xs
xsm
sm
md
lg

เสียดินแดน?

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

การประชุมร่วมของรัฐสภาในวันนี้เวลา 09.30 น.เดิมทีจะมีวาระสำคัญที่คาดว่าจะใช้เวลาอภิปรายกันพอสมควรคือการที่รัฐบาลเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรคสอง

เดิมทีเรื่องนี้บรรจุอยู่ในระเบียบวาระที่ 5.7 และจะพิจารณากันตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2552 แล้ว คุณวีระ สมความคิดจึงได้เคลื่อนไหวมวลชนคู่ขนานด้วยการไปดูพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร พร้อมๆ กับที่ประชาชนจำนวนหนึ่งไปเคลื่อนไหวหน้ารัฐสภา

แต่เผอิญการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 – 3 ยืดเยื้อเลยเลื่อนมาประชุมวันนี้แทน

ปกติวันจันทร์เป็นวันประชุมวุฒิสภาที่นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว การประชุมร่วมของรัฐสภาวันนี้จึงจะใช้เวลาเพียงครึ่งวันเช้าเท่านั้น เพราะครึ่งวันบ่ายตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป จะเป็นการประชุมวุฒิสภาที่เลื่อนหลีกให้มาจากภาคเช้า

วิปรัฐบาลจึงตกลงกันว่าจะเลื่อนระเบียบวาระพิจารณาเฉพาะเรื่องด่วนจริงๆ !

ในระเบียบวาระมีเรื่องที่เสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามรัฐธรรมธรรมนูญมาตรา 190 ถึง 19 เรื่อง ตั้งแต่วาระที่ 5.1 – 5.19 โดยบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาอยู่ในวาระที่ 5.7 แต่เรื่องที่ด่วนจริงๆ เป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมเสนอเข้ามาใหม่ตั้งแต่วาระที่ 5.13 – 5.19 ในวันนี้เมื่อถึงเวลาประชุมในระเบียบวาระที่ 5 วิปรัฐบาลจึงจะเสนอให้เรียงลำดับวาระใหม่ โดยให้วาระที่ 5.13 – 5.19 ของกระทรวงกลาโหมพิจารณาก่อน และอาจจะตามด้วยวาระที่ 5.12 ของกระทรวงพลังงานที่เสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงเพื่อการจัดตั้งศูนย์พลังงาน BIMSTEC ภายใต้กรอบความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ

การให้ความเห็นชอบบันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาจึงจะร่นไปอยู่เป็นวาระที่ 3 จากท้าย

ยังไงๆ ก็พิจารณาไม่ถึงวาระปัญหานั้นในวันนี้แน่นอน!!

ก่อนหน้านี้เมื่อมีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน โดยเฉพาะจากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และนักวิชาการกลุ่มอาจารย์ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ - อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม รวมทั้งจากอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชนชุด ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน กระทรวงการต่างประเทศก็ได้เพียรพยายามชี้แจง โดยไปพบกับคณะ ส.ว.หลายครั้งในหลากรูปแบบ และล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้เชิญคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา และ ส.ว.ที่สนใจ ไปร่วมรับประทานอาหารค่ำกันที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 แม้จะบอกว่าเป็นวาระทั่วไปที่เปิดโอกาสให้ ส.ว.ซักถามนโยบายและการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศโดยภาพรวม ไม่เฉพาะเจาะจงเรื่องไทย-กัมพูชา แต่การแลกเปลี่ยนในวันนั้นก็ใช้เวลาอยู่กับเรื่องไทย-กัมพูชาเป็นส่วนใหญ่

ผมอยู่ร่วมรับฟังคำชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศด้วยทุกครั้ง – รวมทั้งครั้งล่าสุด!

พบความจริงที่น่าตกใจมาก!!


แน่นอนว่าผมสนใจเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้นเคยเขียนไว้ ณ ที่นี่หลายครั้งว่าหากทำไม่ดีเราจะเสียดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตร เคยเป็นหนึ่งในผู้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดคัดค้านแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ได้รับฟังคำให้การต่อศาลของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศคนสำคัญมาแล้ว และเคยเป็น 1 ใน 8 สมาชิกรัฐสภาผู้ลงมติคัดค้านกรอบการเจรจาไทย-กัมพูชาที่รัฐบาลเสนอเข้ามาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551

ความจริงที่ผมว่าน่าตกใจก็คือ ข้อมูล ข้อวิเคราะห์ และชุดความคิดของกระทรวงการต่างประเทศแตกต่างชนิดเกือบจะเรียกได้ว่าตรงกันข้ามกับนักวิชาการกลุ่มอาจารย์ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ - อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม และยังตรงกันข้ามกับอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเองอย่าง ดร.สมปอง สุจริตกุล

ในการคุยครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสรับฟังมุมมองของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่ได้รับยกย่องว่ารู้เรื่องไทย-กัมพูชาดีที่สุดคนหนึ่ง ก็ยิ่งตกใจเข้าไปใหญ่

ทำให้ในการคุยครั้งสุดท้าย ที่ได้มีโอกาสพบท่านรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะฝ่ายไทยในการเจรจาเขตแดนไทย-กัมพูชาซึ่งเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำเกาหลีที่เคยรู้จักกันเมื่อคราวคณะกรรมาธิการชุดผมเดินทางไปดูงานที่นั่นเมื่อปี 2551 จึงได้ยิงคำถามไปตรงๆ หลายคำถาม

ความตกใจยังอยู่ครับ – แต่เริ่ม “เข้าใจ” มากขึ้น!

เข้าใจในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วย

แต่เข้าใจว่ากระทรวงการต่างประเทศคิดอย่างไรในเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา

โดยสรุป กระทรวงการต่างประเทศมองว่าคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปี 2505 แม้จะไม่ได้ระบุเรื่องเขตแดนไว้ และไทยยังถือว่าดินแดน 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเรา ไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อน แต่คำพิพากษาพูดเรื่องแผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000 ที่กัมพูชาเสนอไว้ชัดเจน ว่าไทยยอมรับโดยปริยาย กระทรวงการต่างประเทศเชื่อว่าหากเกิดข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชาบริเวณปราสาทพระวิหารขึ้นจนเรื่องต้องเข้าไปสู่การตัดสินขององค์กรระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นศาลโลก หรือสหประชาชาติ ไม่แน่นักว่าไทยจะได้เปรียบ

โดยเฉพาะหากศาลโลกตีความคำพิพากษาปี 2505 ตามธรรมนูญศาลโลกมาตรา 60 ยิ่งไม่แน่นักว่าไทยจะได้เปรียบ

พิจารณาโดยข้อกฎหมายก็ไม่แน่ว่าจะได้เปรียบแล้ว ยิ่งพิจารณาในเชิงการเมืองระหว่างประเทศไทยยิ่งเสียเปรียบกัมพูชา เพราะมหาอำนาจจ้องจะเข้าข้างกัมพูชามากกว่าเพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา

นี่คือมุมมองที่ต่างจากนักวิชาการข้างนอก รวมทั้งอดีตคนกระทรวงการต่างประเทศอย่าง ดร.สมปอง สุจริตกุล

มุมมองต่อคำพิพากษานี่ถือเป็นบรรทัดฐานครับ เหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรก กลัดอย่างไรก็จะเป็นผลต่อการกลัดเม็ดต่อๆ ไป

แล้วการที่ยอมให้กัมพูชาทำถนนและสร้างชุมชนในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่เป็นของเราล่ะ?

กระทรวงการต่างประเทศบอกว่าไม่เคยยอม เราถือว่าเป็นดินแดนของเรา เมื่อเขารุกล้ำเราก็ทำหนังสือประท้วงไปทุกครั้ง

การทำหนังสือประท้วงแปลว่าไม่ยอมรับ ในทางกฎหมายระหว่างประเทศการกระทำของกัมพูชาไมมีผล ไม่ว่าจะมากแค่ไหนนานแค่ไหนไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น

นี่ก็เป็นมุมมองที่แตกต่างกันกับคนข้างนอกกระทรวง

2 เรื่องนี้เป็นเพียงตัวอย่าง ยังมีมุมมองและชุดความคิดที่แตกต่างกันอีกหลายประเด็น

รัฐสภาจึงไม่ควรลงมติในวันเดียวกับที่ระเบียบวาระถึงเวลาพิจารณา

แต่ควรตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาก่อนการลงมติ เพื่อให้มุมมองและชุดความคิดที่แตกต่างกันได้มีโอกาสมานำเสนออย่างเท่าเทียมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น