xs
xsm
sm
md
lg

คู่มือก่อนฟังคำพิพากษาแม้ว

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

“เอ็งกินเหล้า เมายา ไม่ว่าหรอก /แต่อย่าออก นอกทางไป ให้เสียผล /จงอย่ากิน สินบาท คาดสินบน /เรามันชน ชั้นปัญญา ตุลาการ”

บทกวีบทนี้ ทรงประพันธ์โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ บิดาแห่งกฎหมายไทย ซึ่งได้ทรงวางแนวสุจริต สัมมาปฏิบัติเป็นแนวทางให้กับตุลาการได้ถูกหยิบยกมากล่าวถึงบ่อยครั้งในระยะนี้

ด้านหนึ่งอาจสะท้อนว่า สังคมที่กำลังเกิดความแตกแยกทางความคิดอย่างใหญ่หลวงนี้ ได้ลุกลามไปสู่ความเคลือบแคลงใจต่อชนชั้นตุลาการซึ่งต้องมีหลักยึดอย่างเดียวคือ ความยุติธรรม

โดยเฉพาะคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านของทักษิณ ซึ่งกำลังมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 นี้ ซึ่งถ้าเราจับใจความทักษิณ ลิ่วล้อ และกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งธงไว้แล้วว่า การพิพากษาคดีจะยุติธรรมจะต้องให้ทักษิณพ้นจากผิดเท่านั้น เพราะไม่เช่นนั้นจะเท่ากับอำมาตย์แทรกแซงตุลาการเพื่อให้จัดการกับทักษิณ

และถ้าผลออกมาตรงข้ามกับความต้องการของทักษิณ ทักษิณก็ประกาศแล้วว่า จะไม่จบ ความสงบสุขในสังคมไทยจะไม่เกิด และเขาจะทวงถามความยุติธรรมไปทุกหนแห่งและจนกว่าชีวิตจะหาไม่

บรรยากาศเช่นนี้เกิดขึ้นคล้ายกับยุคที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษาคดีซุกหุ้นของจำเลยคนเดียวกันนี้ ซึ่งคุณประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญผู้ล่วงลับได้เคยบันทึกเอาไว้

“เมื่อใกล้จะถึงวันที่ศาลลงมติ มีข่าวหนาหูขึ้นว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนผู้ถูกร้องจะชุมนุมกันเพื่อกดดันศาล จะวางเพลิงศาล ตลอดจนจะทำร้ายตุลาการบางคน จนกระทั่งมีผู้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความคุ้มครอง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น ข่าวต่างๆ ดังกล่าวมานี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร? หากมิใช่เป็นการแสดง “ความเห็นแก่ตัวของคน”

ดังนั้นผลข้างเคียงของการพิจารณาคดีนี้มี 2 ประเด็นหลักคือ กระแสเรื่องความพยายามติดสินบน และการใช้กระแสสังคมกดดันศาล

กรณีที่มีข่าวลือว่า มีความพยายามติดสินบนศาลนั้นแม้จะยังไม่สามารถหาต้นตอของข่าวลือได้ แต่เมื่อถูกเปิดเผยออกมาก็ย่อมทำให้สังคมเคลือบแคลงและสงสัย เพราะพฤติกรรมดังกล่าวนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในคดีซุกหุ้น และคดีถุงขนม 2 ล้านบาท ที่ทนายความของทักษิณถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน

ส่วนพฤติกรรมที่ออกนอกลู่นอกทางของชนชั้นตุลาการนั้น ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน มีการลงโทษไล่ออกและถอดเครื่องราชฯ ผู้พิพากษาจำนวน 32 ราย

จะเห็นว่า การตรวจสอบคนในวงการตุลาการนั้นแม้สังคมภายนอกจะไม่ค่อยรับรู้ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีการตรวจสอบเกิดขึ้น และมีการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างสม่ำเสมอ เพราะผู้พิพากษาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีกิเลส

ดังนั้นเรื่อง ข่าวลือ “สินบน” หรือเรื่องออกนอกลู่นอกทางของตุลาการจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

และแม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว ศาลมีการ “ตรวจสอบ” คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาภายในองค์กรของตนเองอยู่แล้วโดยการกำหนดให้มีการ “ทบทวน” คำพิพากษาได้ด้วยการอุทธรณ์ หรือฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น และยังมีกระบวนการต่างๆคือ ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการตุลาการหรือ ก.ต. ร้องเรียนยัง ส.ว. หรือเข้าชื่อถอดถอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 303

แต่ผมคิดว่า กระบวนการในการตรวจสอบต่างๆ ของวงการตุลาการนั้นแม้จะมีช่องทางและวิธีการ ก็ไม่ได้มีความหมายในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนมากไปกว่าการทำให้สังคมเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจถึงการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของวงการตุลาการเอง

มาถึงความกังวลเรื่องกระแสสังคม ผมไม่รู้ว่า การพิจารณาคดีในคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านของทักษิณ จะออกมาอย่างไร แต่น่าตกใจที่มีคนพูดทำนองว่า ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไรก็มีคำอธิบายและมีทางออกได้เสมอ

