xs
xsm
sm
md
lg

อภิสิทธิ์ย้ำจุดยืนแก้รธน.สุดท้ายต้องทำประชามติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ กล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลได้ขอให้เปิดการอภิปรายทั่วไป เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนุญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่รัฐสภา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ มีข้อเสนอหลายส่วน โดยส่วนแรกเป็นเรื่องที่ต้องมีกระบวนการสร้างความสามัคคี สมานฉันท์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหลายฝ่ายก็เห็นพ้องต้องการ และรัฐบาลจะทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมตามโครงการ หรือด้วยวิธีการต่าง ๆ ส่วนที่สอง ในแงระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการที่จะมีการตั้งองค์กร ขึ้นมาเพื่อดำเนินการในเรื่องของ การปฏิรูปการเมือง หรือแม้กระทั่งในเรื่องของการจัดทำรัฐธรรมนูญที่จะมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น ก็เช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็เป็น เรื่องที่ทางรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาดูจะเห็นพ้องต้องกัน และก็คงไม่มีปัญหาในการที่จะเดินหน้าต่อไป
แต่ว่าเฉพาะหน้านั้นทางคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ได้เสนอให้มีการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ใน 6 ประเด็น และก็อยากจะให้มีการดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ต้อง ยอมรับว่าเมื่อมีการรายงานเสร็จ ก็มีกลุ่มทั้งสมาชิกรัฐสภา ทั้งกลุ่มมวลชนพี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย กลุ่มที่เห็นด้วยก็มี และก็มีการถกเถียงกันมากว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าหลังจากที่ฟัง ความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาทั้งสองสภาแล้ว ตนจึงเสนอทางออกโดยมีหลักการว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่ควรจะกระทำเพราะว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในวันที่มีการลงคะแนนรับ ในกระบวนการของประชาชามตินั้นก็มีการพูดกันว่า ยังมีบางจุดหรือยังมีบางเรื่อง ที่สมควรจะได้รับการแก้ไขเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การทำงานของรัฐบาล ของสภาฯ สามารถตอบสนองพี่น้องประชาชนได้ดีขึ้น แต่ตนก็ได้เสนอว่า ถ้าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นต่างคนต่างเสนอ แทนที่จะเป็นเรื่องของ ความสมานฉันท์ ก็จะกลายเป็นปมความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงบอกว่า ทุกพรรคการเมืองและทางวุฒิสภา น่าจะได้หารือกันว่าจะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าไปสู่สภาฯ นั้นควรจะเป็นร่างที่ทุกฝ่ายตกลงกันก่อนล่วงหน้า เพื่อที่จะให้เกิดความสมานฉันท์ในกระบวนการนี้
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อที่สองก็คือ ขณะที่สมาชิกรัฐสภาอาจจะตกลงกันได้นี้ แต่ว่าคนที่เป็นเจ้าของประเทศคือประชาชน ฉะนั้นการจะไปแก้ไขอาจจะมีบางกลุ่ม บางฝ่ายยังไม่เห็นด้วย ก็น่าที่จะมีกระบวนการบางอย่างที่จะทำให้ประชาชน สามารถ เข้ามามีส่วนร่วม และยอมรับการแก้ไขหรือแสดงออกว่าจะไม่ให้มีการแก้ไขที่ทุกฝ่าย น่าจะมองเห็นว่าเป็นทางออกที่ตกลงร่วมกันได้
