนนายกฯ ต่อร่าง กม.นิรโทษกรรมฉบับภูมิใจห้อย ส่อขัด รธน.เจตนารมณ์หวังช่วยตำรวจ-นักการเมืองให้พ้นผิด ชี้อาจใช้เล่ห์เหลี่ยมแปรญัตตินิรโทษฯ นักการเมืองต้องคดีหลัง 19 ก.ย.49 เป็นต้นมาด้วย



วันนี้ (21 ส.ค.) ที่รัฐสภา ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบภาคประชาชน (ป.ป.ช.ภาคประชาชน) พร้อมกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนผู้คัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมกว่า 20 คน ยื่นหนังสือต่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมาธิการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบการดำเนินการของรัฐ และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ขอให้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี กรณีที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-3 ธ.ค.2551 และระหว่างวันที่ 26 มี.ค.-14 เม.ย.2552 โดยเห็นว่าเป็นการส่อพฤติการณ์ซ่อนเร้นในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้กระทำผิดอย่างขัดหลักต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม จึงขอให้นายกฯแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่า จะสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เครือข่ายฯ ยังอ่านแถลงการณ์คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว เรื่อง “หยุด! ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม หยุด! อ้างความสามัคคี หยุด! ย่ำยีกระบวนการยุติธรรม” ระบุว่าการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ส่อเจตนาสร้างความสับสนแก่สังคม ส่อเจตนาแอบอ้างความสามัคคี เพื่อช่วยเหลือนายตำรวจและนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ให้พ้นความผิดอาญาร้ายแรง และอาจมีการใช้เล่ห์เหลี่ยมแก้ไขเพิ่มเติม สาระสำคัญของร่างกฎหมายในชั้นแปรญัตติ เพื่อนิรโทษกรรมแก่นักการเมืองผู้ต้องโทษ และผู้ต้องหาในคดีต่างๆ ทั้งหมด รวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และบริวาร นับแต่หลัง 19 กันยาฯ 49 ตามแนวทางของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติที่พรรคเพื่อไทย เคยเสนอเข้าสภาก่อนหน้านี้ ขอเรียกร้องให้นายกฯ แสดงท่าทีให้ชัดเจนโดยไม่เลี่ยงบาลีว่า เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ และต้องแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม โดยการส่งสัญญาณให้พรรคภูมิใจไทย ตระหนักในนโยบายรัฐบาล ที่ให้สัญญาประชาคมไว้ว่าจะยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม

ด้าน นายไพบูลย์กล่าวว่า จะดำเนินการในเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เบื้องต้นเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรา 6 นิรโทษคดีแพ่ง อาญา วินัย ผู้สั่งการหรือผู้รับคำสั่งในการปฏิบัติการณ์ ถือว่าขัดต่อหลักการ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุม หากมีการนิรโทษกรรม เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จะทำให้ประชาชนหรือผู้เสียหายเสียสิทธิในการได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงอาจขัดรัฐธรรมนูญด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น