สทศ.ยันไม่มีข้อสอบรั่ว เผยเด็กทำสัญลักษณ์ลงดินสอเพราะว่างจัด เชื่อทำคนเดียว ไม่เป็นขบวนการ ด้านเจ้าหน้าที่นำสัญลักษณ์เทียบกับเฉลยคำตอบพบถูกเพียง 30% รอพิจารณาลงดาบเข้าข่ายทุจริตหรือไม่ 25 มี.ค.นี้ รับตามดูครูคุมสอบบอกเฉลยเด็กไม่ไหว โยนต้องมีจิตสำนึก ด้าน “ชินภัทร” สั่งเขตพื้นที่ตั้งกรรมการสอบแล้ว
วันนี้(23 ก.พ.) ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีผู้คุมสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ประจำปีการศึกษา 2552 ที่สนามสอบโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ตรวจพบดินสอมีการทำสัญลักษณ์ของคำตอบหลายแท่ง โดยนักเรียนอ้างว่าเป็นเครื่องรางของขลังในการสอบ ว่า ตนได้ส่งเจ้าหน้าที่ สทศ.ไปพูดคุยกับนักเรียนคนดังกล่าวแล้ว เนื่องจากศูนย์สอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลได้ไม่มากนัก โดยเบื้องต้นตนไม่คิดว่าข้อสอบรั่ว แต่เป็นไปได้ว่าเด็กคงทำข้อสอบเสร็จแล้ว และมีเวลาว่าง จึงนำน้ำยาลบคำผิด มาทำสัญลักษณ์เป็นจุดๆ ไว้บนดินสอ เพื่อไว้ตรวจทานกับเพื่อน หรือไม่ก็ทำสัญลักษณ์ไว้ให้ตัวเองรู้ว่าเลือกตัวเลือกอะไร เพื่อไว้ตรวจทานกับข้อสอบในภายหลัง ที่สทศ.นำขึ้นเว็บไซต์แล้ว เนื่องจากผู้คุมสอบตรวจพบน้ำยาลบคำผิด 2 แท่ง ดินสอที่ทำสัญลักษณ์ 8 แท่ง ปากกาและไม้บรรทัดที่ทำสัญลักษณ์ อย่างละ 1 ด้าม/อัน ซึ่งคิดว่าแต่ละวิชาคงต้องใช้ดินสอหลายแท่งกว่าจะครบทั้ง 100 ข้อ
ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการตั้งข้อสังเกตว่าเด็กอาจทำสัญลักษณ์ไว้ตรวจทานกับเพื่อน ก็อาจไม่ใช่ เพราะผู้สอบคนดังกล่าว อายุ 28 ปี จึงไม่น่าจะมีเพื่อนรุ่นเดียวกันมาสอบ ซึ่งเคยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ถูกรีไทน์ จึงมาเรียนกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) แล้วมาสอบ O-NET ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีก ทั้งนี้ตนไม่คิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นขบวนการ เชื่อว่าทำคนเดียว อีกทั้งยังพบดินสอที่ทำสัญลักษณ์วิชาที่สอบวันแรก เช่น MAT ซึ่งน่าจะย่อมาจาก MATCH หรือคณิตศาสตร์ ก็ยังใส่ในกระเป๋าเพื่อนำมาสอบในวันที่ 2 ด้วย ซึ่งหากตั้งใจจะทุจริต ก็ไม่น่าจะนำมาในวันที่ 2 อีก
“เจ้าหน้าที่ สทศ. ได้ทดลองนำดินสอที่ทำสัญลักษณ์วิชาต่างๆ เหล่านั้นไปเทียบกับตัวเฉลย เช่น ปลายดินสอที่เขียนว่า T1 น่าจะย่อมาจาก Thai หรือวิชาภาษาไทย, SC น่าจะย่อมาจาก SCIENCE หรือวิทยาศาสตร์, ART หรือ ศิลปะ เป็นต้น และเมื่อนำมาเทียบกับเฉลยของแต่ละวิชาเหล่านั้น พบว่าโดยเฉลี่ยเด็กทำข้อสอบถูกเพียงแค่ 30% ขณะที่ความน่าจะเป็นจากการเดาคำตอบ จะมีโอกาสถูก 25% ดังนั้นอาจเป็นอย่างที่เด็กอ้างก็ได้ว่าเป็นเครื่องรางของขลัง แต่ทั้งนี้ จะต้องพูดคุยกับเด็กก่อน จะดูเจตนา สอบถามเด็กว่าทำสัญลักษณ์วิชาอะไรบ้างและให้เด็กชี้ว่าดินสอแท่งไหนเป็นวิชาอะไร เพื่อเป็นข้อมูลเสนอคณะกรรมการบริหาร สทศ. พิจารณาตัดสิน ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ว่ากรณีนี้เข้าข่ายทุจริตหรือไม่” ผอ.สทศ.กล่าว
ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่เข้าข่ายการทุจริตอื่นๆ หากชัดเจนและ สทศ.สามารถตัดสินได้ ก็จะตัดสินไปเลย เช่น กรณีการนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบ 9 ราย และล่าสุดในวันนี้( 23 ก.พ.) ก็ได้รับรายงานจากศูนย์สอบมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ ว่ามีนักเรียนทำผิดระเบียบโดยนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบอีก 2 ราย รวมทั้งสิ้น 11 ราย ซึ่งสทศ.จะไม่ประกาศผลในวิชานั้นๆ นอกจากนี้มีนักเรียน 2 คน ที่ทุจริตโดยการส่งโพยคำตอบให้แก่กัน ที่สนามสอบโรงเรียนเทพศิรินทร์ ในการสอบ O-NET วันแรก แต่ตนยังไม่ทราบว่าเด็กทั้งคู่มาจากโรงเรียนใด ซึ่งทาง สทศ.จะไม่ประกาศผลในวิชานั้นเช่นกัน
ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการทำผิดระเบียบผู้คุมสอบโดยการอ่านข้อสอบ พร้อมทั้งบอกคำเฉลยให้กับเด็ก โดยเฉพาะในการสอบ O-NET ระดับชั้นป.6 และม.3 ว่า การที่ครูผู้คุมสอบบอกข้อสอบเด็กน่าจะมีทุกปี สำหรับปีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในหลายๆ โรงเรียนก็คงต้องตั้งคำถามกลับไปว่าเป็นเพราะอะไร และหากจะให้สทศ. ตามคุมทุกสนามสอบคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเรื่องการคุมสอบให้ได้ดีคงต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นจะทำให้การสอบ O-NET ลดความน่าเชื่อถือลง อย่างไรก็ตามคะแนน O-NET ต้องนำไปใช้ให้มีผลกับตัวนักเรียนเอง แต่ไม่ควรนำไปใช้เชิงบริหารหรือให้คุณให้โทษกับทางโรงเรียน จึงอยากให้ผู้คุมสอบมีความรับผิดชอบมากกว่านี้
“ทั้งนี้สทศ.ได้เปิดให้มีการยื่นคำร้องการสอบ O-NET รอบพิเศษของเด็ก ม.6 ที่เกิดเหตุสุดวิสัยในวันสอบ เช่น ประสบอุบัติเหตุ , ป่วยเข้าโรงพยาบาล เป็นต้น สามารถยื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. - 2 มี.ค.นี้ และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.niets.or.th” ผอ.สทศ.กล่าว
ด้าน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ครูผู้คุมสอบบอกเฉลยแก่นักเรียนในการสอบ O-NET ว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน อย่างไรก็ตามได้ให้สั่งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) 3 แห่งได้แก่ สพท.ขอนแก่น เขต 2, สพท.สุพรรณบุรี เขต 3 และ สพท.บุรีรัมย์ เขต 1 ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงครูโรงเรียนในเขตพื้นที่ที่ถูกร้องเรียนแล้ว ส่วนกรณีที่ สทศ. สรุปว่าครูในโรงเรียน สพท.สุพรรณบุรี เขต 3 ไม่ได้ทุจริตนั้นก็ให้เป็นอำนาจการพิจารณาของเขตพื้นที่ว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนครูที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ หากเขตพื้นที่มีข้อมูลว่าครูมีความประพฤติส่อไปในทางไม่ถูกต้อง ก็จะต้องคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย
“การแก้ปัญหาไม่ให้ครูและนักเรียนทุจริตสอบ O-NET จะต้องทำความเข้าใจกับทุกหน่วยงานว่าคะแนน O-NET มีเพื่อติดตามคุณภาพการศึกษาในภาพรวมของประเทศ เพื่อนำคะแนน O-NET มาใช้เรียนต่อในระดับสูง ซึ่งจะกลายเป็นแรงจูงใจให้เด็กต้องการได้คะแนนสูงและตั้งใจสอบมากขึ้น ดังนั้นมาตรการในการป้องกันจะต้องทำให้เข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะการที่ครูไปบอกข้อสอบเด็กเพื่อให้ได้คะแนนสูงเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณ เพราะการสอบ O-NET เป็นการประเมินผลการศึกษา จะต้องมีความเป็นธรรมและมีความเป็นกลางอย่างที่สุด ซึ่งการช่วยในทางที่ผิด สพฐ.รับไม่ได้” เลขาฯ กพฐ. กล่าว
