xs
xsm
sm
md
lg

ผู้พิพากษาร้อง ก.ต. ถูก ป.ป.ช.สอบเหตุออกหมายจับ “สุนัย”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสุนัย มโนมัยอุดม
ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ร้อง ก.ต.สร้างบรรทัดฐาน ป.ป.ช.ตั้งกรรมการสอบออกหมายจับ “สุนัย มโนมัยอุดม” อดีตอธิบดีดีเอสไอ คดีหมิ่นทักษิณ เข้าข่ายแทรกแซงตุลาการหรือไม่ ขณะที่อดีตหัวหน้าศาลแจงข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย

กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งอนุกรรมการสอบสวน พ.ต.ท.ณรงค์ฤทธิ์ วาพันสุ รอง ผกก.สส.สภ.วังน้อย, พ.ต.อ.ธาตรี ตั้งโสภณ รอง ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา และนายอิทธิพล โสขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ทั้งหมดยศและตำแหน่งขณะนั้น) กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีร่วมกันขอออกหมายจับและอนุญาตให้ออกหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ต้องหา

วันนี้ (11 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพลได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ว่า การออกหมายจับเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่จะต้องปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน และบางครั้งส่วนใหญ่ก็มิได้ออกหมายเรียกก่อนทุกครั้ง หรือมิได้ปรึกษาผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นแต่อย่างใด การออกหมายจับครั้งนี้เป็นการทำหน้าที่ปกติ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ต้องหาที่เป็นอดีตผู้พิพากษาผู้ใหญ่ และไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนแต่ประการใด จึงได้มีการปรึกษาผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และรายงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ซึ่งหากมีกรณีที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำสั่งหรือคำพิพากษาใดๆออกไปแล้ว ฝ่ายที่แพ้คดีหรือเสียประโยชน์ จะอาศัย พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ยื่นคำร้องขอให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการหรือกรรมการไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่ปกติของผู้พิพากษาที่ทำงานพิจารณาคดีในสำนวนแล้วจะเป็นการแทรกแซงหรือก้าวล่วงอำนาจตุลาการหรือไม่ และจะก่อให้เกิดความหวั่นไหวหวาดกลัวต่อผู้พิพากษาหรือไม่ จึงขอหารือว่าหากได้รับหมายเรียกให้ไปให้ถ้อยคำที่สำนักงาน ป.ป.ช.จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อผู้พิพากษาท่านอื่นที่จะต้องถูกไต่สวนเป็นลำดับต่อไป

ขณะที่ นายสุทัศน์ สงวนปรางค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลแพ่ง ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะมีการออกหมายจับนายสุนัย ทำบันทึกข้อความชี้แจ้งเรื่องการออกหมายต่อนายชาติชาย อัครวิบูลย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ระบุว่า มูลเหตุเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.50 หนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้เผยแพร่คำให้สัมภาษณ์นายสุนัย ซึ่งกระจายไปทั่วประเทศ พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท จึงมอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความที่ สภ.วังน้อย ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการและขออนุมัติหมายจับต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา น.ส.จินดาพร เมื่องอำ ผู้พิพากษาเวรออกหมายได้มาปรึกษาตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นอดีตผู้พิพากษา ตนจึงได้เรียกประชุมผู้พิพากษาเพื่อระดมความคิดเห็นประกอบการใช้ดุลพินิจ และโทรศัพท์ปรึกษานายฉัตรไชย ไทรโชติ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 เห็นด้วยว่าควรให้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ก่อน จึงให้ยกคำร้อง

“ข้าพเจ้าหาทางเพื่อจะแจ้งความลำบากใจของผู้พิพากษาที่จะต้องออกหมายจับอดีตผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ให้นายสุนัยทราบ กระทั่งมีโอกาสพบนายสุนัยที่มาส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมกับข้าพเจ้า จึงได้แจ้งถึงความจำเป็นและความลำบากใจและขอร้องให้ไปพบพนักงานสอบสวน แต่นายสุนัยยืนยันไม่ไป และยืนยันความเห็นของตนเองว่าไม่มีเหตุที่ศาลจะออกหมายจับได้” นายสุทัศน์ระบุ