ข้อเสนอของผมในวันนั้นก็คือว่า หลังจากที่เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาก็จะได้มีการนัดหมายวิปของ 3 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เพื่อมาตกลงกันว่า จะเดินหน้าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งขณะนี้มีข้อเสนอมา 3 ข้อ ที่ได้เสนอให้เป็นทางเลือก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าข้อแรกก็คือแทนที่จะให้ทางสภาฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญกันเอง ก็อาจจะมีการตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาที่นิยมเรียกกันว่า ส.ส.ร.(สภาร่างรัฐธรรมนูญ) แต่ว่าคงไม่ได้หมายความว่าเป็น ส.ส.ร. ที่ต้องใช้เวลาในกระบวนการในการไปคัดเลือกสรรหามา แต่จะเป็นการอาจจะกำหนดไปเลยว่า หนึ่งในสี่มาจากสมาชิกรัฐสภา หนึ่งในสี่มาจาก ส.ส.ร. ปี 40 หนึ่งในสี่มาจาก ส.ส.ร. ปี 50 คัดเลือกกันเอง และอาจจะมีในส่วนของนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง ก็จะเป็นแนวทางที่จะทำให้ การแก้ไขนี้มีกระบวนการของการที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม นั่นทางหนึ่ง อีกทางหนึ่งก็มีสมาชิกวุฒิสภาเสนอว่าควรจะมีตั้งคณะกรรมการอิสระ คือ คนนอกสภาฯ ลองพิจารณาในเรื่องของรัฐธรรมนูญดู เสร็จแล้วก็มาเปรียบเทียบกับข้อเสนอของ คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเอาไปลงประชามติ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แต่ข้อเสนอข้อที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ตนเสนอเองหลังจากที่ได้ฟังเพื่อนสมาชิกอภิปรายก็คือว่า เมื่อมี 6 ประเด็นชัดเจนแล้วก็น่าจะให้ทุกพรรคการเมืองกับวุฒิสภายกร่างรัฐธรรมนูญ ตาม 6 ประเด็นร่วมกัน โดยแยก ออกเป็น 6 ฉบับ คือทำทีละประเด็น หรือจะทำเป็นฉบับเดียวก็ได้แต่มีเงื่อนไขสำคัญว่า การแก้ไขเพิ่มเติมนี้จะมีผลได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดทำประชามติเสร็จก่อน
สมมติว่าพูดถึงเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 เกี่ยวกับเรื่องของการทำ สนธิสัญญานี้ ถ้าสภาฯ เห็นชอบแล้วยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่เอาประเด็นนี้ไปทำประชามติก่อน ถ้ายอมรับก็นำมาใช้ แต่ถ้าไม่ยอมรับก็ถือว่าตกไป โดยแยกเป็นประเด็น ๆ ชัดเจนไปเลย จะเป็นมาตรา 190 จะเป็นเรื่องเขตเลือกตั้ง จะเป็นเรื่องการยุบพรรค จะเป็นเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ส.ส. ก็จะทำแบบนี้หมด ข้อเสนอนี้ก็เป็นข้อเสนอที่ผม ได้ฝากไว้ให้กับ 3 ฝ่ายพิจารณาช่วงที่ผมเดินทางไปต่างประเทศ กลับมาก็คงจะได้ข้อยุตินะครับ และผมคิดว่าน่าจะเป็นรูปธรรมและมีกรอบเวลาที่ชัดเจนต่อไป ว่า เราจะสามารถคลี่คลายปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร
นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ที่เสนอให้ทำเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แยกเป็นประเด็นและทำประชามติ ก็เพราะจะได้ไม่ต้องถกเถียงกัน โดยให้ประชาชนเป็นคนตัดสินในขั้นสุดท้ายดีที่สุด ส่วนกรอบเวลาในการดำเนินการนั้น เห็นว่า มันมีของมันโดยธรรมชาติเพราะการร่าง การพิจารณาของสภา การทำประชามติจะมีกรอบเคร่าๆ ในกฎหมายอยู่แล้ว
เมื่อถามว่ามั่นใจว่าหากทำประชามติจะไม่มีปมขัดแย้งตามมาอีก นาอยภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าหากเราไม่ยอมรับประชามติก็ไม่รู้จะไปยอมรับอะไรแล้ว เพราะทุกฝ่าย ได้มีโอกาสตัดสินใจร่วมกันแล้วและการทำประชามติก็เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่าย แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
ส่วนที่บางส่วนเรียกร้องให้ยุบสภาหลังแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข หากบัญญัติให้เลือกตั้งใหม่ก็เลือกตั้งกัน ไม่ได้มีปัญหาอะไร ฉะนั้นจึงอยู่ที่คนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนก็ไม่ได้ติดใจ หากคนยกร่างบอกให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น