xs
xsm
sm
md
lg

คิดหรือว่าประชาชนจะยอม

เผยแพร่:   โดย: ราวี เวียงพยัคฆ์

ในที่สุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ตกอยู่ในสภาพที่เลี่ยงไม่ได้กับความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ต่างก็เคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับพรรคฝ่ายค้านคือ พรรคเพื่อไทยที่ขยับไปก่อนหน้าเพียงก้าวเดียว โดยการรวบรวมรายชื่อ ส.ส. และ ส.ว.เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ใน 7 ประเด็น

“วันนี้บ้านเมืองต้องเจอกับวิกฤตเพราะสถาบันหลักคือ องค์กรศาล สภานิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ผู้คนออกไปเดินกลางถนน และสร้างแรงกดดันเพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง...” นายสมเกียรติ ศรลัมภ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงเหตุผลที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ตกอยู่ในสภาพที่เลี่ยงไม่ได้ เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลต่างก็ขยับที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน จึงจะประสานประธานรัฐสภาเพื่อเปิดประชุมร่วมกันของสมาชิกรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้

6-7 ประเด็นที่ว่ากันว่า ส.ส. และ ส.ว.จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปตามมติของคณะกรรมการสมานฉันท์ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน ใน 6 ประเด็น ส่วนประเด็นที่ 7 ที่เพิ่มเข้ามาจะเปลี่ยนการให้ใบเหลือง ใบแดง ในการเลือกตั้งให้ศาลสถิตยุติธรรมเป็นผู้พิจารณาให้ใบเหลือง ใบแดงแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง

สาระสำคัญที่ว่ากันว่ามี 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธานเสนอต่อรัฐบาลนั้น ไม่ได้ทำให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นเลยกับบ้านเมืองของเรา ซ้ำจะแตกแยกหนักขึ้นไปอีก ดังที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

เป็นแนวทางเดียวกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทย พรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอขึ้นมาอย่างลุกลี้ลุกลนในจังหวะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังจะชี้มูลความผิดข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำที่เข่นฆ่าประชาชนหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งก็อ้างเหตุผลอันเดียวกัน นั่นก็คือ ความปรองดอง สมานฉันท์

การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขรัฐธรรมนูญที่อ้างเอาความสมานฉันท์ ความปรองดองแห่งชาติขึ้นมาอ้าง นั่นก็เพื่อที่จะเปิดทางให้นักการเมือง 111 คนจากพรรคไทยรักไทยที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญลงโทษด้วยการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี และอีก 109 คนที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ 5 ปีเช่นเดียวกัน (แต่ใน 109 คนหลังนี้มีสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้อยู่ด้วย)

เหตุผลที่ว่าบ้านเมืองเจอวิกฤต สถาบันหลักคือ องค์กรศาล สภานิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ที่ฝ่ายค้านนำมาอ้างนั้นจึงเป็นเรื่องเท็จ หรือจะมีส่วนจริงอยู่บ้างก็ไม่พูดความจริงเสียทั้งหมด

บ้านเมืองที่วิกฤตอยู่ขณะนี้ก็เพราะมีคนบางกลุ่มบางพวกไม่เคารพยำเกรง ไม่ปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย ศาลพิจารณาลงโทษแล้วก็ไม่อยากรับโทษ นอกจากจะหลบหนีแล้ว ก็ออกไปตะโกนปาวๆ ว่าศาลไม่เป็นธรรม แล้วก็เรียกร้องให้มีการอภัยโทษ หรือนิรโทษกรรม

เมื่อเรียกร้องยังไม่บรรลุผล ก็จะใช้วิธีแก้ไขกฎหมายหรือเสนอกฎหมายเพื่อให้พวกของตัวรอด ดังที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทย

หนทางที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ได้อย่างจริงๆ จังๆ ก็คือ ทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ให้ผู้คนทั้งหลายปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเมื่อมีคดีความขึ้นสู่ศาล ผลของคำพิพากษาต้องปฏิบัติตาม

เป็นต้นว่า เราเห็นกันว่าบ้านเมืองจะเสียหายเพราะการซื้อสิทธิขายเสียง ทำให้นักธุรกิจการเมืองเข้ามาครองที่นั่งในสภานิติบัญญัติ เป็นฝ่ายบริหารใช้อำนาจหน้าที่ทุจริต จึงได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญป้องกันการซื้อเสียง ป้องกันการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างรุนแรง เช่น ให้ใบแดง ถ้าหากเป็นกรรมการบริหารพรรคทำผิด ก็ให้ลงโทษกรรมการบริหารพรรคนั้นๆ ทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้เกิดการควบคุมกันเองในพรรค ให้แต่ละพรรคคัดสรรคนที่จะมาทำหน้าที่บริหารเป็นคนดี ซื่อสัตย์ เคารพตัวบทกฎหมาย

แต่เมื่อมีการทำผิด ศาลพิจารณาไปตามตัวบทกฎหมายที่เขียนเอาไว้ ก็ไปตำหนิศาลว่าศาลกลั่นแกล้ง ลงโทษหนักเกินไป กรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นๆ คนอื่นๆ ไม่เกี่ยวข้องด้วยก็ถูกลงโทษไปด้วย

เพราะฉะนั้นต้องหาทางที่จะให้ผู้ที่ถูกลงโทษพ้นผิด ไม่ต้องรับผิด ด้วยการอ้างคำว่า สมานฉันท์

หรือเมื่อมีการปราบปรามประชาชนเกินกว่าเหตุ ใช้แก๊สน้ำตายิงใส่ประชาชนตูมๆ พร้อมกับเสียงคำรามว่า “มึงทนได้ ทนไป มึงทนได้ ทนไป”

ครั้นถึงคราวที่ ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิด กลับจะให้ยกเลิกด้วยการนิรโทษกรรม โดยการอ้างความปรองดอง ความสมานฉันท์ที่เข่นฆ่าประชาชนตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทำไมมันไม่สำนึก ทำไมไม่คิดถึงความเป็นคน ไม่คิดถึงหัวอกคนอื่นเขาบ้าง

สมานฉันท์ก็ดี ความสามัคคีก็ดี ล้วนแต่เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนเลยแม้แต่น้อย

รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 300 กว่ามาตรา อาจจะมีจุดเด่น จุดด้อย แต่โดยรวมก็อาศัยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 แล้วพยายามแก้จุดอ่อยด้วยการเพิ่มมาตรการให้เข้มขึ้นเพื่อป้องกันคนหน้าด้านอาศัยรัฐธรรมนูญเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐ และกอบโกยผลประโยชน์อย่างเป็นล่ำเป็นสันในช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถ้าหากใช้ไปสักระยะหนึ่ง 5 ปี 10 ปี แล้วเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมืองจะคิดการแก้ไขตอนนั้นก็ยังได้

ความคิดที่จะแก้ไขตอนนี้ และประเด็นที่จะแก้ไขในขณะนี้ล้วนแต่เพื่อนักการเมืองที่เคยทำร้ายประเทศชาติของเรามาแล้วทั้งสิ้น

คิดหรือว่า ประชาชนจะยอมให้ทำเช่นนั้น!
กำลังโหลดความคิดเห็น