เลขาฯ ศาลแจง ป.ป.ช.ไม่มีสิทธิก้าวล่วงการใช้ดุลพินิจผู้พิพากษา กรณีออกหมายจับ “สุนัย มโนมัยอุดม” อดีตอธิบดีดีเอสไอ
ตามที่มีข่าวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ต.ท.ณรงค์ฤทธิ์ วาพันสุ รอง ผกก.สส.สภ.วังน้อย, พ.ต.อ.ธาตรี ตั้งโสภณ รอง ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา และนายอิทธิพล โสขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ทั้งหมดยศและตำแหน่งขณะนั้น) กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม กรณีที่ร่วมกันขอหมายจับ และอนุญาตให้ออกหมายจับนายสุนัย มโนมัยอุดม อดีตอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผู้ต้องหาคดีหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีโดยฝ่าฝืนกฎหมายเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย เกี่ยวกับเรื่องนี้
วันนี้ (12 ก.พ.) นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวชี้แจงว่า สำนักงานศาลยุติธรรม คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (กบศ.) ได้ติดตามเรื่องราวอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้ประชุมพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ผู้พิพากษามีดุลพินิจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งเป็นไปตามในบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายบัญญัติไว้ ไม่อาจมีการแทรกแซง หรือก้าวล่วงจากหน่วยงานหรือบุคคลใด ซึ่งรวมถึงการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาในการพิจารณาออกหมายจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย หากคู่ความไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลย่อมสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ หรือฎีกาได้
นายวิรัชชี้แจงอีกว่า การกระทำใดๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยอ้อมจากบุคคลหรือองค์กรใดที่จะมีผลกระทบกระเทือนต่อการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาจึงไม่พึงกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไต่สวนผู้พิพากษาในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีในขณะที่ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล รวมทั้งหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในบทบาทอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้มีหนังสือแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น และจะดำเนินการหามาตรการที่เหมาะสมในการปกป้องคุ้มครองดูแลผู้พิพากษาให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระ เป็นกลาง และเป็นธรรม มิให้บังเกิดความหวั่นไหว โดยยึดมั่นหลักการ ปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อเป็นหลักประกันพื้นฐานในการสร้างความยุติธรรมให้แก่คู่ความและประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน