xs
xsm
sm
md
lg

“ไพบูลย์”อายแทน ปชช. ระบุแก้รธน. ไม่มีประเทศไหน ชงเองกินเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไพบูลย์”ระบุแก้ รธน.6 มาตราแค่ประเดิม หากผ่านสภาฯจะนำไปสู่การแก้อีกหลายมาตรา ติงทางแก้ของนายกฯ จะทำสังคมปั่นป่วน เพราะปชช.ไม่มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น แนะให้คณะกรรมการสมานฉันท์ ทำงานคู่กับองค์กรอิสระ โวย!ยาแรงอย่าง มาตรา 237 ยังคุม ส.ส. โกงเลือกตั้งแทบไม่ได้ ดังนั้นอย่าเนียนยกเลิกไปดื้อๆ


คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “รู้ทันประเทศไทย”

รายการ “รู้ทันประเทศไทย” ออกอากาศทาง เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน วันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 18.30-20.00 น. สำหรับวันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2552 โดยมี ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายสันติสุข มะโรงศรี ดำเนินรายการ ได้รับเกียติจาก นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ร่วมพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า จำเป็นหรือไม่

นายไพบูลย์ กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนสงสัย "ทำไมต้องแก้รัฐธรรมนูญ" ว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประชาชนจะคิดอย่างนั้น แต่สำหรับนักการเมืองแล้ว เขาเห็นว่า รธน.50 มีหลายประเด็นไม่เอื้อต่อการแสวงหาประโยชน์ของเขา และการแก้ไขใน 6 ประเด็นเป็นแค่เบื้องต้น หากแก้สำเร็จ จะนำไปสู่การแก้ไขในมาตราอื่นๆอีก อย่างไรก็ตามตนไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขครั้งนี้ แต่ยอมรับว่า การแก้ไขสามารถทำได้ หากทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยประการสุดท้ายต้องให้ประชาชนทั้งประเทศร่วมแสดงความคิดเห็น

ส่วนแนวทางในการหาข้อยุติเรื่องนี้ จากที่ประชุมสภาได้ข้อสรุป 3 แนวทาง คือ (1.)วิปรัฐ เสนอให้ใช้รูปแบบ สสร.3 ที่แยกขาดจากสภาไปทำหน้าที่ (2.)นายกฯ เสนอให้ ส.ส.- ส.ว. ยกร่าง แล้วนำเข้าพิจารณาในสภา ก่อนจะทำประชามติเป็นรายประเด็น (3.) ส.ว. เสนอให้ตั้งกรรมการอิสระ เช่น นักวิชาการ องค์กรเอกชน ภาคประชาชนวิชาชีพต่างๆ ที่มีความเป็นกลางทำหน้าที่ศึกษาตรวจสอบ ใน 6 ประเด็นที่จะแก้ไข

นายไพบูลย์ กล่าวว่า กลุ่ม 40 ส.ว. เห็นว่าแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากจะให้ดี ต้องเอามาผสมกัน แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายกฯ ถือเป็นทางออกที่ดี แต่ยังไม่ดีที่สุด ต้องปรับปรุงอีกนิดหน่อย หากให้ยกร่าง โดย ส.ส.- ส.ว. แล้วนำไปผ่านการลงประชามติ ตามมาตรา 291 ตนว่า จะทำให้สังคมไทยปั่นป่วนแน่ เพราะเท่ากับเป็นการแก้ไข โดยยังไม่ฟังเสียงประชาชน แม้บอกว่าตอนท้ายจะไปลงประชามติก็ตาม เพราะการมีส่วนร่วมไม่ใช่ร่วมเฉพาะตอนท้าย ประชาชนต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบ

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นนั้น ไม่จำเป็นต้องให้ ส.ส.- ส.ว. คณะอื่นทำ เพราะว่า ในคณะกรรมการสมานฉันท์ก็มี ส.ส. สว.อยู่ถึง 30 ท่าน และเท่าที่เห็น ในสภาฯ ก็ชื่นชมคณะกรรมการสมานฉันท์ชุดนี้มาก น่าจะให้ไปยกร่างไปเลย แล้วทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย จะได้ไม่มีประเด็นหนีจากกรอบ ขณะเดียวกันก็ตั้งกรรมการอิสระ 40 คนเท่ากับคณะกรรมการสมานฉันท์ ทำหน้าที่ตรวจสอบ รับฟังความเห็นของประชาชน ควบคู่ไปด้วย

ดร.เติมศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ในฐานะทีตนเคยเป็น ส.ว.สิ่งที่ คุณไพบูลย์ พูดก็น่ารับฟัง แต่ปัญหามีอยู่ว่า เมื่อคณะกรรมการอิสระไปรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านแล้ว จะมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เพราะมีที่มาจากคนละส่วนกัน ประเด็นที่สอง ที่บอกว่า ต้องทำประชามติก่อน ให้ประชาชนเลือกว่าต้องการแบบไหน แล้วจึงให้ ส.ส.- ส.ว. แก้ไขตามมาตรา 291 ตรงนี้หาก ส.ส.- ส.ว. ไม่เอาตามประชามติ แล้วจะตัดสินกันอย่างไร

