ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีทหารกัมพูชาจับตัว “นายพนิช วิกิตเศรษฐ์” ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ และคนไทยอีก 6 คน เช่น นายวีระ สมความคิด ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ ฯลฯ พร้อมตั้งข้อหาบุกรุกดินแดนของราชอาณาจักรกัมพูชาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2553 ขณะลงไปสำรวจพื้นที่บริเวณชายแดนบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว นั้น มีเงื่อนงำที่สังคมจะต้องแสวงหาคำตอบ 3 ประการใหญ่ๆ ด้วยกัน
ประเด็นแรก นายพนิชเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวด้วยเหตุผลกลใด
ประเด็นที่สอง พื้นที่ที่นายพนิชและคณะเดินทางเข้าไปนั้น เป็นดินแดนกัมพูชาตามที่นายฮุนเซนและรัฐบาลกัมพูชากล่าวอ้างหรือไม่ หรือเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทย
และประเด็นที่สาม ผลจากเหตุการณ์ได้สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาในแง่มุมไหนได้บ้าง รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต่อกรณีที่เกิดขึ้นมีความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยหรือไม่อย่างไร
รวมทั้งอีกหนึ่งคำถามถึงการเคลื่อนไหวของนายวีระว่า มีเจตนาอะไรที่นอกเหนือไปจากการปกป้องอธิปไตยของชาติหรือไม่ และปฏิบัติการครั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยดังเช่นที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ พยายามปัดสวะพร้อมยัดเยียดข้อหาทำให้บ้านเมืองวุ่นวายมาให้จริงหรือ
**ลับลวงพรางกับแผนสลายพันธมิตรฯ
สำหรับประเด็นแรกนั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า การเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเพราะต้องการเข้าไปสำรวจปัญหาชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยในชั้นแรกได้มีการติดต่อประสานงานมายัง “นายเทพมนตรี ลิมปพยอม” เพื่อขอให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยร่วมเดินทางเข้าไป แต่เมื่อพันธมิตรฯ ไม่ตอบตกลงตามคำเชิญเนื่องจากเกรงปัญหาบางประการ ทำให้นายพนิชติดต่อประสานงานไปยัง “นายวีระ สมความคิด” ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ เพื่อสำรวจพื้นที่ดังกล่าวแทน
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ การเดินทางของนายพนิชในครั้งนี้นั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เป็นการเดินทางไปตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยหลักฐานคือ การที่นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ว่า “คนไทยที่ถูกเขมรจับกุมทั้ง 7 คน เข้าไปดูพื้นที่ตามที่มีชาวบ้านมาร้องเรียนเรื่องที่ทำกิน รวมทั้งหลักเขตแดน ซึ่งผมได้มอบหมายให้นายพนิชไปประสานงานกับบุคคลที่มีความคิดเห็นเรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อทราบปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ และก่อนเดินทางนายพนิชบอกว่าจะไปลงพื้นที่”
หรืออีกหนึ่งประจักษ์พยานที่ชัดเจนคือคลิปวิดีโอขณะที่นายพนิชกำลังเดินทางเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวพร้อมกับพูดคุยโทรศัพท์ว่า “บอกท่านนายกฯ ว่าน่าจะเงียบๆ ไว้ มีอะไรจะได้ประสานเข้าไป บอกว่าเราข้ามเข้ามาแล้ว พวกเราข้ามมาแล้วพยายามจะมาที่หมุด 46 ซึ่งอยู่ในฝั่งไทยแต่เป็นพื้นที่ที่ทหารกัมพูชาอยู่”
นี่คือหลักฐานที่มัดนายอภิสิทธิ์จนไม่อาจมีข้อแก้ตัวใดๆ ได้
ดังนั้น การเดินทางครั้งนี้จึงมีการวางแผนล่วงหน้า มิใช่เป็นการไปโดยปัจจุบันทันด่วน
