xs
xsm
sm
md
lg

ภาพเปลือยของ ‘เกษียร เตชะพีระ’

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ผมเคยได้แต่เดินเฉียดๆ หรืออาจจะเคยพูดคุยกับเกษียร เตชะพีระ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่บ้าง เข้าใจเสมอมาจากการอ่านข้อเขียนและบทความว่า อาจารย์เกษียร เป็นนักคิดและปัญญาชนที่เป็นมิตรกับความถูกต้องและความเป็นธรรมทั้งมวล

ความคิดเช่นนี้เองที่ทำให้เมื่อผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของเกษียรล่าสุดแล้ว ผมคิดว่า ผมคงต้องลงมือแลกเปลี่ยนและตอบคำถามจากความรับรู้และความเข้าใจของตัวเองว่า มีหลายอย่างที่ผมเชื่อว่า สิ่งที่เกษียรคิดนั้นไม่ถูก

แม้ว่าสังคมไทยทุกวันนี้จะดูแปลกๆ อยู่ สมมติว่า มีใครมากล่าวหาหรือวิจารณ์เรา ถ้าหากเราลุกขึ้นมาชี้แจงโต้แย้ง ก็จะถูกกล่าวหาว่า เราผลักมิตรให้เป็นศัตรู เหมือนบุญเลิศ ช้างใหญ่แห่งค่ายมติชน ที่ทุกวันนี้ข้อเขียนของเขาเหมือนเขียนโต้แย้งกับตัวเองในอดีต เพราะโกรธที่พันธมิตรฯ ไปวิจารณ์องค์กรของตัวเอง

แต่อ่านงานของบุญเลิศแล้วได้แต่หัวเราะ หึ หึ ความรู้สึกมันเฉยๆ ตื้นเหมือนน้ำขังริมถนนหลังฝนหลงฤดู เมื่อเทียบกับเกษียร เตชะพีระ ที่เป็นบ่อน้ำบนภูเขา

เกษียรก็เหมือนผม และเหมือนใครอีกหลายคนในประเทศนี้ ที่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เกิดและอาศัยเติบใหญ่ในแผ่นดินนี้ จบปริญญาตรีจากธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2526 ที่ช้าเพราะเป็นนักศึกษารุ่นท้ายๆ ที่ออกจากป่ากลับสู่เมือง หลังเข้าป่าจับอาวุธโค่นล้มรัฐบาลอยู่หลายปี แต่ก็ได้บรรจุเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทันทีที่เรียนจบ ก่อนจะลาไปเรียนต่อจนจบโทและเอก จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา

เพื่อนร่วมรุ่นของเกษียรหลายคนเป็นนักวิชาการ ทั้งนักวิชาการ “แดงซ่อนรูป” และนักวิชาการ “แดงพันธุ์แท้” เช่น ธงชัย วินิจจะกูล หัวโต-สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ รายหลังนี้รับใช้ทักษิณจนได้รับของขวัญเป็นบอร์ดธนาคารกรุงไทยในยุคที่ระบอบฉ้อฉลแผ่นดินยังเรืองอำนาจ

แน่นอนว่า แม้เกษียรจะไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหารที่โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ แต่เขาเคยเป็นผู้หนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณ และนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทย อย่างเผ็ดร้อนมาก่อน ดังนั้นถ้ามองจากอดีตเราไม่อาจเหมารวมว่า เขาเป็นพวกทักษิณ และไม่อาจเหมารวมว่า เป็นพวก “แดงซ่อนรูป” แบบนักวิชาการบางคน

แต่เราก็คงไม่สามารถใช้ตรรกะนี้มาอธิบายปัจจุบันที่ถูกต้องของเกษียรหรือนำมาใช้แก้ต่างว่า ถ้าใครเคยวิจารณ์ทักษิณมาก่อน ดังนั้นคนคนนั้นไม่ใช่พวกทักษิณ เพราะเวลาผมตอบโต้กับนักวิชาการประเภทนี้ ก็จะมีเสียงสอดมาทำนองว่า เขาเคยวิจารณ์ทักษิณมาก่อนคุณ

