xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯเสียงแตก ประชุมวิป 3 ฝ่ายหนุนแก้ รธน.ฉบับสมานฉันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิเรก ถึงฝั่ง
วิปวุฒิฯ ยังไม่เคาะ หลัง ส.ว.บางส่วนท้วง รวบรัดเกินเหตุ สุดท้าย ให้ส่งเอสเอ็มเอส ถาม ส.ว.3 ประเด็น เห็นด้วยแก้ 6 ประเด็นหรือไม่-ให้ กก.สมานฉันท์ยกร่าง-ให้มีประชามติ รอสรุปเที่ยง 24 ก.ย.ก่อนส่งตัวแทนวิปวุฒิฯ ไปประชุมร่วม 3 ฝ่าย

วันนี้ (23 ก.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานการประชุม พิจารณาแนวทางการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี รองประธานวิปวุฒิ คนที่ 1 ตัวแทนวิปวุฒิไปประชุมร่วมวิป 3 ฝ่าย แจ้งผลการประชุมว่า วิป 3 ฝ่าย เห็นพ้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ เสนอมา และเมื่อถึงเวลาแก้ไข ให้ 3 ฝ่าย เซ็นชื่อร่วมกัน ส่วน วิธีการแก้ไข ให้วิปทั้ง 3 ฝ่าย ไปคุยกันในส่วนของตนเอง และไปเสนอในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายอีกครั้ง บ่ายของวันที่ 24 กันยายน เพื่อเสนอนายกฯ ซึ่งเมื่อนายกฯ กลับจากสหรัฐฯ จะเชิญวิป 3 ฝ่ายมาหารือว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอย่างไรอีกครั้ง

ส่วน นายนิคม แจ้งว่า เข้าใจในส่วนที่ ส.ว.แต่ละคนอาจจะมีความเห็นต่าง และวิปวุฒิฯไม่ใช่ตัวแทน ส.ว.ทั้งหมด แต่อย่างน้อยวิปวุฒิฯ ควรมีแนวทางออกมาเป็นเบื้องต้น เพื่อนำไปเจรจา ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้ว่าจะตั้งวิปวุฒิฯทำไม ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย ก็สามารถไปอภิปรายในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้

จากนั้นได้เปิดให้กรรมาธิการเสนอความเห็น โดย พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา ตัวแทนวิปวุฒิไปหารือร่วมกับวิป 3 ฝ่าย กล่าวว่า ใครจะยกร่าง 6 ประเด็น ไม่ใช่ปัญหา เพราะเมื่อร่างเข้ารัฐสภา ก็สามารถแปรญัตติได้ ซึ่งการยกร่างมีวิธีหลากหลาย แต่เท่าที่ดู ขาออก ฝ่ายค้าน ไม่อยากให้ทำประชามติ เพราะมองว่า ซื้อเวลา แต่ทราบว่า นายกฯ อยากให้ทำประชามติ ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการทำประชามติ จะเข้าวุฒิสภา วันที่ 28 กันยายน จากนั้นก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบกระบวนการพิจารณาก่อนทูลเกล้าฯ คาดว่า จะประกาศใช้ได้อีกเดือนถึงเดือนครึ่งข้างหน้า ดังนั้น การประชามติคงไม่ใช่ยื้อเวลาอะไร รวมๆ แล้วเบ็ดเสร็จ จากนี้ไป 3 เดือน สามารถทำประชามติได้ ใน 6 ประเด็นนั้น อันไหนไม่ผ่าน ก็ตกไป เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะบางคนถึงกับจะเป็นจะตาย ก็ให้ทำประชามติไปเลย ส่วนที่ผ่าน ก็เข้าสภา ก็อีกประมาณ 2 เดือน ก็แก้เสร็จ จากนั้น ต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องด้วย อีก 6-7 เดือน รวมๆแล้วทั้งกระบวนการ ประมาณ 1 ปี ถึงจะทำเสร็จและเลือกตั้งใหม่ได้