กระนั้นก็ดี สิ่งที่น่าสงสัยยิ่งอยู่ตรงที่ว่าเบื้องหลังของการเดินทางครั้งนี้มี “วาระซ่อนเร้น” แอบแฝงหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าในวันที่ 25 มกราคม 54 ที่จะถึงนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีกำหนดการที่จะชุมนุมใหญ่เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์แก้ปัญหาปราสาทพระวิหารให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยการยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาว่า
ด้วยการสำรวจและการจัดทำหลักเขตทางบก หรือที่รู้จักกันในชื่อของ MOU43 อันเป็นเอกสารที่ทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงต่อการเสียดินแดนด้วยการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 รวมทั้งถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิกมรดกโลก
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้คือการเดินทางเข้าไปเพื่อแก้เกมการชุมนุมของพันธมิตรฯ
ขณะเดียวกันก็อาจเป็นปฏิบัติการที่ต้องการแยกสลายมวลชนของพันธมิตรฯ โดยให้นายพนิชเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในการแสดงให้เห็นถึงคุณอันวิเศษของ MOU43 ในการแก้ปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชา จนทำให้พันธมิตรฯ หมดความชอบธรรมในการระดมคนให้ออกมาชุมนุมในวันที่ 25 ม.ค. รวมทั้งหวังผลต่อคะแนนนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ ดังเช่นที่วิทยุเอเชียเสรีของกัมพูชารายงานว่า เป็นปฏิบัติการเพื่อหวังให้ส่งผลต่อคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้ ข้อผิดสังเกตที่สุดเห็นจะเป็นถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของ “นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต” เลขานุการของ “นายกษิต ภิรมย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ออกมากล่าวต่อสังคมหลายครั้งหลายคราว่า “การเคลื่อนไหวของเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาตินั้นก็เป็นสิทธิ ไม่อยากจะไปพูดว่าจะไปกระทบต่อกระบวนการทางกฎหมาย แต่ถ้าเรายิ่งไปทำให้เรื่องนี้เป็นที่สนใจ หรือโด่งดังมากขึ้นเท่าไหร่ บางครั้งก็จะมีแรงสะท้อนกลับมา ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นโทษหรือเป็นคุณต่อคนไทยทั้ง 7 แต่กระทรวงการต่างประเทศเดินหน้าดูแลเต็มที่”
แปลไทยเป็นไทยก็คือไม่อยากให้เกิดการชุมนุมขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งนั่นอาจหมายรวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 ม.ค.ด้วย
ยิ่งเมื่อฟังคำให้สัมภาษณ์ของ “นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาผลการประชุมของคณะกรรมกรรมเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) ที่ไม่ได้เดินทางไปด้วยเพราะติดภารกิจในวันดังกล่าว โดยยอมรับว่า การเดินทางครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาความไม่เข้าใจปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาอันนำไปสู่การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 25 มกราคมนี้แล้ว ซึ่งว่ากันแบบสุดโต่งก็อาจมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า การถูกจับกุมครั้งนี้อาจเป็นเกมที่ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้าแล้วก็ได้
