ส.ว.สรรหา จี้กระทู้ถามรัฐบาลจัดการปัญหาขัดแย้งไทย-กัมพูชา ซัด “ฮุนเซน” พาดพิงกระบวนการยุติธรรม-ปักปันเขตแดน ชี้ “มาร์ค” ควรแจงนโยบายรักษาความสัมพันธ์เพื่อนบ้าน สันติวิธี ส่งรองนายกฯ-รมว.กลาโหมทำความเข้าใจ จี้ยูเอ็นช่วยคลี่คลายข้อพิพาท
วันนี้ (2 พ.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณากระทู้ถามด่วนที่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้สอบถามนายกรัฐมนตรี ถึงเรื่องการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ ว่าจากกรณีที่สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเรื่องกัมพูชาและไทยระหว่างที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ที่เดินทางไปไปเยือนเมื่อวันที่ 21 ต.ค. ในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมไทย และอาจเป็นการแทรกแซงกิจการภายประเทศไทย รวมถึงที่การให้สัมภาษณ์อีกครั้งในลักษณะใกล้เคียงกันเมื่อนายกฯกัมพูชาเดินทางมาประเทศไทยเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ซึ่งสร้างความความไม่พอใจให้กับประชาชนคนไทยอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งล่าสุดมีการนัดปิดล้อมสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยในวันที่ 2 พ.ย.นี้ ซึ่งอาจทำให้ปัญหาขยายตัวลุกลามได้ ถามว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการตอบโต้สมเด็จฮุนเซนฯด้วยมาตรการทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างไร หลังเกิดเหตุการณ์รัฐบาลจะดำเนินการต่อการนำบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับ ที่จะเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาตามาตรา 190 อย่างไร นอกจากนี้จะคัดค้านมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่ยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็มรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวต่อไปหรือไม่อย่างไร
นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า เป้าหมายในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลไทย คือ ต้องการรักษาความสัมพันธ์อันดีต่อประเทศเพื่อนบ้านโดยแนวทางสันติวิธี ซึ่งยืนยันว่าจะไม่ให้ประเทศไทยเสียสิทธิ โดยแนวทางที่นอกเหนือจากการให้ให้สัมภาษณ์แล้ว คือในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในชะอำและหัวหินที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมได้หารือกับสมเด็จฯ ฮุนเซน เพื่อทำความเข้าใจในข้อมูลที่อาจจะได้รับคลาดเคลื่อนทั้งเรื่องสถานการการเมือง กระบวนการยุติธรรม การดำเนินกิจกรรมของนักการเมืองฝ่ายค้าน นอกจากนี้ยังให้กรมเอเชียตะวันออกได้ทำความเข้าใจกับเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ส่วนเรื่องการนำบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (JBC) จำนวน 3 ฉบับที่เข้ามาขอความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 9-10 พ.ย.นี้ นั้นการดำเนินทุกขั้นตอนจะยึดกลไกกรรมาธิการร่วมเป็นหลักและจะเปิดกว้างให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อข้อสังเกต โดยเบื้องต้นจากการหรือกับวิปทั้ง 2 สภา ก็ไม่ขัดข้องหากจะตั้องคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา และหากมีบุคคลภายนอกก็เป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายไปจัดสรรกันเอง อย่างไรก็ตาม คาดว่ารายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯคงเสร็จไม่ทันสมัยประชุมนี้
นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงแนวทางการคัดค้านมติของคณะกรรมการมรดกโลกที่ยอมให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียวว่า เรื่องนี้รัฐบาลได้ส่ง รมว.ทรัพยากรฯ ไปติดตามและขณะนี้ได้เลื่อนการประชุมตัดสินเรื่องนี้จากวันที่ 1 ก.พ.2552 เป็น 1 ก.พ.2552 และน่าจะเลื่อนออกไปอีก นอกจากนี้ยังมีการดำเนินงานอีกหลายทาง อาทิ ส่งตัวแทนเข้าเป็นคณะกรรมการมรดกโลก ขอตรวจสอบเอกสารที่ทางกัมพูชาส่งให้คณะกรรมการมรดกโลก และหน่วยงานที่มีหน้าที่ส่งเสรริมสันติภาพอย่างสหประชาติจะต้องเข้ามาจัดการเรื่องนี้เนื่องจากเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งบานปลาย
นายคำนูณถามอีกว่า กรณีที่ไทยไปลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจใน 2543 ที่เสมือนไปยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้น ทั้งๆ ที่ศาลโลกไม่ได้ยอมรับ เหมือนกับว่าประเทศเสียดินแดนไปแล้ว นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า แผนที่ที่ไทยยอมรับจะต้องมาจากคณะทำงานของคณะกรรมการ JBC เท่านั้น ซึ่งแผนที่ดังกล่าวไม่ใช่ของคณะทำงาน ซึ่งศาลโลกก็ไม่ยอมรับเช่นเดียวกัน
จากนั้นที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณากระทู้ถามด่วนที่นางตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา ได้สอบถามนายกรัฐมนตรี เรื่องปัญหาการเจรจาเนื่องจากการปักปันเขตแดนในพื้นที่ต่อเนื่องกับประเทศกัมพูชา ว่าขณะนี้เทคโนโลยีภาพถ่านทางอากาศและภาพถ่านดาวเทียมพัฒนาขึ้นมามากจนสามารถมองเห็นสันปันน้ำอย่างชัดเจน แต่ชาวกัมพูชาได้ย้านหลักเขตออกจากแนวปักปันเดิมจนล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย รัฐบาลจะมีทางที่จะปักปันหลักเขตแดนให้กลับไปอยู่ที่แนวสันปันน้ำโดยยึดถือแนวและระยะทางตามแผนที่เสริมการเดินสำรวจได้หรือไม่ ส่วนพื้นที่ทางทะเลที่กัมพูชาอ้างไม่ถูกต้อง ทั้งแนวเขตแดนทางทะเลหรือพื้นที่ดินใต้ทะเลที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของไทย รัฐบาลได้หาวิธีเจรจาอย่างไร
ด้าน นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ตอบว่า ยืนยันว่าปัญหาไทยกัมพูชาจะต้องแก้ด้วยสันติวิธี โดยการเจรจาแบบทวิภาคี ทั้งนี้เส้นแบ่งเขตแดนไทยกัมพูชาจะไม่ใช้เฉพาะสันปันน้ำ แต่ใช้ทั้งเขตลำน้ำและแผ่นดิน ทาง JBC ก็เห็นว่าภาพถ่ายทางอากศและภาพถ่ายทางดาวเทียมเป็นประโยชน์จึงได้ตกลงร่วมกันที่จะจัดทำ อย่างไรก็ตาม ทางไทยจะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาก่อน ส่วนแนวทางในการปักปันเขตแดนและรุกล้ำเขตแดนของกัมพูชาก็มีการดำเนินการทั้งในระดับรัฐมนตรีกลาโหม และกองทพทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ไม่ขัดข้องหากนัดโบราณคดีจะเข้าร่วมในการปักปันเขตแดน แต่คงต้องปรึกษากับกรมแผนที่ทหารว่าสามารถทำได้หรือไม่ สำหรับพื้นที่ทางทะเลที่ทางกัมพูชาได้อ้างสิทธิไม่ถูกต้องจะต้องมีการหารือในระดับทวิภาคีต่อไปโดยไทยได้มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ไปหารือกับนายซก อาน รองนายกฯ กัมพูชา รวมทั้งขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังเตรียมเอกสารและคำชี้แจงเพื่อเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ เพื่อเข้าสู่สภาต่อไป