“เพื่อไทย” เชื่อ “ภูมิใจไทย” เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีวาระซ่อนเร้น หวังโดดเดี่ยว “แม้ว” ชี้ นิรโทษกรรมไม่ใช่ทางออกแนะ ต้องเสนอเป็นวาระแห่งชาติย้อน “ชวรัตน์” ทำผิดกฎหมายมาตรา 100 กี่ครั้งแล้ววอนจับตาการใช้อำนาจของรัฐบาล แฉ “ภูมิใจไทย” เขียนร่าง พ.ร.บ.แบบลวกๆ ขณะที่ ส.ส.เพื่อแผ่นดิน อ้างร่วมเสนอลงชื่อร่างนิรโทษ ชี้ชาวบ้านเรียกร้องมาเชื่อ ไม่กระทบเสถียรภาพรัฐบาล
วันนี้ (20 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา กล่าวถึงกรณีที่พรรคภูมิใจไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 และระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึงวันที่ 14 เมษายน 2552 พ.ศ. ...เข้าสู่การพิจารณาของสภาว่า เชื่อว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวน่าจะมีเรื่องซับซ้อนซ่อนเร้นแอบแฝงผลประโยชน์ทางการเมือง ต้องมองเรื่องนี้ให้ลึกๆ อย่ามองแค่ชั้นเดียว และคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องเพราะพฤติกรรมสะท้อนให้เห็นส่วนตัวเชื่อว่าแนวโน้มการเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพื่อต้องการโดดเดี่ยว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมา การเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เหมือนกับพวกผีที่กลัวพระ กลัวน้ำมนต์ คนพวกนี้เป็นได้เพียงเหลือบหรือพวกบ้าอำนาจเท่านั้น
นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.ที่พรรคภูมิใจไทยเสนอนั้นมีเจตนาต้องการปรองดอง แต่เชื่อว่ามีวาระซ่อนเร้น ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชาตินั้นเริ่มขึ้นหลังการปฎิวัติ 19 กันยา ที่มีการตั้งคณะบุคคลเข้าไปรักษาอำนาจต่ออีก 9 ปีในส่วนขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เกิดกระบวนการ 2 มาตรฐานทางกฎหมาย การจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหา หากมีเจตนาจริงใจในการแก้ไขปัญหาต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 299 ที่เกี่ยวข้องในการรักษาอำนาจของ 9 องค์ให้ครบคลุม ถือเป็นหัวใจของความขัดแย้ง ทั้งสีเหลืองและสีแดงนั้น ล้วนเป็นผลพวงจากการปฏิวัติทั้งสิ้น
นายสงวน กล่าวต่อว่า การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นเป็นการตัดตอนทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่ยิ่งสร้างปัญหาขึ้น ยิ่งพรรคภูมิใจไทยเป็นแกนนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ยิ่งมีข้อสงสัยมากขึ้น เพราะหากอ้างว่าต้องการให้เกิดความสามัคคี ความสมานฉันท์ที่แท้จริง แต่ทำไมถึงไม่มีการหารือพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นแกนนำรัฐบาลก่อนที่จะเสนอ ทั้งๆที่ควรพูดคุยในพรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภาก่อน หาก 2 ฝ่ายเห็นด้วยแม้ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยก็เชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ แต่หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วยก็เป็นไปได้ยาก ดังนั้นหากมีความจริงใจหรือมีเจตนาที่จะแก้ปัญหาต้องเสนอให้เป็นวาระแห่งชาติ มีเวทีพูดคุยกันจากทุกฝ่ายให้เกิดความเข้าใจเสียก่อน