ที่ผมตกใจเพราะคิดว่า คำว่า “คำอธิบายและมีทางออกได้เสมอ” นี่ไม่น่าจะใช่หลักของความยุติธรรมและสิ่งที่ตุลาการที่สุจริตยึดมั่น

มีบางคนบอกว่า ศาลอาจจะต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ นอกเหนือจากหลักนิติศาสตร์ ซึ่งผมคิดว่า หลักรัฐศาสตร์ไม่ควรอยู่ในความคิดของตุลาการ เพราะตุลาการต้องยึดหลักเพียงอย่างเดียวคือ ผิดหรือถูก

การพิจารณาคดีของตุลาการนั้นจะคิดหรือหวั่นว่า ถ้าตัดสินให้คนนี้ผิดหรือถูกและจะมีผลกระทบทางสังคมตามมาไม่ได้ เพราะผลทางสังคมนั้นก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่จะต้องดำเนินการตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ

เช่นเดียวกับที่ศาลต้องใช้อำนาจอย่างมีระเบียบแบบแผน และไม่ก้าวล่วงเข้าไปในขอบเขตที่มีเนื้อหานโยบายซึ่งเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง

นักกฎหมายระบุว่า ข้อสำคัญของแนวคิดนี้คือกฎหมายจะต้องแยกเป็นอิสระและอยู่เหนือคุณค่าอื่นๆ ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางการเมือง คุณค่าในทางวัฒนธรรม คุณค่าในทางเศรษฐกิจ หรือคุณค่าในทางจิตวิทยา รวมทั้งความรู้สึกส่วนตัวของผู้พิพากษาเองด้วย นั่นคือ Passive Virtue คือ การใช้อำนาจของศาล มีลักษณะวางเฉย

ความชอบธรรมของอำนาจตุลาการ คือ หลักกระบวนการทางตุลาการ ซึ่งหมายถึงการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ภายใต้บุคคล

การพิจารณาคดีของตุลาการนั้นจะต้องยึดหลักการสร้างคำตัดสินของหลักกระบวนการทางตุลาการ ไม่ใช่คำนึงว่า คำพิพากษาจะได้รับการยอมรับหรือไม่ยอมรับจากประชาชน แต่ต้องยึดหลักระเบียบแบบแผนที่แน่นอน (regularity) รวมทั้งการยึดอย่างเหนียวแน่นในกฎหมายและบรรทัดฐานขององค์กรฝ่ายตุลาการหรือศาล

ด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้ ผลของการพิจารณาคดีในคดีของทักษิณซึ่งเป็นนักโทษหนีคุกในคดีที่ดินรัชดาฯ จะออกมาทางใดทางหนึ่ง โดยคิดว่าจะอาศัยช่องของกฎหมายเป็นทางออกในการอธิบายไปอย่างข้างๆ คูๆ ไม่ได้ แต่ต้องอธิบายให้ได้ด้วยหลักกระบวนการทางตุลาการที่เคร่งครัดด้วย

แต่แน่นอนว่า สำหรับฝ่ายทักษิณแล้ว พวกเขามีธงตั้งไว้แล้วว่า พวกเขาต้องการความยุติธรรมซึ่งมีความหมายคือ ศาลต้องคืนทรัพย์สินทั้งหมดให้ทักษิณและครอบครัว ถ้าไม่จะเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง

และผมเชื่อว่า แม้ว่าศาลจะตัดสินให้ทักษิณได้คืนทรัพย์สิน พวกเสื้อแดงก็ต้องหาเหตุผลในการสร้างความวุ่นวายอยู่ดี เพราะพวกนี้จะบอกว่า เห็นไหมศาลมีความยุติธรรม แต่อำมาตย์และรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารพยายามกลั่นแกล้งทักษิณ ดังนั้นต้องขับไล่รัฐบาลชุดนี้ ทักษิณก็จะบอกว่า นี่ไง คนเสื้อแดงไม่ได้สู้เพื่อเขาคนเดียว แต่สู้เพื่อประชาธิปไตย

ในขณะที่นักวิชาการฝ่ายทักษิณ สื่อ และนักวิชาการ “แดงซ่อนรูป” กล่าวหามาตลอดว่า กระบวนการการพิจารณาคดีต่างๆ ของทักษิณนั้นไม่มีความชอบธรรม เพราะมีที่มาจากรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม ผมไม่เชื่อว่า สินบาทสินบน กระแสสังคม ความหวั่นไหวว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือคำข่มขู่ใดจะมาทำลายหลักยุติธรรมอันมั่นคงขององค์กรตุลาการได้

และผมคิดว่า ความยุติธรรมเท่านั้นที่จะกำจัดคนเลวและนำความสงบสุขมาสู่สังคมไทย และลบล้างข้อครหาทั้งมวลต่อวงการตุลาการลงได้


                       surawhisky@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น