อย่างไรก็ดี ยังมี ส.ว.ทักท้วง ข้อเสนอดังกล่าวในขั้นตอนการทำประชามติ โดย นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ กล่าวว่า หากประชามติก่อน สภาจะกล้าแก้ร่างที่ผ่านเสียงประชาชนหรือไม่ ดังนั้น ควรให้รัฐสภาพิจารณาไปจนผ่านวาระ 2 แล้วให้ประชาชนทำประชามติ แล้วสภาค่อยมาโหวต วาระ 3 ส่วน พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ ส.ว.สรรหา ทักท้วงว่า ตอนโหวตวาระ 3 เป็นการโหวตทั้งร่าง หากขั้นประชามติ ประชาชนให้ตกไปบางประเด็น ก็จะมีปัญหาในวาระ 3 ทำให้นายนิคม กล่าวสรุปว่า ให้คณะกรรมการสมานฉันท์ ยกร่าง จากนั้น ทุกคนทุกพรรคลงชื่อสนับสนุน และเข้าสู่กระบวนการรัฐสภาตามมาตรา 291 จากนั้น ส่วนเรื่องช่วงเวลาการทำประชามติ ค่อยมาหารืออีกครั้ง ว่าจะวางไว้ขั้นตอนใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี กรรมาธิการบางคนทักท้วงว่า วิปวุฒิจะอ้างความเป็นตัวแทนของ ส.ว.ทั้งหมดไม่ได้ ทำให้บรรยากาศการประชุมเริ่มตึงเครียด อาทิ นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า ตัวแทนวิปวุฒิฯ จะไปแจ้งแบบนี้ เร่งรีบไปหรือไม่ ควรให้ในคณะกรรมาธิการสามัญแต่ละคณะ ไปหารือกันก่อน ปัญหาที่ส่งตัวแทนวิปวุฒิฯไป โดยไม่ถาม ส.ว.โดยรวม ทำให้เสียงของ ส.ว.ไม่มีน้ำหนัก ส่วน นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ ส.ว.สุรินทร์ กล่าวว่า วิปวุฒิฯรู้ได้อย่างไร ส.ว.ทั้งหมด เอาทั้ง 6 ประเด็น ฉะนั้น ต้องให้เกียรติและฟัง ส.ว.ด้วย

ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เคยเสนอนายกฯ ตั้งคณะกรรมการอิสระที่มาจากภาคประชาชน เป็นคนศึกษาเสนอ 6 ประเด็น เปรียบเทียบกับของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เพื่อไม่ให้ประชาชนคลางแคลง เพราะที่คณะกรรมการสมานฉันท์ทำ มีแต่นักการเมืองมาทำ เและขั้นสุดท้ายต้องทำประชามติ จึงขอให้นำเรื่องนี้ไปคุยในที่ประชุมร่วม วิป 3 ฝ่ายด้วย เพราะนายกฯก็พูดเองว่า รวมแนวทางที่กลุ่ม 40 ส.ว.เสนอด้วย นอกจากนี้ วิปวุฒิ ไม่ใช่วิปรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน จึงอย่าด่วนสรุปแทนสมาชิก

ด้าน นายดิเรก ชี้แจงยืนยันว่า ต้องมีข้อสรุปเบื้องต้นเพื่อไปแจ้งที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย ไม่เช่นนั้น ตนก็จะไม่มีอะไรไปเสนอ ซึ่งถ้า ส.ว.คนใดยังไม่เห็นด้วยประเด็นใด ก็ไปพูดในรัฐสภาเมื่อเข้าสู่การพิจารณาก็ได้ ทำให้นายนิคม ไกล่เกลี่ยว่า จะส่งเอสเอ็มเอสให้ ส.ว.รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ระดมโทรศัพท์ไปแจ้ง เพื่อสอบถามว่า 1.เห็นด้วยหรือไม่ว่าจะแก้ 6 ประเด็น 2.ให้คณะกรรมการสมานฉันท์ เป็นผู้ยกร่าง และ 3.เห็นด้วยว่า จะให้ทำประชามติด้วยหรือไม่ โดยให้ตอบกลับมาก่อนเที่ยงวันที่ 24 กันยายน เพื่อให้ตัวแทนวิปวุฒิฯ ไปแจ้งกับวิป 3 ฝ่าย ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ใครไม่ตอบกลับมาถือว่าเห็นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น