นายสุทัศน์ยังระบุต่อไปว่า จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ขออนุมัติหมายจับอีกครั้ง แต่ศาลได้ยกคำร้อง กระทั่งมาขอออกหมายจับครั้งที่ 3 โดยมีหลักฐานการส่งหมายเรียกโดยชอบมาแสดง ซึ่งนายอิทธิพลเป็นผู้พิพากษาเวรออกหมาย ได้รอปรึกษาตนในประเด็นแง่มุมต่างๆทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน ระเบียบ คำสั่ง รวมทั่งข้ออ้างของผู้จะถูกจับอย่างละเอียดแล้ว จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ

สำหรับการพิจารณามีประเด็นสำคัญๆ อาทิ ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอำนาจออกหมายจับหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ที่วางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ความผิดจึงเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร เมื่อมีการร้องทุกข์ที่ สภ.วังน้อย ศาลจังหวัดอยุธยาจึงมีอำนาจชำระคดีนี้

มีเหตุและหลักฐานตามสมควรหรือยังว่านายสุนัยน่าจะได้กระทำความผิดทางอาญา เห็นว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยานฝ่ายผู้กล่าวหา 10 ปาก และเรียกมาสอบเพิ่มอีก 16 ปาก มีพยานให้การว่า การให้สัมภาษณ์ของนายสุนัยเป็นการนัดแถลงข่าวมีทั้งผู้สื่อข่าวในและต่างประเทศ มีบรรณาธิการ นสพ.มติชน ให้การว่า ไม่มีมีการตัดหรือเพิ่มข้อความให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด และมีพยานหลายปากเห็นว่าการแถลงข่าวดังกล่าวทำให้ประชาชนทั่วไปเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำความผิด มีพนักงานสอบสวนดีเอสไอเห็นว่าไม่ควรมีการแถลงข่าวว่าบุคคลอื่นกระทำผิดโดยที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน กรณีที่นายสุนัยอ้างว่า นสพ.เสนอข่าวไม่ตรงคำให้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้ระบุว่าที่ถูกต้องเป็นเช่นไร และหากเชื่อมั่นความบริสุทธิ์น่าจะให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวน จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานทั้งหมดในชั้นนี้ จึงเข้าเงื่อนไขว่า นายสุนัยน่าจะได้กระทำความผิดอาญา

มีเหตุอันควรเชื่อว่านายสุนัยจะหลบหนีหรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ต้องหาขัดหมายเรียกจึงต้องถูกลงโทษโดยการออกหมายจับ เว้นแต่จะมีเหตุอันควร อาทิ เป็นทหาร หรือป่วยอัมพาต การอ้างว่าไม่ได้กระทำผิด ไม่ได้หลบหนีไปไหน ยังทำงานอยู่เป็นหลักแหล่ง แต่ไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวนไม่ใช่ข้อแก้ตัวอันควร

“หมายจับเป็นหมายอาญาอย่างหนึ่ง จึงอยู่ในอำนาจและดุลพินิจของผู้พิพากษา นายเดียวที่จะพิจารณาและมีคำสั่งโดยอิสระ นายอิทธิพลจึงมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้โดยลำพัง แต่เพื่อความรอบครอบได้ปรึกษากับผู้พิพากษาหัวหน้าศาลก่อน จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่อย่างละเอียดรอบครอบโดยชอบและเหมาะสมทุกประการแล้ว แต่ต่อมานายสุนัย ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ และพนักงานสอบสวนยื่นฎีกา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แล้วนายสุนัยร้องเรียน ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการสอบดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบต่อผู้พิพากษาโดยรวม น่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้พิพากษา และผู้พิพากษาควรจะได้รับทราบมูลเหตุเบื้องต้นเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน จึงเห็นสมควรส่งข้อมูลของข้าพเจ้านี้ ใช้เป็นข้อมูลชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้พิพากษาตามความเหมาะสมและโอกาสต่อไป” นายสุทัศน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น