เพราะทั้งนายอภิสิทธิ์และนายพนิชย่อมรู้อยู่เต็มอกแล้วว่า การเดินทางครั้งนี้สุ่มเสี่ยง และการเคลื่อนไหวของเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติที่มีนายวีระเป็นแกนนำคนสำคัญนั้น มีแนวทางการเคลื่อนไหวในลักษณะใด และก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมครั้งนี้ นายวีระก็เคยถูกจับกุมมาแล้วถึง 3 ครั้ง เฉพาะในพื้นที่หลักเขตที่ 46 ก็เคยถูกจับกุมมาแล้ว 1 ครั้งก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวมา
นายพนิชย่อมมิใช่ตาสีตาสาหรือเด็กน้อยที่มิรู้ความ และนายพนิชนั้นก็มีใช่มีแต่ตำแหน่ง ส.ส.ธรรมดา หากแต่เคยมีตำแหน่งเป็นถึง “อดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกรทรวงการต่างประเทศ” และเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาผลการประชุมของคณะกรรมกรรมเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี)
เช่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการในครั้งนี้
แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่า การวางแผนของนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อถูก “ใครบางคน” หักหลัง กระทั่งข้อมูลการเดินทางรั่วไหลไปถึงมือกัมพูชา ปฏิบัติการครั้งนี้จึงถูกซ้อนแผน เพราะรัฐบาลนายฮุนเซนหวังผลเลิศในการจับกุมคณะคนไทยทั้ง 7 คนเพื่อนำไปใช้ในประกาศอธิปไตยของตนเองเหนือแผ่นดินไทย
**อธิปไตยของไทยมิใช่ของเขมร
ส่วนประเด็นที่สองคือ พื้นที่ที่นายพนิชเดินทางเข้าไปนั้น เป็นดินแดนของของกัมพูชาตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาลนายฮุนเซน รวมทั้งการยอมรับของฝ่ายทหารและกระทรวงการต่างประเทศของนายกษิต ภิรมย์ จริงหรือไม่
ประเด็นนี้มีจุดที่ต้องขยายความและทำความเข้าใจในหลากหลายเหตุผล
ทั้งนี้ นายพนิชและคณะถูกจับกุมที่บริเวณชายแดนบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนที่อยู่ระหว่างหลักเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ 46,47 และ 48 โดยคณะของนายพนิชเดินลงจากถนนศรีเพ็ญผ่านถนนเค 5 ที่ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่า เป็นพื้นที่พิพาทที่ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องของเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศที่ชัดเจน
ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมพื้นที่ซึ่งเป็นปัญหามีต้นสายปลายเหตุมาจากการที่ที่ดิน น.ส. 3 ซึ่งเดิมทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้กับนายเข็ม แพงแลงนูน ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2517 ซึ่งที่ดินดังกล่าวได้ขายไปให้นายเบ พูลสุข ต่อมานายเบ พูลสุขได้เสียชีวิตไปแล้วที่ดินจึงตกอยู่กับลูก ซึ่งที่ดินบริเวณนี้ปัจจุบันอยู่ บ้านหนองจาน จ.สระแก้ว และได้ร้องเรียนกับหน่วยงานราชการว่ากัมพูชาได้รุกเข้ามายึดที่ทำมาหากินของราษฎรโดยที่ข้าราชการและนักการเมือง ไม่มีใครใส่ใจ กระทั่งทำให้ทั้ง 7 คนต้องเดินทางไปพิสูจน์ความจริง
ดังนั้น รัฐบาลไทยโดยนายอภิสิทธิ์และกระทรวงการต่างประเทศของนายกษิตก็สมควรที่จะต้องยืนยันว่าเป็นดินแดนของประเทศไทย เพราะเป็นพื้นที่พิพาทที่ยังไม่มีข้อยุติ
นอกจากนี้ ภายหลังจากนายพนิชถูกจับกุม ผู้สื่อข่าวก็ได้สอบถามข้อเท็จจริงจากปากของนายพนิชโดยตรง ซึ่งนายพนิชก็ยืนยันว่า “คณะของเขาถูกจับกุมหลังจากที่จอดรถอยู่ริมถนนศรีเพ็ญ บ้านหนองจาน อ.โคกสูง จ.สระแก้ว เพื่อจะเดินเข้าไปสอบถามถึงเหตุการณ์ต่างๆจากชาวบ้านในหมู่บ้าน ทันใดนั้น กลุ่มทหารเขมร 8-9 คนพร้อมอาวุธครบมือเข้ามาล้อมกรอบและจับกุมตัว ซึ่งผมพยายามแสดงตนว่าเป็น ส.ส. และคณะกรรมาธิการฯ โดยโชว์บัตรประจำตัว ส.ส. แต่กลุ่มทหารกัมพูชาชุดดังกล่าวไม่ฟังเสียง พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์สื่อสาร กล้องถ่ายรูปกระเป๋าสตางค์ของทุกคน และพามากักตัวไว้ที่บริเวณสวนผลไม้ ใกล้ค่ายทหารของเขา ซึ่งระหว่างที่มีการเจรจาต่อรอง ผมได้โทรศัพท์หานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่ายังอยู่ในเขตพื้นที่ของไทย เพราะอยู่ในพื้นที่ของชาวบ้านที่มีโฉนดที่ดินเป็นหลักฐาน”
