xs
xsm
sm
md
lg

เครดิตหุ้นกู้TMBชุดใหม่"A-A+"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)(TMB)ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารที่ระดับ “A” และ “BBB+” ตามลำดับ ในขณะเดียวกันทริสเรทติ้งยังประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 8,000 ล้านบาทของธนาคารที่ระดับ “A+” ด้วย ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Stable” หรือ “คงที่”

โดยอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ด้อยสิทธิสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและการสนับสนุนที่ต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคาร ING Bank N.V. ซึ่งมีฐานะเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารกิจการของธนาคารและช่วยเสริมสถานะทางการเงินและการดำเนินงานของธนาคารให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยธนาคารได้รับประโยชน์ด้านความรู้ความชำนาญจาก ING Bank เกี่ยวกับระบบบริหารความเสี่ยง รวมทั้งด้านจุดแข็งของธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย ประกันภัย และบริการด้านบริหารสินทรัพย์ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตของธนาคารในอนาคต ธนาคารยังมีเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับผลขาดทุนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงในอนาคตเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวได้รับแรงกดดันจากการที่ธนาคารยังมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับค่อนข้างสูง ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ยังอ่อนแอ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและภาวะการเงินทั่วโลกซึ่งอาจจำกัดการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

ด้านบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ระดับ "A(tha)" แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของธนาคารทหารไทย (TMB มีอันดับเครดิตภายในประเทศที่ "A+(tha)"/"F1(tha)"/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) จำนวนรวมไม่เกิน 8,000 ล้านบาท อายุ 10 ปี โดยอันดับเครดิตของ TMB สะท้อนถึงเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากการเพิ่มทุนของ ING Bank NV ในเดือนธันวาคม 2550 ผลการดำเนินงานของธนาคารมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการที่ธนาคารจะกลับมาเน้นในด้านการขยายธุรกิจมากขึ้นหลังจากการปรับโครงสร้างการดำเนินงานที่มี ING มาร่วมด้วยเสร็จสิ้นลง อย่างไรก็ตามธนาคารยังมีความเสี่ยงด้านผลประกอบการ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่ยังคงอ่อนแอ

ขณะที่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ TMB ได้ลดลงอย่างมากเป็น 54.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2552 จาก 70.6 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มูลค่า 15 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 14.8% ณ สิ้นปี 2552 (16.5% ณ สิ้นปี 2551) TMB ยังคงมีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่นที่ 57.3% ณ สิ้นปี 2552 ในขณะที่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนแอและธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ส่งผลให้ TMB ยังคงมีความเสี่ยงในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญและการขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคาร
กำลังโหลดความคิดเห็น