ดร.เติมศักดิ์ ตั้งข้อสังเกต ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นเรื่องของการกำหนดความสัมพันธ์ทางอำนาจ เมื่ออำนาจอยู่ตรงไหนตรงนั้นก็ได้ประโยชน์ ประเด็นที่ ส.ส. เสนอให้แก้ บอกว่าไม่เอาการเลือกตั้งเขตุใหญ่ จะเอาเขตุเล็ก ตรงนี้จะทำให้ง่ายต่อการซื้อเสียง ส่วนกรณีต้องการแก้ไขให้ ส.ว. มาจากาการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน ส่อเค้าเกิด สภาผัวเมีย อันจะนำไปสู่การติดสินบนในที่สุด

นายไพบูลย์ กล่าวถึงกรณีต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ มีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบเขตุเดียวเบอร์เดียว ว่า การเลือกตั้งแบบนี้ นายทุนพรรคจะชอบ เพราะจะใช้งบที่ควบคุมได้ อย่างไรก็ตามหากถาม ส.ส. ที่ไม่ได้มีส่วนในการลงทุน เขาอยากได้เลือกตั้งแบบเขตุใหญ่ เพราะมีโอกาสที่จะถูกเลือกไปทำหน้าที่ในสภามากกว่า ส่วน ส.ว. ตนอยากถามว่า ส่วนกรณีแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เบื้องต้น ตนเห็นว่า การมี ส.ว. ในโครงสร้างของรัฐธรรานูญ 2550 ผลงานก็ออกมาดี เหตุที่ดันทุรังแก้ไขนั้น เป็นเพราะ เขาแทรกแซงคุมโหวตในสภาไม่ได้ เป็นเหตุให้อำนาจฝ่ายการเมืองสะดุด

ส่วนการแก้ไขมาตรา 237 แต่เดิมต้องการให้กรรมการบริหารพรรค ต้องร่วมรับผิดด้วย เพราะปัญหาการทุจริตมีมาก ดังนั้นที่บัญญัติไว้ใน 237 จึงเป็นยาแรงที่บรรดา ส.ส. กลัว อย่างไรก็ตามขนาดป้องกันอย่างนี้ยังควบคุมไม่ได้ แล้ว ส.ส. ที่ยื่นขอแก้ในมาตรานี้ บอกว่ามันไม่ดี มันแรงไป ก็ต้องเสนอมาว่า จะเอามาตรการอะไรมาแทน ไม่ใช่ยกเลิกไปเฉยๆ โดยมีเหตุผล

“หากนักการเมืองมีคุณธรรมไม่จำเป็นต้องมีมาตรา 237 และเป็นเรื่องที่น่าอับอายอย่างมาก ไม่มีประเทศไหน ที่มีนักการเมือง แก้กฎหมาย เสนอ อนุมติ และสนับสนุนเอง” นายไพบูลย์ กล่าว

ดร.เติมศักดิ์ กล่าวว่ามาตรา 237 ที่ระบุว่าพรรคการเมืองใดโกงการเลือกตั้ง หากตัวกรรมการบริหารพรรครู้แล้วไม่แก้ไข จะต้องยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคต้อง หยุดทำงานทางการเมือง 5 ปี แล้วนักการเมืองพยายามแก้ ให้รับผิดเฉพาะรายบุคคล ตรงนี้จะทำให้เป็นกรรมการบริหารพรรคแต่ในนาม พร้อมยกตัวอย่าง ธนาคารคณะกรรมการบริหารของพาณิชย์ ธนาคารสาขาไปทำความผิดเขายังต้องรับผิดชอบแทน และขนาดสถานบันเทิงถูกห้ามไม่ให้มียาเสพติด ถ้าพบมียาเสพติดอยู่ในสถานบันเทิง เจ้าของสถานบันเทิงต้องรับผิดชอบ

ส่วนที่จะแก้ไขมาตรา 190 โดยอ้างรัฐบาลมีปัญหามากขยับตัวทำอะไรไม่ได้เลยนั้น ดร.เติมศักดิ์ กล่าวว่า แต่เดิมฝ่ายบริหารนึกจะทำอะไรก็ทำ โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่รู้เรื่อง จึงได้บัญญัติมาตรานี้ กำหนดให้สัญญาใดที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม จะต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติรู้เรื่องด้วย อย่างไรก็ตามจะทุกเรื่องหรือไม่ที่ต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติรับรู้ เขาก็มีเขียนในกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ว่า ให้มีกฎหมายลูก ดังนั้นแค่ใสรายละเอียด ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญก็จบ ไม่จำต้องแก้รัฐธรรมนูญ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
นายสันติสุข มะโรงศรี
กำลังโหลดความคิดเห็น