วันนี้(23 ก.พ.) ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีผู้คุมสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ประจำปีการศึกษา 2552 ที่สนามสอบโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ตรวจพบดินสอมีการทำสัญลักษณ์ของคำตอบหลายแท่ง โดยนักเรียนอ้างว่าเป็นเครื่องรางของขลังในการสอบ ว่า ตนได้ส่งเจ้าหน้าที่ สทศ.ไปพูดคุยกับนักเรียนคนดังกล่าวแล้ว เนื่องจากศูนย์สอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลได้ไม่มากนัก โดยเบื้องต้นตนไม่คิดว่าข้อสอบรั่ว แต่เป็นไปได้ว่าเด็กคงทำข้อสอบเสร็จแล้ว และมีเวลาว่าง จึงนำน้ำยาลบคำผิด มาทำสัญลักษณ์เป็นจุดๆ ไว้บนดินสอ เพื่อไว้ตรวจทานกับเพื่อน หรือไม่ก็ทำสัญลักษณ์ไว้ให้ตัวเองรู้ว่าเลือกตัวเลือกอะไร เพื่อไว้ตรวจทานกับข้อสอบในภายหลัง ที่สทศ.นำขึ้นเว็บไซต์แล้ว เนื่องจากผู้คุมสอบตรวจพบน้ำยาลบคำผิด 2 แท่ง ดินสอที่ทำสัญลักษณ์ 8 แท่ง ปากกาและไม้บรรทัดที่ทำสัญลักษณ์ อย่างละ 1 ด้าม/อัน ซึ่งคิดว่าแต่ละวิชาคงต้องใช้ดินสอหลายแท่งกว่าจะครบทั้ง 100 ข้อ
ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการตั้งข้อสังเกตว่าเด็กอาจทำสัญลักษณ์ไว้ตรวจทานกับเพื่อน ก็อาจไม่ใช่ เพราะผู้สอบคนดังกล่าว อายุ 28 ปี จึงไม่น่าจะมีเพื่อนรุ่นเดียวกันมาสอบ ซึ่งเคยเข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ถูกรีไทน์ จึงมาเรียนกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) แล้วมาสอบ O-NET ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าอยากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีก ทั้งนี้ตนไม่คิดว่าการกระทำดังกล่าวเป็นขบวนการ เชื่อว่าทำคนเดียว อีกทั้งยังพบดินสอที่ทำสัญลักษณ์วิชาที่สอบวันแรก เช่น MAT ซึ่งน่าจะย่อมาจาก MATCH หรือคณิตศาสตร์ ก็ยังใส่ในกระเป๋าเพื่อนำมาสอบในวันที่ 2 ด้วย ซึ่งหากตั้งใจจะทุจริต ก็ไม่น่าจะนำมาในวันที่ 2 อีก
“เจ้าหน้าที่ สทศ. ได้ทดลองนำดินสอที่ทำสัญลักษณ์วิชาต่างๆ เหล่านั้นไปเทียบกับตัวเฉลย เช่น ปลายดินสอที่เขียนว่า T1 น่าจะย่อมาจาก Thai หรือวิชาภาษาไทย, SC น่าจะย่อมาจาก SCIENCE หรือวิทยาศาสตร์, ART หรือ ศิลปะ เป็นต้น และเมื่อนำมาเทียบกับเฉลยของแต่ละวิชาเหล่านั้น พบว่าโดยเฉลี่ยเด็กทำข้อสอบถูกเพียงแค่ 30% ขณะที่ความน่าจะเป็นจากการเดาคำตอบ จะมีโอกาสถูก 25% ดังนั้นอาจเป็นอย่างที่เด็กอ้างก็ได้ว่าเป็นเครื่องรางของขลัง แต่ทั้งนี้ จะต้องพูดคุยกับเด็กก่อน จะดูเจตนา สอบถามเด็กว่าทำสัญลักษณ์วิชาอะไรบ้างและให้เด็กชี้ว่าดินสอแท่งไหนเป็นวิชาอะไร เพื่อเป็นข้อมูลเสนอคณะกรรมการบริหาร สทศ. พิจารณาตัดสิน ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ว่ากรณีนี้เข้าข่ายทุจริตหรือไม่” ผอ.สทศ.กล่าว
ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่เข้าข่ายการทุจริตอื่นๆ หากชัดเจนและ สทศ.สามารถตัดสินได้ ก็จะตัดสินไปเลย เช่น กรณีการนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบ 9 ราย และล่าสุดในวันนี้( 23 ก.พ.) ก็ได้รับรายงานจากศูนย์สอบมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ ว่ามีนักเรียนทำผิดระเบียบโดยนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบอีก 2 ราย รวมทั้งสิ้น 11 ราย ซึ่งสทศ.จะไม่ประกาศผลในวิชานั้นๆ นอกจากนี้มีนักเรียน 2 คน ที่ทุจริตโดยการส่งโพยคำตอบให้แก่กัน ที่สนามสอบโรงเรียนเทพศิรินทร์ ในการสอบ O-NET วันแรก แต่ตนยังไม่ทราบว่าเด็กทั้งคู่มาจากโรงเรียนใด ซึ่งทาง สทศ.จะไม่ประกาศผลในวิชานั้นเช่นกัน
ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการทำผิดระเบียบผู้คุมสอบโดยการอ่านข้อสอบ พร้อมทั้งบอกคำเฉลยให้กับเด็ก โดยเฉพาะในการสอบ O-NET ระดับชั้นป.6 และม.3 ว่า การที่ครูผู้คุมสอบบอกข้อสอบเด็กน่าจะมีทุกปี สำหรับปีนี้เห็นได้ชัดเจนว่าเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นในหลายๆ โรงเรียนก็คงต้องตั้งคำถามกลับไปว่าเป็นเพราะอะไร และหากจะให้สทศ. ตามคุมทุกสนามสอบคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเรื่องการคุมสอบให้ได้ดีคงต้องขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เช่นนั้นจะทำให้การสอบ O-NET ลดความน่าเชื่อถือลง อย่างไรก็ตามคะแนน O-NET ต้องนำไปใช้ให้มีผลกับตัวนักเรียนเอง แต่ไม่ควรนำไปใช้เชิงบริหารหรือให้คุณให้โทษกับทางโรงเรียน จึงอยากให้ผู้คุมสอบมีความรับผิดชอบมากกว่านี้
“ทั้งนี้สทศ.ได้เปิดให้มีการยื่นคำร้องการสอบ O-NET รอบพิเศษของเด็ก ม.6 ที่เกิดเหตุสุดวิสัยในวันสอบ เช่น ประสบอุบัติเหตุ , ป่วยเข้าโรงพยาบาล เป็นต้น สามารถยื่นคำร้องตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. - 2 มี.ค.นี้ และสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.niets.or.th” ผอ.สทศ.กล่าว
ด้าน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ครูผู้คุมสอบบอกเฉลยแก่นักเรียนในการสอบ O-NET ว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน อย่างไรก็ตามได้ให้สั่งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) 3 แห่งได้แก่ สพท.ขอนแก่น เขต 2, สพท.สุพรรณบุรี เขต 3 และ สพท.บุรีรัมย์ เขต 1 ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงครูโรงเรียนในเขตพื้นที่ที่ถูกร้องเรียนแล้ว ส่วนกรณีที่ สทศ. สรุปว่าครูในโรงเรียน สพท.สุพรรณบุรี เขต 3 ไม่ได้ทุจริตนั้นก็ให้เป็นอำนาจการพิจารณาของเขตพื้นที่ว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนครูที่ถูกร้องเรียนหรือไม่ หากเขตพื้นที่มีข้อมูลว่าครูมีความประพฤติส่อไปในทางไม่ถูกต้อง ก็จะต้องคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย
“การแก้ปัญหาไม่ให้ครูและนักเรียนทุจริตสอบ O-NET จะต้องทำความเข้าใจกับทุกหน่วยงานว่าคะแนน O-NET มีเพื่อติดตามคุณภาพการศึกษาในภาพรวมของประเทศ เพื่อนำคะแนน O-NET มาใช้เรียนต่อในระดับสูง ซึ่งจะกลายเป็นแรงจูงใจให้เด็กต้องการได้คะแนนสูงและตั้งใจสอบมากขึ้น ดังนั้นมาตรการในการป้องกันจะต้องทำให้เข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะการที่ครูไปบอกข้อสอบเด็กเพื่อให้ได้คะแนนสูงเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณ เพราะการสอบ O-NET เป็นการประเมินผลการศึกษา จะต้องมีความเป็นธรรมและมีความเป็นกลางอย่างที่สุด ซึ่งการช่วยในทางที่ผิด สพฐ.รับไม่ได้” เลขาฯ กพฐ. กล่าว