xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สมเพช!!คำแก้ตัว“นช.ทักษิณ”เจตนา“หมิ่นศาล”-ปั่นหัว “สาวก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังศาลมีคำพิพากษาออกมาโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าหากย้อนหลังกลับไปดูการตอบโต้ของ นช.ทักษิณ ชินวัตร และหัวโจกกลุ่มคนเสื้อแดงแล้ว ก็จะเห็นว่าเป็นไปด้วยความตื้นเขินและเบาปัญญายิ่ง เพราะนอกจากจะมีเป้าหมายเพื่อดิสเครดิตและหมิ่นศาลแล้ว ยังเป็นการตอบโต้ที่มุ่งเน้นเพียงแค่การกระตุ้นให้กลุ่มคนเสื้อแดงโกรธเกรี้ยวและพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงทำร้ายทำลายบ้านเมืองเป็นสำคัญ

ยิ่งในกรณีประเด็นทางกฎหมายที่ทีมนักกฎหมายเสื้อแดงหยิบยกขึ้นมาต่อสู้ด้วยแล้ว ยิ่งอเนจอนาถใจเข้าไปใหญ่ เพราะไม่ได้มี “ข้อเท็จจริง” อันเป็นหลักฐานใหม่ที่มาหักล้างคำพิพากษาให้ศาลและสังคมได้เชื่อมั่นได้เลยว่า “ไม่โกง” หากเป็นเพียงการหยิบยกเอาประเด็นทางกฎหมายที่เป็นแค่เปลือกมานำเสนอด้วยถ้อยคำหรูๆ เท่านั้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของ “นายประเกียรติ นาสิมมา” ส.ส.สัดส่วน พรรค พท. ทีมกฎหมายของพรรคที่กลายเป็นประเด็นพาดหัวของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

ประเด็นที่นายประเกียรติหยิบยกขึ้นมามี 2 ข้อด้วยกันคือ 

หนึ่ง-จะนำกรณีศาลฎีกาวินิจฉัยคดียึดทรัพย์สมัย รสช.ว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ที่มี พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธานให้มีอำนาจสอบสวนและสั่งอายัดทรัพย์นักการเมืองนั้น ขัดต่อประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นการตั้งคณะบุคคลที่มิใช่ศาลมาทำการเช่นเดียวกับศาล ทรัพย์สินนักการเมืองที่สั่งอายัดให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นทรัพย์ที่นักการเมืองได้มาก่อนประกาศ รสช. จะมีผลบังคับใช้ การยึดทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นการออกและใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง จึงขัดธรรมนูญการปกครอง พ.ศ.2534 และใช้บังคับมิได้

สอง- ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 เข้าข่ายออกกฎหมายให้มีโทษย้อนหลังหรือไม่ และเมื่อ คตส.หมดวาระลงก่อนทำงานเส็จสิ้น การส่งคดีไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อนั้น อำนาจของ ป.ป.ช.มีหรือไม่ ที่จะรับช่วงคดีต่อ

ทั้ง 2 ประเด็นไม่เห็นมีหลักฐานใหม่ที่สามารถนำมาหักล้างคำพิพากษาของศาลได้เลยแม้แต่นิดเดียว ทำไมนายประเกียรติถึงไม่นำหลักฐานใหม่มายื่นอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วันว่า นช.ทักษิณไม่ได้ซุกหุ้น นช.ทักษิณไม่ได้ทุจริตเชิงนโนบายและใช้ตำแหน่งหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและวงศ์วานว่านเครือ

ในประเด็นนี้ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประกาศฉบับดังกล่าวไม่ได้ย้อนหลัง เพราะเนื้อหาของประกาศฉบับนี้คือ ให้ คตส.ใช้อำนาจกฎหมายปกติ คือ กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแหงชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสรรพากร ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ โดนลงโทษตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. 2542 ฐานร่ำรวยผิดปกติ ดังนั้นจึงไม่ใช่การเอากฎหมายที่คณะรัฐประหารทำมาลงโทษ แต่เป็นกฎหมายที่มีมาแต่เดิม ซึ่งหากจะยื่นแค่เฉพาะจุดนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์รัฐธรรมนูญมาตรา 278 วรรคสาม