นายสงวน กล่าวอีกว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า การที่พรรคภูมิใจไทยประกาศเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเพราะต้องการให้เกิดความสงบ สามัคคี สันติ แต่พฤติกรรมที่พรรคภูมิใจไทยทำ โดยสั่งให้มีการตั้งโต๊ะล่าชื่อประชาชนคัดค้านการถวายฎีกาของคนเสื้อแดงนั้น ทั้งๆที่การเข้าชื่อถวายฎีกาก็เพื่อหาทางออกให้ประเทศแล้วแบบนี้จะสมานฉันท์ได้อย่างไร การที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างฉบับนี้มีเจตนาหรือต้องการอะไรกันแน่ อย่างไรก็ตาม ขอเรียกร้องให้พรรคภูมิใจไทยไปตรวจสอบว่า หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกระทำผิดกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 100 กี่เรื่องแล้ว ถ้าจะขอนิรโทษกรรมนั้นจะรวมถึงความผิดตามมาตรา 100 ของ ป.ป.ช.ด้วยหรือไม่
นายสงวน กล่าวด้วยว่า ขอให้ประชาชนและทุกฝ่ายจับตาให้ดี เมื่อรัฐบาลใช้อำนาจตามกฎหมายกับข้าราชการประจำและประชาชน ก็ถึงเวลาที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายในการต่อสู้เพื่อเปิดโปงการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องเพื่อเรียกร้องให้มีการใช้อำนาจตามกฎหมายมาแก้ปัญหาของบ้านเมือง ดังนั้นขอให้จับตาการใช้อำนาจของรัฐบาลและการทุจริตที่ไม่กลัวกฎหมาย โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยที่ตั้งอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณท้องถิ่นซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ ส่อขัดกฎหมาย รวมถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีตั้งผู้รักษาราชการแทนผบ.ตร.ทั้งๆที่ ผบ.ตร.ยังอยู่ ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ
ด้าน นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวของพรรคภูมิใจไทยก็เพื่อกลบเกลื่อนปัญหาและเรื่องต่างๆ ที่ส่อไปในเรื่องไม่โปร่งใส เท่าที่ดูรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนั้นเป็นการเขียนแบบลวกๆ เหมือนไม่ตั้งใจร่าง เพราะแม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ทราบเรื่อง จู่ๆ ก็ร่างแล้วดันเข้าสภาโดยไม่มีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อน ดูแล้วผิดปกติที่เสนอร่างเข้ามาในช่วงนี้ อีกทั้งเหตุผลก็ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของพรรคภูมิใจไทย อย่างไรก็ตาม ในฐานะพรรคฝ่ายค้านคงต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลก่อน เพราะไม่รู้ว่ากำลังเล่นละครหรือเล่นอะไรกันอยู่
ขณะที่ นายรณฤทธิชัย คานเขต ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อแผ่นดิน หนึ่งในผู้ร่วมเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย เปิดเผยว่า แนวคิดการเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการพูดคุยที่ได้รับเสียงสะท้อนจากชาวบ้านว่า ต้องการเห็นความสงบเกิดขึ้นในบ้านเมือง ไม่อยากเห็นความขัดแย้งหรือแตกแยกอีกต่อไป ดังนั้นส.ส.จึงได้พูดคุยกันเพื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมาปลดล็อคให้ทุกฝ่ายทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำไปตามหน้าที่แต่ถูกทั้ง 2 ฝ่ายฟ้องร้อง ส่วนที่ไม่ให้มีการนิรโทษกรรมให้นักการเมืองในส่วนของบ้านเลขที่ 111 และอดีตกรรมการบริหารพรรคอีก 109 คนนั้น เพราะหากนำมารวมด้วยจะถูกมองว่าทำเพื่อตัวเองจึงต้องตัดออกไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่า จะได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านหรือไม่ นายรณฤทธิชัย กล่าวว่า ต้องฟังเหตุผลและการพูดกันในสภาก่อน แต่จุดยืนของพวกเราชัดเจนคือ ต้องการให้เกิดการปรองดอง ความสามัคคีเกิดขึ้นในชาติอีกครั้ง ส่วนตัวอยากให้มีการบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาในการประชุมสภาโดยเร็วเพื่อให้มีการปลดล็อกให้บ้านเมืองมีความสงบสุข และไม่เชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล