แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.เผยผลโพลประชาชนอยากมีส่วนร่วมแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งเห็นควรทำประชามติก่อนแก้ไข ค้านแก้กฎเหล็กมาตรา 237 ทั้งเห็นไม่ควรนิรโทษกรรม “ประสาร” เหน็บไม่มีใครเดือดร้อนนอกจากนักการเมือง ด้าน “สมชาย” ข้องใจ ภท.กลับลำหนุนทำประชามติแลกเอ็นจีวี
วันนี้ (30 ก.ย.) ที่รัฐสภา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ กลุ่ม 40 ส.ว. แถลงคัดค้านการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ได้รับเอกสารจากมูลนิธิเอเชียกับพลเมืองไทย ที่ได้สำรวจความเห็นประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง 1,500 ตัวอย่าง ในพื้นที่ กทม.และ 26 จังหวัด พบว่า ร้อยละ 67 เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะที่ร้อยละ 10 เห็นควรให้รัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนร้อยละ 16 เห็นว่า ควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระ ส่วนการทำประชามติร้อยละ 84 เห็นว่า ต้องทำก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้ไขมาตรา 237 ส่วนใหญ่เห็นว่าควรคงไว้ถึงร้อยละ 62 ขณะที่ร้อยละ 31 ให้ยกเลิก สำหรับการออกกฎหมายนิรโทษให้นักการเมือง ประชาชนไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ 69 มีเห็นด้วยเพียงร้อยละ 21 นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าควรให้รัฐบาลอยู่จนครบวาระ ซึ่งการสำรวจดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ เพราะมีมาตรฐานสูง เป็นการถามตอบแบบตัวต่อตัว ซึ่งผลสำรวจตรงนี้รัฐบาลควรฟังเสียงประชาชน ไม่ควรรีบเร่งแก้ไขเพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชน
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า ถามว่าถ้าไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญใครเดือดร้อน ประชาชนไม่รู้สึกเดือดร้อน มีแต่นักการเมืองที่เดือดร้อนมากกว่าดูจากผลของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ออกฤทธิ์ชี้มูลให้อดีตนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ผิดในกรณีเขาพระวิหาร และข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ 6 ประเด็นมีแต่ผลประโยชน์ของนักการเมือง เป็นลักษณะของผู้รับเหมาที่แก้เสปกเพื่อตัวเอง ในลักษณะชงเองกินเอง โดยเฉพาะการปลดล็อกสมาชิก 111 และ 109
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า ต้องขอบคุณคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ใช้ความกล้าหาญในการตัดสินใจอย่างตรงไปตรงมา กรณีอดีตรัฐบาลไปลงนามสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และคดีสลายการชุมนุมวันที่ 7 ตุลา ขอชื่นชมและให้กำลังใจกับ ป.ป.ช.ในการทำงานครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ พรรคภูมิใจไทยมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พอจะมีการอนุมัติโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ก็มีท่าทีเปลี่ยนไป โดยเฉพาะมีความเห็นสอดคล้องกับนายกฯ ที่กำหนดระยะเวลาที่จะใช้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จใน 9 เดือน