ส่วนกรณี รสช. นั้น เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ต่อมา รสช.ออกรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2534 คดีก็เกิดขึ้น ซึ่งฉบับชั่วคราวเขียนเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินทำนองว่า การใดที่ รสช.ทำให้ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ได้เขียนว่าให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับถาวรปี 2534 เขียนรับรองฉบับชั่วคราวปี 2534 เมื่อมีการยึดทรัพย์ต่อมา ผู้ถูกยึดทรัพย์ อุทธรณ์ศาลฎีกาให้คืนทรัพย์ ซึ่งการที่ศาลตัดสินว่าให้คืนทรัพย์นั้น ศาลได้ตัดสินบนฐานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2534 ประกอบฉบับถาวรปี 2534 โดยศาลอ้างว่าคดีชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ได้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยอ้างหลักรัฐธรรมนูญและจารีตการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ไม่สามารถให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน มีอำนาจเป็นศาลพิเศษสั่งยึดอายัดทรัพย์ได้

ขณะที่คดีปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 49 มีการเขียนรับรองการกระทำให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และฉบับ 50 ก็ยังเขียนซ้ำเข้าไปอีกในมาตรา 309 และ คตส.ก็ให้มีอำนาจเพียงแค่สั่งอายัดชั่วคราว ไม่ได้ให้อำนาจยึดเลย และใช้กฎหมายที่มีตามปกติและยังให้เข้าสู่กระบวนการศาลปกติ จึงเป็นความต่างในช่องการต่อสู้การคืนทรัพย์

เช่นเดียวกับการแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาอันตื้นเขินของ “นายจตุพร พรหมพันธุ์” หัวโจกแก๊ง 3 เกลอหัวขวดที่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคำพิพากษาของศาล โดยพยายามชี้นำให้เห็นว่า มี “ใบสั่ง” ให้คำตัดสินออกมาเช่นนี้ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ศาลจะนัดประชุมกันในช่วงเช้าเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง พอตกบ่ายจะมีคำพิพากษาออกมาให้อ่านยาวเหยียด 7-8 ชั่วโมงได้

เหตุที่บอกว่า “ตุ๊ดตู่” เป็นเพียงแค่คนปลุกม็อบที่หวังเพียงแค่ “สู้แล้วรวย” ก็เพราะมิได้เคยรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการตัดสินของศาลเลยว่าเป็นเช่นใด ซึ่งในประเด็นนี้นั้น “นายอรรถพล ใหญ่สว่าง” รองอัยการสูงสุด ได้ให้สัมภาษณ์ ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์อย่างละเอียดในฉบับที่ผ่านมาเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่า เหตุที่องค์คณะทั้ง 9 ท่านมาประชุมในช่วงเช้าและอ่านคำตัดสินกลางในช่วงบ่ายของวันเดียวกันก็เพราะต้องการป้องกันมิให้เกิดข้อครหาเรื่องข้อสอบรั่ว จากนั้นก็นำคำพิพากษาส่วนตัวของแต่ละคนมาสรุปร่วมกันว่า ยึดหรือไม่ยึด เมื่อเสียงข้างมากไปทางไหน ก็จะเขียนคำพิพากษากลางขึ้นมา

ส่วนการเขียนคำพิพากษานั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยากอะไร เพราะเมื่อเสียงส่วนใหญ่บอกว่าให้ยึดทรัพย์ ก็จะนำคำพิพากษาส่วนตัวของผู้พิพากษาที่เห็นไปในทำนองเดียวกันมาเป็นต้นแบบในการเขียน แล้วสมัยนี้ก็มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้ ไม่ใช่ใช้พิมพ์ดีดเหมือนสมัยก่อนที่ต้องมานั่งพิมพ์ใหม่ตั้งแต่ต้นจนจบเสียเมื่อไหร่

