xs
xsm
sm
md
lg

ฟิทช์ลดเครดิตไฮบริดฯTMB ขาดทุนสะสมเพียบงดจ่ายดบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ลดอันดับเครดิตไฮบริด บอนด์ของธนาคารทหารไทยเป็น B จาก B- ระบุจากผลการดำเนินงานในปีนี้ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะยังขาดทุน และจากที่มีผลขาดทุนสะสมเพียบทำใหัยังสามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ แต่เชื่อว่าจะดีขึ้นในปีหน้าหลังการปรับโครงสร้างเสร็จสมบูรณ์

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) เป็น B จากเดิม B+ และประกาศคงอันดับเครดิตอื่นของ TMB ได้แก่อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Issuer Default Rating) ของธนาคารที่ BBB- แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ F3 อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ C/D อันดับเครดิตสนับสนุนที่ 3 อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Ratings) ที่ A+(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ F1(tha) อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ BB+ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ A(tha) อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ได้ถูกปรับเป็น BB+ จาก BB เนื่องจากการทบทวนระดับความสำคัญของธนาคารต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ รวมถึงการถือหุ้นบางส่วนในธนาคารของรัฐบาล

ทั้งนี้ การปรับลดอันดับเครดิต Hybrid Tier 1 ดังกล่าว สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นที่ธนาคารอาจมีผลการดำเนินงานขาดทุนในช่วงครึ่งปีหลังปี 2552 หลังจากที่ TMB ประกาศผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 ประกอบกับธนาคารอาจจะต้องมีการตั้งสำรองหนี้สงสัญจะสูญและการตั้งสำรองการด้อยค่าของสินทรัพย์อื่นเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลังปี 2552 รวมถึง TMB ยังคงมีผลขาดทุนสะสมเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)ไม่อนุญาตให้ TMB จ่ายดอกเบี้ยของ Hybrid Tier 1 อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่ธนาคารไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยของตราสารด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 น่าจะลดลงในปี 2553 เนื่องจาก TMB มีแผนที่จะปรับโครงสร้างเงินทุนของธนาคาร และจะมีการล้างผลขาดทุนสะสมดังกล่าว

สำหรับอันดับเครดิตระยะยาวและอันดับเครดิตอื่นของ TMB สะท้อนถึงเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมากหลังจากการเพิ่มทุนของ ING Bank NV ในเดือนธันวาคม 2550 แม้ว่าผลการดำเนินงานในปี 2552 ของธนาคารจะได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของธนาคารที่ยังไม่แล้วเสร็จและสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แต่ทั้งนี้คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2553 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการที่ธนาคารจะกลับมาเน้นในด้านการขยายธุรกิจมากขึ้น แต่ธนาคารยังมีความเสี่ยงในการดำเนินงาน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอและธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ ทั้งนี้ความเสี่ยงดังกล่าวได้สะท้อนอยู่ในแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของธนาคาร

เนื่องจากการปรับโครงสร้างการบริหารและการดำเนินงาน เพื่อรวมกับ ING และนโยบายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ในปี 2551 TMB มีกำไรสุทธิเพียง 0.5 พันล้านบาท สำหรับครึ่งปีแรกปี 2552 TMB ยังคงมีกำไรสุทธิเพียงเล็กน้อยที่ 0.8 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้ที่ลดลง จากการที่สินเชื่อของธนาคารยังคงลดลงอย่างมาก (ลดลง 13.7% จากสิ้นปี 2551) และการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.4% อย่างไรก็ตามคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจะปรับตัวสูงขึ้นในปี 2553 เนื่องจากการลดลงของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการเติบโตของสินเชื่อ
กำลังโหลดความคิดเห็น