xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุด เลื่อนไต่สวนไข้พิษหุ้น ส.ว.12 ต.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเลื่อนไต่สวนกรณีหุ้น ส.ว.ไป 12 ต.ค. เหตุ ส.ว.พิกุลแก้ว-สุพจน์ ผู้ยื่นคำร้องเพื่อขอศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มคราวสั่ง ปธ.วุฒิฯ ชะลอ ยื่นคำวินิฉัย กกต.ต่อศาล รธน.อ้างติดประชุมสภา

วันนี้ (25 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้นัดไต่สวนกรณี นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สว.พิษณุโลก นายสุพจน์ เลียดประถม ส.ว.ตราด และนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ร้องขอให้ศาลฯ สั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยกกต.ที่ให้สิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ว.เนื่องจากถือครองหุ้นขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 48 และ 265 (2) (4) และกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ก่อนมีคำพิพากษาโดยให้ประธานวุฒิสภา ระงับการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลานัด มีเพียงตัวแทน กกต.คือ พล.ต.ท.นพพร แสงสุวรรณ อนุกรรมการไต่สวนกรณีการถือครองหุ้นต้องห้ามของ 16 ส.ว.ที่เป็นฝ่ายเสียงข้างน้อย นายยงเกียรติ อดิเศรษฐกุล ผอ.สำนักกฎหมายและคดี และ พ.ต.ท.ธวัชชัย แสวงทรัพย์ ผอ.สำนักวินิจฉัยและคดี และนายจิตต์พจน์ เดินทางมา ขณะที่นางพิกุลแก้ว และนายสุพจน์ ได้มอบหมายให้ทนายยื่นหนังสือขอเลื่อนการเข้าชี้แจงโดยอ้างว่าติดภารกิจประชุมวุฒิสภา ซึ่งศาลปกครองฯ ก็ได้อนุญาตตามที่ขอ พร้อมกับสั่งเลื่อนการไต่สวนไปเป็นวันที่ 12 ต.ค.เวลา 13.30 น.

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ในส่วนของ กกต.ได้เตรียมข้อมูลที่จะชี้แจงต่อศาลฯ เพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาของ ส.ว.ประกอบด้วย 1.กรณีที่อ้างว่า รายละเอียดการถือครองหุ้นของ ส.ว.ที่ถูก กกต.วินิจฉัยให้สิ้นสมาชิกภาพนั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของการถือหุ้นที่มีอยู่ กกต.ยอมรับว่า มีความผิดพลาดสับสนจากการพิมพ์ชื่อบริษัทผิดไปจากข้อเท็จจริง แต่อย่างไรก็ตาม ส.ว.ทั้ง 16 ราย ต่างก็ยังมีการถือหุ้นที่มีสัมปทานกับรัฐ หรือหุ้นที่เป็นกิจการสื่อสารมวลชนหรือโทรคมนาคมอยู่ ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ส่วนรายที่พิมพ์ผิด เป็นเพียงการพิมพ์สลับชื่อบริษัทกับรายอื่นผิดพลาดเท่านั้น

2.ที่อ้างว่า กกต.ไม่มีระเบียบวิธีการพิจารณา กรณีการถือครองหุ้นเป็นการเฉพาะ แต่ใช้ระเบียบวิธีการพิจารณา การทุจริตการเลือกตั้งของ ส.ส.หรือ ส.ว.โดยอนุโลม ซึ่งน่าจะไม่ถูกต้องนั้น ก่อนหน้านี้มีกรณีคำร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กกต.ก็นำระเบียบวิธีการพิจารณากรณีการทุจริตการเลือกตั้งของ ส.ส.และส.ว.มาใช้สอบสวนโดยอนุโลมเช่นกัน และเมื่อคดีขึ้นอยู่ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการโต้แย้ง และศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานสั่งเพิกถอนสิทธิ จึงถือว่าวิธีการปฏิบัติของ กกต.น่าจะชอบด้วยกฎหมาย

3.ที่อ้างว่า กกต.ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือครองหุ้นดังกล่าวเข้าชี้แจงก่อนมีคำวินิจฉัยนั้น ก็ได้มีการชี้แจงว่า การวินิจฉัยของ กกต.ได้มีการนำรายงานการถือครองทรัพย์สินและหนี้สินที่ ส.ว.ได้ยื่นด้วยตนเองกับ ป.ป.ช.เมื่อเข้ารับตำแหน่งจึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียก ส.ว.แต่ละรายมาชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้องหรือไม่ เพราะหากมีการแย้งว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ส.ว.รายนั้นก็จะมีความผิดเข้าข่าย การยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเท็จต่อ ป.ป.ช.

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา 1 ใน กลุ่ม 16 ส.ว.ที่ยื่นคำร้องกล่าวว่า โดยหลักปฏิบัติแล้วประธานวุฒิสภาจะต้องชะลอเรื่องก่อน เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหา หากความเห็นของศาลปกครอง ออกมาขัดแย้งกับ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยประธานวุฒิสภาจะต้องชะลอเรื่องจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะประกาศไม่ให้เป็นกรณีได้รับการคุ้มครอง ไม่อย่างนั้นก็จะต้องชะลอเรื่องจนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาแล้วเสร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น