xs
xsm
sm
md
lg

“นิคม” เล็งนัดขอมติวิปวุฒิแก้ รธน.23 ก.ย.นี้ ชี้ข้อเสนอ “มาร์ค” แค่เกมยื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ประธานวิปวุฒิ” เล็งนัดหารือขอมติวิปวุฒิ 23 ก.ย.นี้ ชี้ ข้อเสนอ 2 ทาง ของนายกฯ เข้าทางชะลอแบบมีชั้นเชิง เผย วิปวุฒิ อาจไม่เอาทั้ง 2 แบบ เหตุ ส.ว.ส่วนใหญ่ ต้องการให้ยกร่างแก้ไข 6 ประเด็น ไปตามปกติ ย้ำไม่ต้องทำประชามติ ระบุ เป็นสิทธิ์ที่จะเสนอได้

วันนี้ (18 ก.ย.) นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) กล่าวว่า วิปรัฐบาลยังไม่ได้นัดวันหารือมา แต่ในส่วนวุฒิสภา ก็จะหารือเพื่อได้ข้อสรุปของฝั่งวุฒิสภา ในการประชุมวิปวุฒิวันที่ 23 กันยายน และจะเปิดให้สื่อมวลชนรับฟังด้วย ทั้งนี้ ที่นายกฯให้ทางเลือก 2 แนวทางนั้น อาจโดนสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ว่า เป็นการชะลอแบบมีศิลปะ เพราะยังมีเงื่อนไขแนบมาด้วยว่า เลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่ง และทุกพรรคต้องเห็นพ้องในร่างที่จัดทำขึ้น ห้ามมีร่างอื่นเสนอประกบอีก ซึ่งถ้ามองถึงแนวทางแรก เรื่องการให้มี ส.ส.ร.แบบเร็ว มาทำ 6 ประเด็น สัดส่วนยังซ้ำซ้อนอยู่ โดยสัดส่วนที่เป็นนักวิชาการ คนเหล่านี้ก็ไปเป็น ส.ส.ร.40 และ 50 ทั้งนั้น ส่วนแบบสองที่ให้รัฐสภาทำกันเองแล้วไปถามประชามติ คงจะเข้าล็อกความต้องการของบางฝ่าย นอกจากนี้ ทั้งสองแบบใช้เวลาประมาณ 9-12 เดือน ซึ่งนานมาก และสมมติว่า หากมีการยุบสภาในช่วงเวลานี้ ก็แก้ไม่ได้อีก

นายนิคม กล่าวว่า ความจริงแล้ว เมื่อรัฐสภาตั้งคณะกรรมการขึ้นมา และมีข้อเสนอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาแล้ว ซึ่งเห็นชัดว่า ที่ประชุมส่วนใหญ่ 70-80% เห็นด้วยทุกข้อที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอ เสียงประชาชนข้างนอก ก็คัดค้านน้อย มีแต่ ส.ว.บางกลุ่ม กลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น ที่ยังไม่เห็นด้วย แต่เมื่อตั้งคณะกรรมการที่มาจากทุกฝ่ายแล้ว มีมติอย่างไรก็ต้องรับ ซึ่งสมมติว่า ถ้ามีการลงมติในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่ผ่านมา เสียงส่วนใหญ่ให้ผ่านแน่ ทั้งนี้ ตนมองว่า ที่ควรทำต่อ คือ เข้าสู่กระบวนการได้เลย โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมายกร่าง 6 ประเด็น ร่างไม่ยาก ตัดข้อความนิดเดียวเท่านั้น ตัวแบบก็มีอยู่แล้ว จากนั้นก็เข้าสภาตามปกติ และเมื่อรัฐสภาให้ผ่าน ก็ถือว่า บังคับใช้ได้ ไม่ต้องทำประชามติแล้ว เพราะผู้แทนก็มาจากประชาชนเลือกมา ให้อำนาจมาทำหน้าที่แทน

เมื่อถามว่า นายกฯอ้างว่า ถ้าเอาแบบให้รัฐสภาร่างเองก็ต้องทำประชามติเพราะตอนรับรัฐธรรมนูญฉบับ 50 มีคน 14 ล้านคนเห็นด้วย นายนิคม กล่าวว่า 6 ประเด็น เป็นเรื่องหลักการบริหารจัดการ ไม่เห็นต้องไปถามประชาชน ถามว่าประชาชนจะรู้ปัญหาจริงๆ หรือ เช่น มาตรา 190 การทำสัญญากับต่างประเทศ ซึ่งคนรู้ดีคือรัฐบาลที่มีปัญหาในการทำงาน เรื่องระบบส.ส. ส.ว.หรือ มาตรา 237 ก็เป็นเรื่องโครงสร้างที่มา ถ้าจะทำประชามติ ก็ต้องมีประเด็นในเรื่องมีส่วนได้ส่วนเสียกับประชาชน

เมื่อถามว่า แสดงว่า วิปวุฒิมีแนวโน้มไม่เอาทั้ง 2 ทางที่นายกฯเสนอก็ได้ นายนิคม กล่าวว่า ก็เป็นไปได้ แต่ในวิปวุฒิคงไม่โหวตเพื่อเป็นมติ แต่อยากให้ในวุฒิสภาเห็นพ้อง เพราะหากโหวต เสียงส่วนใหญ่ก็คงจะไม่เอาที่นายกฯเสนอทั้ง 2 ทาง เพราะส่วนใหญ่เห็นว่า สามรถยกร่างแล้วทำไปตามกระบวนการปกติได้เลยและไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งการไประชุมกับวิป 3 ฝ่าย ฝ่ายวุฒิสภา ก็มีสิทธิ์เสนอแบบนี้ ไม่ต้องเอาแบบที่นายกฯเสนอ ซึ่งตนจะเป็นตัวแทนฝ่ายวุฒิสภาไปประชุมร่วมกับวิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น