ขณะเดียวกันอาจเห็นพ้องต้องกันกับบทสัมภาษณ์ของเกษียรชิ้นนี้ ก่อนหน้าบทความของผมหนึ่งวัน ผมเห็นบทความของอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย และอาจารย์ชวินทร์ ลีนะบรรจง ถือ “มีด” ในมือ และวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ร่วมแรงชำแหละบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อยู่ก่อนแล้ว อ่านบทความของทั้งสองชิ้นก็อิ่มแล้ว ผมอาจจะนิ่งเฉยเสียก็ได้ แต่พอคิดแล้วว่ายังมีความในใจตกค้างอยู่ก็อดลงมืออีกแรงไม่ได้

เกษียรอย่าหาว่าผมทำซ้ำเลยครับ หรือถ้าคิดว่าทำไมพวกเราต้องลงแรงขนาดนี้ ก็ให้เข้าใจว่าเพราะ “ราคา” ของเกษียรนั่นแหละ จริงๆ แล้ว ผมอาจถือว่า บทสัมภาษณ์ของเกษียรเป็นอะไรที่ทำซ้ำบ้างก็ได้ เพราะอ่านแล้วเนื้อหาไม่ต่างกับที่ทักษิณ ตู่-จตุพร หรือวรัญชัย ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด ว่า “การพิพากษาครั้งนี้เท่ากับไปยอมรับอำนาจของการรัฐประหาร”

ผมคิดว่า เกษียรมีสิทธิจะไม่ยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร แต่นั่นเป็นความเห็นของเกษียร ที่ไม่จำเป็นต้องโต้แย้งว่า ผิดหรือถูก เพราะขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการและคนอีกจำนวนมากยอมรับ อำนาจรัฐประหารที่ลุกขึ้นมาโค่นล้มระบอบที่ฉ้อฉลและรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม และต่างคนต่างฝ่ายก็เอาทฤษฎีของตัวเองมาอธิบายดังปรากฏอยู่ทั่วไป

ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของเกษียรถูกหรือความเห็นของนักวิชาการที่ยอมรับการรัฐประหารในแง่นี้ถูก ก็ว่ากันไป แต่ไม่ใช่เกษียรจะบอกว่า ถ้าไม่คิดอย่างผมไม่ถูก สิ่งที่เป็นอยู่นั้นคือ “ความเห็น” และ “ความเชื่อ” ของเกษียรก็ช่างหัวเกษียรไม่ใช่ช่างหัวมัน

โชคดีที่เกษียรยังยอมรับว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เสรีนั้นอันตรายอาจถึงขั้นเป็นทรราชย์ได้ และยอมรับว่าทักษิณมีแนวโน้มจะเป็นแบบนั้น

แต่ตรรกะหลายอย่างของเกษียรอ่านแล้วตลก เช่น หัวใจของทุนนิยมคือกรรมสิทธิ์ แต่คำตัดสินวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ได้พาดเข้าไปกลางหัวใจทุนนิยม กล่าวคือ เมื่อถึงจุดหนึ่ง รัฐสามารถเข้าไปยึดทรัพย์สินของเอกชนได้ เหมือนเชือดไก่ให้ลิงดู จะทำให้ไม่มีกลุ่มทุนใหญ่ที่ไหนกล้าอีก เพราะได้เห็นตัวอย่างแล้วว่า โอ้โห...ทำมาหากินแทบเป็นแทบตาย แต่แป๊บเดียวโดนยึดเป็นหมื่นล้าน