เช่นเดียวกับที่ “จ.ส.อ.ฤทธี เคยประสิทธิ์” เจ้าของที่ดินในหลักเขตที่ 46-48 อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ที่เชื่อว่า จุดที่นายพนิชยืนและถูกจับกุมเป็นพื้นที่เขตแดนไทย คาดว่า ทหารเขมรคงซุ่มอยู่จนเห็นว่าเข้ามาใกล้ดินแดนจึงจับกุมและสร้างหลักฐานว่ารุกล้ำพื้นที่ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมใน “เสียงจากคนในพื้นที่ 7 คนไทยถูกเขมรจับ ในเขตประเทศไทย”)
หรือที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ เล่าย้อนหลังในสมัยที่เขายังคงดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติว่า พื้นที่ที่เกิดปัญหาเป็นผลมาจากเหตุการณ์ในช่วง ค.ศ.1918-1920 ที่ขณะนั้นอินโดจีน 3 ประเทศคือ ลาว กัมพูชาและเวียดนามเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งในกัมพูชานั้น เขมรแดงสามารถขับไล่รัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จและยึดกัมพูชาได้ทั้งหมด โดยสงครามดังกล่าวทำให้เกิดการอพยพของคนกัมพูชาข้ามเข้ามาในเขตแดนไทย ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีการประสานความร่วมมือกับสำนักงานผู้ว่าการใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงคราม(UNHCR) เข้ามาดูแลผู้อพยพจากภัยสงครามด้วยการจัดหาหมู่บ้านให้อยู่ โดยให้อยู่ตามแนวชายแดน แต่ลึกเข้ามาในเขตแดนไทย ดังนั้น จึงยืนยันได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของไทย แล้วให้ผู้อพยพเข้ามาอยู่
ทว่า ความอัปยศก็เกิดขึ้น ทั้งจากนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประทศ ที่ลงทุนเดินทางเจรจากับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาที่กรุงพนมเปญ พร้อมกล่าวอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “มีข้อมูลยืนยันระหว่างฝ่ายไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะพิกัดของทั้ง 7 คน ฝ่ายไทยทราบข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงที่มีเจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกรมแผนที่ทหารเข้าไปสำรวจใกล้กับจุดเกิดเหตุพบว่า มีการรุกล้ำเข้าไปในเขตกัมพูชาประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ โดยรุกล้ำเข้าไปในหมู่บ้าน”
ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เมื่อมีการถามว่า คนไทยทั้ง 7 คนยอมรับแล้วหรือไม่ว่าล้ำเข้าเขตกัมพูชา นายกษิตก็ตอบว่า “ยอมรับแล้ว ได้นำแผนที่แสดงพิกัด พร้อมนำภาพวิดีโอคลิปมาให้ดูด้วย”
เป็นการพูดแบบมัดมือชกโดยที่คนทั้ง 7 มิได้มีส่วนร่วมรู้และชี้แจงแถลงไขแต่ประการใด
แต่ที่หลายคนรับไม่ได้คือ ขณะที่ทั้ง 7 คนต้องการพิสูจน์ความจริงให้เป็นที่ประจักษ์ว่า เป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทย แต่กลับมีรายงานในคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า นายกษิตไม่พอใจในเหตุที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ถึงขนาดกล่าวออกมาว่า “การกระทำของคณะคนไทยถือเป็นการกระทำที่อ่อนหัด ไม่รู้กระบวนการของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”