ขณะที่เดียวกันการประกาศที่จะนำเรื่องนี้ไปสู่การพิจารณาของ “ศาลโลก” นั้น ก็เป็นเพียงแค่การประดิษฐ์ถ้อยคำให้แลดูโก้หรูในหมู่สาวกเท่านั้น โดยบรรดาผู้รู้ที่ได้รับการยอมรับนับถือ ไม่ว่าจะเป็น “นายแก้วสรร อติโพธิ” อดีต คตส. นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ รวมทั้ง “อ.อักขราทร จุฬารัตน” ประธานศาลปกครองสูงสุด และคนอื่นๆ ต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า ทำไม่ได้

ส่วนประเด็นสุดท้ายที่ “นช.ทักษิณ” หยิบยกขึ้นมาปั่นหัวสาวกเล่น โดยเปิดประเด็นจาก “น้องเอม-น.ส.พิณทองทา ชินวัตร” ที่ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวภาคค่ำของสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนแนลของคนเสื้อแดงเกี่ยวกับเรื่องการเรียกเก็บภาษี 12,000 ล้านบาท

“เรื่องคดีตอนนี้ค่อนข้างงงมาก เพราะว่าหุ้นตัวเดียวกันบอกว่าเป็นของคุณพ่อ โอ๊คกับเอมเป็นนอมินี ไม่ใช่เจ้าของตัวจริง ก็ยึดทรัพย์ไป 4 หมื่น 6 พันล้าน แต่ทางสรรพากรก็มาเรียกเก็บภาษี บอกว่าโอ๊คกับเอมเป็นเจ้าของทรัพย์ ขายแล้วได้กำไรก็จะขอมาเก็บภาษีอีก 1 หมื่น 2 พันล้าน ตรงนี้เอมยังงงอยู่ว่าหุ้นตัวเดียวกันทำไมมี 2 กรณีแบบนี้ แล้วชื่อบัญชีของเอมก็โดนยึดหมด ไม่ได้คืนสักบาทเดียว ก็ไม่รู้จะเอาเงินจากไหนมาจ่ายภาษีที่ว่านี้”

แต่ข้อเท็จจริงที่น้องเอมและนช.ทักษิณต้องรับรู้ก่อนที่จะบิดเบือนก็คือ ในประเด็นนี้ศาลได้วินิจฉัยชัดแล้วว่า การเรียกเก็บภาษีซื้อหุ้นชินคอร์ป จากลูกชาย ลูกสาวเป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติของพ่อ ประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า การเรียกเก็บภาษีเงินได้ ให้เรียกเก็บจากคนที่มีชื่อปรากฏเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดเงินได้ หรือเป็นผู้ได้รับเงินได้จาก ทรัพย์สินนั้น

ในกรณีนี้ก็คือ ใครมีชื่อเป็นเจ้าของหุ้นชินคอร์ป ก็ต้องมีหน้าที่เสียภาษีจากการขายหุ้นชินคอร์ป หุ้นชินคอร์ปนั้นจะเป็นของตนจริงหรือไม่ หรือถือไว้แทนคนอื่น กฎหมายไม่สนใจ

หรือสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ทั้ง น.ส.พิณทองทา นายพานทองแท้ และนายบรรณพจน์ล้วนเป็น “นอมินี” ของ นช.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน จนกระทั่งมีการขายหุ้นให้เทมาเส็กเมื่อวันที่ 23 ก.ค.49 ดังนั้น ถ้าอยากได้เงินภาษีคืนก็ต้องยอมรับคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในคดียึดทรัพย์เสียก่อน จึงจะนำหลักฐานมาต่อสู้ในคดีภาษีได้

และถ้าทำอย่างนั้น ก็หมายความว่า คำร้องของ น.ส.พิณทองทาก็กลายเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่า พ่อของเธอซุกหุ้นจริงๆ

แต่ถ้าไม่ทำอย่างนั้น ก็จะเข้าข่าย “พ่อแม่รังแกฉัน” เพราะน.ส.พิณทองทาและนายพานทองแท้ก็จะต้องรับผิดแทนผู้เป็นพ่อต่อไป    

กำลังโหลดความคิดเห็น