เกษียรต้องการอะไรหรือครับ จะอธิบายว่า ต่อไปนี้ถ้านายทุนมาเล่นการเมืองแล้วรัฐอยากจะยึดทรัพย์สินเสียอย่างไรก็ได้หรือ เพราะต่อมาเกษียรก็บอกว่า ต่อไปนี้ไม่มีทุนใหญ่กล้าเข้ามาสู่การเมืองแล้ว

ผมถามว่า ถ้าทักษิณไม่ได้มีพฤติกรรมที่ศาลสาธยายกว่า 7 ชั่วโมง อย่าว่าแต่ “รัฐ” จะกล้ายึดเลย ต่อให้ “ศาล” ที่ไม่ค่อยมีใครกล้าวิพากษ์วิจารณ์จะกล้าตัดสินยึดทรัพย์ของทักษิณเช่นนั้นหรือ สังคมไทยทั้งสังคมจะยอมรับคำตัดสินที่ไม่มีเหตุมีผลเพียงเพื่อแกล้งจะยึดทรัพย์ของทักษิณ หรือหลับหูหลับตาคิดแบบเกษียรว่า ต้องยึดทรัพย์ทักษิณเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร

เกษียรจะไม่ยอมรัฐการรัฐประหารก็เรื่องหนึ่ง แต่ตรรกะแบบนั้นใช้ไม่ได้ เมื่อจะตอบโต้กับ “ข้อเท็จจริง” ที่เกิดขึ้นและศาลอธิบายให้ฟัง

เกษียรบอกว่า คนในสังคมจำนวนมาก ไม่สามารถพูดได้เต็ม 100% เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ของรัฐบาลคุณทักษิณ หลายคนสงสัยว่ามีการทุจริต แต่...เมื่อใดใช้รัฐประหารแก้คอร์รัปชันมันจะทำลายความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด

ถ้านั้นเกษียรก็เชื่อว่า “คนในสังคมอีกจำนวนไม่น้อย” นอกเหนือจาก “คนในสังคมจำนวนมาก” เชื่อว่า ทักษิณบริสุทธิ์ 100% เกษียรน่าจะอธิบายต่อว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น พวกเขาไม่เชื่อคำอธิบายของศาล เพราะไม่เชื่อข้อมูลที่ถูกนำมาเปิดเผย หรือหลงน่ามืดตามัวโดยไม่รับฟังเหตุผล

และผมคิดว่า การรัฐประหารไม่สามารถบดบังทำลายกระบวนการยุติธรรมและความยุติธรรมในคดีนี้ได้

ส่วนที่ว่าอย่าใช้รัฐประหารแก้ปัญหาคอร์รัปชันนั้นพูดไปก็ไม่ผิดหรอกครับ แต่ถ้าอำนาจในระบบไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รัฐสภา องค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม กระบวนการทั้งหมดถูกผู้มีอำนาจแทรกแซงจนเกือบจะเป็นทรราชย์ ผมคิดว่า เมื่อนั้นก็มีความจำเป็นและไม่แตกต่างอะไรกับที่เกษียรเคยเข้าป่าจับปืนที่โค่นล้มอำนาจรัฐที่ตัวเองคิดว่าอยุติธรรม

และนี่คือบริบทที่ สนธิ ลิ้มทองกุล เคยบอกว่าทหารควรเข้ามาจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่เกษียรเอามายอกย้อนว่า ต่อไปถ้าทุจริตนายอำเภอทหารก็ต้องออกมา ซึ่งง่ายไปเหมือนลีลาโต้คารมมัธยมศึกษาที่จำณัฐวุฒิมา

ส่วนที่เกษียรมั่วเอาว่า อัยการไม่ฟ้องพันธมิตรฯ ที่บุกยึดสนามบินโดยอ้างว่าไม่มีเจตนาเพื่อสร้างภาพมายาสองมาตรฐานนั้น ผมไม่คิดว่า เป็นการบิดเบือน แต่คิดว่าแกล้งโง่และสะเพร่าเท่านั้นเอง


                       surawhisky@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น