และไม่เพียงแต่นายกษิตเท่านั้น นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ก็กล่าวออกมาอย่างหน้าตาเฉยเช่นกันว่า “กระบวนการตรวจสอบพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหารและกระทรวงการต่างประเทศได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่า เส้นทางคณะของนายพนิชได้รุกล้ำเขตพื้นที่กัมพูชาจริง แต่ไม่ได้เจตนา”
แต่สุดท้าย ท่านผู้ยิ่งใหญ่แห่งกระทรวงต่างประเทศต้องหน้าแหกไปตามๆ กัน เมื่อพลตรี นพดล โชติศิริ รองเจ้ากรมแผนที่ทหาร ออกมาให้ข้อมูลว่า หลังจากเกิดเหตุคนไทยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 53 กระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปวัดพิกัด เพื่อกำหนดจุดที่ถูกจับกุมว่าอยู่ในพื้นที่ใด โดยเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สำรวจในวันที่ 31 ธ.ค. ผลการวัดพิกัดสำรวจ พบว่า จุดที่คณะของนายพนิชถูกจับกุม อยู่ที่หน้าซุ้มประตูวัดโจกเจีย ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างจากหลักเขตแดนที่ 46 และ 47 เข้าไปในประเทศกัมพูชา 55 เมตร และอยู่ก่อนถึงทางเข้าวัดโจกเจีย ประมาณ 350 เมตร ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่ระหว่างการหาข้อยุติเรื่องการปักปันเขตแดน โดยชั้นต้นอยู่ในขั้นสำรวจปักปันเขตแดน
นั่นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าพื้นที่ที่ “คณะคนไทย” ถูกทหารกัมพูชาจับกุมตัวนั้นเป็นพื้นที่ของกัมพูชาอย่างที่ “คณะคนในกระทรวงต่างประเทศ” ออกมายอมรับอย่างหน้าชื่นตาบาน
ที่สำคัญคือเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กัมพูชาพยายามยัดเยียดข้อหาให้กับคณะคนไทยทั้ง 7 คน ดังเช่นที่นายวีระกล่าวสั้นๆหลังเสร็จการไต่ส่วน และเดินทางกลับไปยังเรือนจำเพรซอร์ว่า "พวกเขาพยายามยัดข้อกล่าวหาให้เรา”
**ปัดสวะใส่พันธมิตรฯ
เกมถนัดของคน ปชป.(บางคน)
สำหรับประเด็นที่สามคือผลจากเหตุการณ์ได้สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาในแง่มุมไหนได้บ้าง รวมทั้งท่าทีของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต่อกรณีที่เกิดขึ้นมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
เรื่องนี้มีความชัดเจนว่า เป็นเกมที่มีความลึกซึ้งในหลายมิติ เพราะถ้าหากสังเกตให้ลึกซึ้งจะเห็นว่า ภายหลังการจับกุมตัวนายพนิชและคณะ ฝ่ายรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ให้ข่าวเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจในทันทีว่า เป็นฝีมือของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว นายวีระ สมความคิด มิได้เคลื่อนไหวในนามพันธมิตรฯ หากแต่เคลื่อนไหวในนามเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ
เสมือนหนึ่งมีเจตนาที่จะทำให้สังคมได้เข้าใจว่า พันธมิตรฯ กำลังทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายขึ้น
ทั้งๆ ที่จุดยืนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมีความชัดเจนจากปากของ “นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า ไม่เห็นด้วยกับปฏิบัติการครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ชัดแจ้งว่า หากถูกจับจะกลายเป็นตัวประกันและทำให้กัมพูชาสามารถใช้อำนาจศาลในอธิปไตยในดินแดนไทยและทำให้กัมพูชาใช้สร้างอำนาจต่อรองสูงขึ้น หรือหากไปแล้วเกิดเป็นพื้นที่สันติภาพไม่มีความขัดแย้งก็จะยิ่งเป็นการสร้างหลักฐานมากขึ้นเพื่อนำไปสู่แผนบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกปราสาทพระวิหารซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีสำหรับประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ก็ต้องบอกว่า แม้กลุ่มของนายวีระจะมีเป้าหมายเหมือนกับพันธมิตรฯ คือต้องการปกป้องดินแดนไทย แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า แนวทางในการดำเนินงานไม่เหมือนกัน ดังเช่นที่สังคมประจักษ์ในหลายครั้งหลายครา
