xs
xsm
sm
md
lg

โพล40ส.ว.ไม่แก้ม.237 "มาร์ค"หากฤษฎีกาช่วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ กลุ่ม 40 ส.ว. แถลงคัดค้านการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ได้รับเอกสารจากมูลนิธิเอเชียกับพลเมืองไทย ที่ได้สำรวจความเห็นประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 1,500 ตัวอย่าง ในพื้นที่กทม. และ 26 จังหวัด พบว่า ร้อยละ 67 เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะที่ร้อยละ 10 เห็นควรให้รัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนร้อยละ 16 เห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระ
ส่วนการทำประชามติ ร้อยละ 84 เห็นว่า ต้องทำก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้ไขมาตรา 237 ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรคงไว้ถึงร้อยละ 62 ขณะที่ ร้อยละ 31 ให้ยกเลิก สำหรับการออกกฎหมายนิรโทษให้นักการเมือง ประชาชนไม่เห็นด้วย ถึงร้อยละ 69 มีเห็นด้วยเพียงร้อยละ 21
นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรให้รัฐบาลอยู่จนครบวาระ ซึ่งการสำรวจดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ เพราะมีมาตรฐานสูง เป็นการถามตอบแบบตัวต่อตัว ซึ่งผลสำรวจตรงนี้รัฐบาลควรฟังเสียงประชาชน ไม่ควรรีบเร่งแก้ไข เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า ถามว่าถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญใครเดือดร้อน ประชาชนไม่รู้สึกเดือดร้อน มีแต่นักการเมืองที่เดือดร้อนมากกว่า ดูจากผลของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ออกฤทธิ์ชี้มูลให้อดีตนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ผิดในกรณีเขาพระวิหาร และข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ 6 ประเด็น มีแต่ผลประโยชน์ของนักการเมือง เป็นลักษณะของผู้รับเหมาที่แก้สเปกเพื่อตัวเอง ในลักษณะชงเองกินเอง โดยเฉพาะการปลดล็อก สมาชิก 111 และ 109

**"มาร์ค"พึ่งกฤษฎีกาชี้แนวทาง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการนัดคุยกับวิป 3 ฝ่ายในการแก้ไขรัฐธรรรมนูญว่า ประธานวิปรัฐบาลบอกกับตนว่า ได้นัดวิปอีก 2 ฝ่าย ในวันนี้ ( 1 ต.ค.) ตอนกลางวัน และจะนัดพบตนอีกครั้ง อาจจะเป็นวันศุกร์ หรือสัปดาห์หน้า ซึ่งสำหรับตนจะเป็นวันไหนก็ได้ ตอนนี้วิปขอคุยกันเองก่อน
ส่วนกรณีที่พรรคภูมิใจไทย เสนอว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญหากจบวรรค 1 ให้ทำประชามติ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ดูข้อกฎหมายอยู่ในขณะนี้ว่า วิธีการขั้นตอนจะทำชั้นไหนอย่างไร ในเรื่องการทำประชามติ หากจะทำประชามติแบบผูกมัดกฎหมายเลย ยังมีข้อถกเถียงว่า ต้องแก้มาตรา 291 ก่อนหรือไม่ หากเป็นว่าการแก้มาตรา 291 ก่อน แล้วจะเป็นปัญหาอุปสรรค และทำให้เสียเวลาอาจจะต้องตัดช่องทางนั้นไป ทั้งนี้จะอยู่ที่ว่า ก่อนร่างหรือจะทำระหว่างชั้นกรรมาธิการ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการรับฟังความคิดเห็น อันนี้ทำได้ทั้ง 2 ทาง
เมื่อถามว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา จะให้คำตอบเมื่อไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอบมาเบื้องต้นแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนทั้งหมด เพียงแต่บอกว่ามีช่องทางเหมือนกัน แต่ต้องดูอีกทีว่าเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งรัฐบาลจะอาศัยรัฐธรรมนูญในมาตราว่าด้วยประชามติ และทำประชามติ ซึ่งความเห็นนั้นจะส่งไปให้กรรมาธิการ
เมื่อถามว่า ในเมื่อจะเสียเงิน 2 พันล้านบาทแล้ว ทำไมไม่ถามประชาชนไปทั้งฉบับเลย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าสมมติว่ารับไปแล้วทั้งฉบับ ถามว่าแก้ไม่แก้ เราไม่อยากถามอย่างนั้น เพราะคนตอบว่าแก้ จะไม่สามารถตอบได้ว่าแก้เรื่องไหน หากเขาอยากให้แก้เรื่องวุฒิสภา แต่สภาไปแก้เรื่องกฎหมายเลือกตั้ง ก็จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน
ฉะนั้นอยากทำให้ลักษณะที่ว่า สมมติขณะนี้ยึดตามหลักของกรรมการสมานฉันท์ฯ ที่เสนอมา 6 ประเด็น โดยถามประชาชนทั้ง 6 ประเด็นว่า เอาหรือไม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าประชาชนต้องการแก้ ไม่แก้ ประเด็นไหน และที่มีการพูดกันว่า 6 ประเด็น 2 พันล้าน รวมเป็น 1 หมื่น 2 พันล้านบาทนั้น ไม่ใช่ เราทำพร้อมกัน ไม่ได้ 6 ครั้ง
**วิป 3 ฝ่ายถกแก้ รธน.วันนี้
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า มีการนัดประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายในวันนี้ เวลา 10.00 น. เพื่อหารือให้ได้ข้อยุติในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มอบหมายให้แต่ละฝ่ายไปศึกษา ไม่ว่าจะเป็นวิธีการยกร่าง และกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน คิดว่าหลังจากวิปทั้ง 3 ฝ่ายหารือกันแล้ว ตนจะรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ว่าจะเชิญวิปทั้ง 3 ฝ่ายไปหารืออย่างเป็นทางการได้วันไหน
ทั้งนี้ ตนจะขอความเห็นจากวิป 3 ฝ่ายว่า ช่วงประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีนั้น แต่ละฝ่ายควรจะมีตัวแทนเท่าไร และกรอบที่จะพูดคุยนั้นควรเป็นอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือ เราอยากเห็นกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการปฎิรูปการเมือง และการสร้างความสมานฉันท์อย่างแท้จริง
ผู้สี่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีการต่อรองกับพรรคภูมิใจไทย เรื่องการทำประชามติ นายชินวรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเรื่องของการต่อรองกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยเฉพาะ วันนี้ทุกฝ่ายจะต้องต่อรองกับพี่น้อประชาชนคือ กระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะต้องทำให้ประชาชนเห็นว่า ถึงแม้จะมีประเด็นที่อาจจะเกี่ยวข้องทางการเมืองโดยตรง แต่ประเด็นเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์ได้ ซึ่งกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนมั่นใจคือการมีส่วนร่วมของประชาชน
สำหรับกรณีที่ นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ระบุว่าน่าจะมีการพิจารณาผ่านวาระแรกไปก่อน แล้วค่อยทำประชามตินั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า รายละเอียดคุยกันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องการพิจารณาสอบถามความคิดเห็น หรือประเด็นที่จะยกร่างเป็นรายมาตรา ตลอดจนการทำประชามติ แต่ก่อนที่จะได้ข้อยุตินั้น ก็ยังสามารถพูดคุยกันได้ ไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตามการทำประชามติจะทำก่อนหรือหลังการพิจารณานั้น ยังไม่ได้มีการพูดจากัน เพราะทุกพรรคอยากฟังผลการหารือของวิป 3 ฝ่าย และนายกรัฐมนตรีก่อน
**วิปวุฒิแนะใช้ประชาพิจารณ์
นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ตัวแทนวิปวุฒิ และประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวถึงการประชุมร่วม 3 ฝ่าย ในวันนี้ ประเด็นที่จะคุยกันคือ เรื่องจะยกร่างร่างเดียว หรือแยกเป็น 6 ร่าง และจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไร ซึ่งวิปวุฒิไม่มีปัญหา จะปล่อยให้วิปฝ่ายค้าน และวิปรัฐบาลหารือกัน เพราะพวกตนเป็นตัวแทนวิปวุฒิก็จริง แต่ไม่ได้ไปพูดในนามความเห็นของส.ว.ทั้งหมด ทำได้เพียงไปให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ซึ่งการประชุมร่วม 3 ฝ่ายครั้งที่แล้ว ตนก็เคยให้ข้อมูลไปแล้วว่า ปัญหาคือ ทุกฝ่ายเห็นด้วยในการแก้ไข 6 ประเด็น หรือไม่ ถ้าเห็นพ้อง ตนก็แนะว่า ควรร่างเป็นร่างเดียว เพื่อโหวตไปด้วยกันหมด เพราะหากแยกเป็น 6 ร่าง ตอนโหวต เกิดไม่เป็นไปตามที่ตกลง ก็จะไม่สมานฉันท์กันอีก
ส่วนเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ตนก็อธิบายว่า แก้รัฐธรรมนูญโดยกระบวนการตามมาตรา 291 ทำได้ และแก้เล็กน้อยจึงไม่ใช่ปัญหา รัฐสภาสามารถตัดสินใจได้เลย แต่ถ้ารัฐบาลเกรงว่า ประชาชนจะไม่เห็นด้วย จะประชามติหรือประชาพิจารณ์ ก็ต้องดูว่า แบบไหนดีกว่ากัน แต่ประชามติตอนนี้กฎหมายยังไม่ออก และมีทางเลือกแค่เอา กับไม่เอา ส่วนประชาพิจารณ์ สามารถเปิดให้พูดคุยกันได้ วิจารณ์กันได้ และทำได้เลย ก็ต้องให้วิปฝ่ายค้านและรัฐบาลไปถกกัน ส่วนของวุฒิ ส.ว.ส่วนมากเห็นไปในทางประชาพิจารณ์มากกว่าประชามติ แต่สุดท้ายจะเอาอย่างไรกันก็ไม่มีปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น