ด้วยเหตุดังกล่าว แม้จะเข้าใจในเจตนาของนายวีระ แต่ก็อดตั้งข้อสังเกตด้วยความบริสุทธิ์ใจไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวของนายวีระในครั้งนี้มีเป้าประสงค์อันใดนอกเหนือไปจากการปกป้องดินแดนของราชอาณาจักรไทยหรือไม่
**มาร์ค” โคตรอ่อนหัด-ไร้ภาวะผู้นำ
อย่างไรก็ตาม ทั้งหลายทั้งปวงสิ่งที่น่าผิดหวังที่สุดเห็นจะเป็นตัวของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรีของไทยเอง เพราะนอกจากจะรับรู้เรื่องการเดินทางของนายพนิชมาโดยตลอดแล้ว ภายหลังจากที่นายพนิชและคณะถูกทหารกัมพูชาจับกุมไปเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 ที่ผ่านมา การออกโรงช่วยเหลือของนายอภิสิทธิ์ในฐานะผู้นำสูงสุดของประเทศก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า มะงุมมะงาหรา และไม่ทันเกมของฝั่งกัมพูชา
ซ้ำร้ายนายอภิสิทธิ์ยังยอมรับออกมาจากปากของตนเองว่า จนกระทั่งถึงวันที่ 4 ม.ค.54 เขายังไม่เคยโทรศัพท์ไปหานายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาเลยแม้แต่เพียงครั้งเดียว ประหนึ่งมิได้อนาทรร้อนใจความเดือดร้อนของคนไทยที่ต้องตกระกำลำบากในต่างประเทศ พร้อมทั้งปัดสวะหรือโยนปัญหาทั้งหมดให้กระทรวงการต่างประเทศกระทำการไปตามยถากรรม
เรียกว่า อ่อนหัดและขาดภาวะผู้นำอย่างรุนแรง
ต่างจากนายฮุนเซนที่มีปฏิกิริยาตอบโต้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างรวดเร็ว ดังเช่นที่สำนักข่าวเดิมอัมปรึลของกัมพูชารายงานว่า นายฮุนเซนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กัมพูชาส่งตัวนายพนิชและคณะไปยังเรือนจำทันที พร้อมประกาศอย่างไม่ลังเลว่า คณะของนายพนิชเข้ามายังแผ่นดินกัมพูชาโดยผิดกฎหมาย
เพราะการปล่อยให้รัฐบาลนายฮุนเซนส่งตัวนายพนิชขึ้นศาลและรอให้ศาลมีคำพิพากษาลงมานั้นเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความละเอียดอ่อนต่อปัญหาเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา ดังเช่นที่ “นายเจริญ คัมภีรภาพ” นักกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า คดีนี้ศาลกัมพูชาไม่มีอำนาจพิจารณาและตัดสินคดี เพราะคดีนี้เป็นคดีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนที่รัฐไทยและรัฐกัมพูชาต่างอ้างว่าเป็นดินแดนของตนเอง เป็นเรื่องของรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่เรื่องคนหลบหนีเข้าเมือง ดังนั้นต้องใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐต่อรัฐตามกฎบัตรสหประชาชาติ ไม่ใช่ศาลของประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีนี้
ที่สำคัญคือ ถ้าปล่อยให้ศาลกัมพูชาตัดสินคดีนี้ เท่ากับไทยไปยอมรับอำนาจศาลกัมพูชา และยอมรับว่าดินแดนที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่นั้นเป็นของกัมพูชา
ทั้งนี้ นายเจริญยังชี้แนะด้วยว่า รัฐบาลไทยต้องดำเนินการในนามของรัฐไทยยื่นหนังสือต่อสหประชาชาติคัดค้านอำนาจศาลกัมพูชาว่าไม่มีอำนาจในการพิจารณาตัดสินคดีนี้โดยด่วน และทนายต้องยกข้อต่อสู้ในศาลกัมพูชาว่าเขาไม่มีอำนาจตัดสินเรื่องนี้
นอกจากนั้น การที่ทหารกัมพูชาจับกุมคณะของนายพนิชยังเข้าข่าย “การลักพาตัว(Abduction) เนื่องจากสนธิสัญญาว่าด้วยความคุ้มครองพลเรือนในยามสงครามและยามสงบ หรือสนธิสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ซึ่งไทยและกัมพูชาได้ลงสัตยาบันไว้ มีกฎเหล็ก 10 ข้อ โดยหนึ่งในกฎเหล็กระบุเอาไว้ว่า การที่ประเทศใดไปจับกุมพลเรือนของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วอ้างว่าอยู่ในดินแดนของตนเองเป็นการลักพาตัว ซึ่งผิดกฎหมาย
...แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ รวมถึงนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กลับไม่สนใจที่จะดำเนินการในประเด็นเหล่านี้ แต่กลับยินยอมพร้อมใจที่จะให้คนไทยยอมรับความผิดและรอรับการพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์กัมพูชา
ท่าทีของนายอภิสิทธิ์เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่าง “จีน” และ “ญี่ปุ่น” อันเป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นจับเรือประมงจีนที่เข้าไปหาปลาในเขตพิพาทของทั้งสองประเทศบริเวณหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก ก็ยิ่งเห็นภาวะผู้นำที่ชัดเจนของนายอภิสิทธิ์ว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดินในการปกป้องศักดิ์ของชาติ เพราะหลังจากเกิดเรื่องทางการปักกิ่งได้เรียกเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเข้าพบหลายครั้ง ทั้งยังยกเลิกการหารือเกี่ยวกับการสำรวจพลังงานร่วมกันในทะเลจีนตะวันออก และยกเลิกการเยือนญี่ปุ่นของ ส.ส.และผู้ติดตามคณะหนึ่งด้วย ไม่นับรวมถึงการผู้ประท้วงชาวจีนหลายพันคนออกไปชุมนุมบนท้องถนนในหลายเมืองเพื่อยืนยันสิทธิของจีนในการครอบครองหมู่เกาะพิพาท ขณะที่กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นก็ตอบโต้ด้วยของบประมาณสำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะส่งทหารไปประจำการ
และแม้ว่าสุดท้ายแล้วไต๋กงเรือประมงจีนและลูกเรือทั้งหมด จะได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา แต่จีนก็ยังคงไม่หยุดและตอบโต้ด้วยการยกเลิกการพบปะกับผู้นำญี่ปุ่น อีกทั้งยืนกรานว่า การจับกุมไต๋กงเรือ เป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายและไม่สมเหตุสมผล
แต่สำหรับนายอภิสิทธิ์ เราไม่เคยเห็นภาพเช่นนั้นเลย
ดังนั้น จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะยิบยืมคำพูดของโมฆะบุรุษอย่างนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ที่กล่าวถึงการช่วยเหลือคณะ 7 คนไทยของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่บัดนี้ก็เป็นโมฆะบุรุษเช่นกันอย่างเจ็บแสบว่า “การทำงานของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือล่าช้า เพราะควรรีบให้การช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มแรกที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ชายแดน โดยนายอภิสิทธิ์ ควรโทรศัพท์เจรจากับสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทันทีที่คนไทยถูกควบคุมตัว แต่กลับปล่อยให้ถูกควบคุมตัวไปที่กรุงพนมเปญ ทำให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก”
และว่ากันว่า การถูกจับกุมของนายพนิช ผู้ที่เสียใจและผิดหวังที่สุดก็คือ นางพัชรีพร วิกิตเศรษฐ์ ภรรยาของนายพนิช เพราะสุดท้ายแล้วสามีของเธอที่เดินทางไปตามคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรีรูปหล่อผู้นี้อย่างสุดความสามารถ
นี่ถ้าไม่มีคลิปวิดีโอยืนยัน นายอภิสิทธิ์คงปฏิเสธอย่างหัวชนฝาว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ทั้งสิ้น
และถ้านางพัชรีพรพูดภาษาเขมรได้ก็คงต้องฝากถ้อยคำอันสุนทรีไปถึงนายอภิสิทธิ์ว่า “เนี๊ยะเนือมเสียมเจิ๊ดคะเมา ลายตาคะลาจขะแมร์ จอล โกนเซอะ เนอวกุก”
แปลเขมรเป็นไทยได้ว่า “ผู้นำไทยใจดำ มัวแต่ขี้ขลาดกลัวเขมร ทิ้งลูกน้องให้ติดคุก”