xs
xsm
sm
md
lg

นิรโทษกรรมให้นักโทษชายแม้ว

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

การประกาศต่อสังคมของคนเสื้อแดง และสมาชิกพรรคเพื่อไทยหลายครั้งว่า พวกเขาต่อสู้เพื่อเอาทักษิณกลับบ้าน ทักษิณเองก็เคยโฟนอินเข้ามาปลุกระดมคนเสื้อแดงหลายครั้ง เช่นว่า ถ้าเสื้อแดงออกมาชุมนุมกันมากๆ จะช่วยให้เขาได้กลับประเทศ ถ้าเสื้อแดงลงชื่อถวายฎีกากันเยอะจะช่วยให้เขาได้กลับบ้าน

ทั้งๆ ที่คนเสื้อแดงและทักษิณเองก็รู้ว่า ไม่มีใครห้ามเขากลับบ้าน แต่ความหมายของทักษิณที่แท้จริงก็คือ เขาต้องการกลับบ้านโดยไม่มีความผิด นั่นคือ ต้องได้รับการนิรโทษกรรม

“หัวโต” สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนวร่วมคนสำคัญของกลุ่มเสื้อแดงถึงกับเคยเขียนบทความ เรียกร้องให้นิรโทษกรรมให้ทักษิณ

“ทักษิณ ถูกรัฐประหาร (ที่โทษประหารชีวิต) ล้มไป ทักษิณ เป็นนายกฯ ที่ได้รับการเลือกตั้งโดยชอบธรรมคนสุดท้ายการนิรโทษกรรมให้ทักษิณ จะถือว่า “ทำเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง” ได้อย่างไร?” สมศักดิ์ ว่า

สมศักดิ์ถามว่า แล้วไอ้ “คดีความต่างๆ” ที่ว่า ทักษิณโดนอยู่น่ะ มันมาจากอะไร ไม่ใช่จากรัฐประหารหรือ? รู้จัก “กระบวนการยุติธรรม” due process หรือเปล่า?

“ในประเทศเจริญแล้ว ต่อให้สมมติว่า จนท.จับใครมาขึ้นศาล ถ้าด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีหมายค้น, ไม่อ่าน “คำเตือน” (“คุณมีสิทธิไม่ให้การ คุณมีสิทธิมีทนายได้...”) อย่างนี้ ต่อให้ “สังคม” “เชื่อ” ว่า คนที่ถูกจับมานั้น ผิด ศาลยังต้องสั่งให้คดีเป็นโมฆะเลยครับ” สมศักดิ์ต้องการบอกว่า ถึงทักษิณจะผิดแต่ถ้ากระบวนการไม่ถูกต้องก็ไม่ผิด

การสร้างวาทกรรมดังกล่าวของสมศักดิ์เป็นการพูดตัดตอนและหาประโยชน์ให้กับทักษิณ

ปิติกุล จีระมงคลพาณิชย์ อธิบายความหมายของคำว่า Due Process of Law หรือเรียกสั้นๆ ว่า Due Process พูดถึงความหมายของวลีดังกล่าวมีอยู่สองคำคือ Due แปลว่า เหมาะสม สมควร พอเพียง พอควร ตามกำหนด ครบกำหนด ถึงกำหนด ถูกต้อง ถูกทำนองคลองธรรม ตรง หลีกเลี่ยงไม่ได้ Process แปลว่า กระบวนการ ดังนั้นที่ศาสตราจารย์จิตติ (ติงศภัทิย์) แปลคำทั้งสองคำนี้ว่า “กระบวนการอันควร”

แล้วมาดูว่า ทักษิณทำผิดกฎหมายและติดคุกด้วยคดีอะไร การดำเนินคดีต่อทักษิณได้ก้าวข้าม “กระบวนการอันควรต่อกฎหมาย” อย่างที่สมศักดิ์กล่าวอ้างหรือไม่

คดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก เป็นคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทย์ยื่นฟ้องทักษิณ เป็นจำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยาเป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ในความผิดฐาน “เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ”

คดีดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 และประมวลกฎหมายอาญา และศาลมีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

คดีนี้เริ่มจากวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) เป็นผู้ยื่นร้องเรียนต่อกองบังคับการ กองปราบปราม ก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยา และเมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) คุณวีระ ได้นำเรื่องนี้เสนอต่อ คตส. ให้ตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวอีกครั้ง

จะเห็นได้ว่า “กระบวนการอันชอบธรรมทางกฎหมาย” จะต้องเดินไปตามครรลองของมันตั้งแต่คุณวีระได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกองปราบอยู่แล้ว

การทำสัญญาซื้อขายที่ดินผืนดังกล่าวการกระทำความผิดเกิดขึ้นภายหลังกองทุนฟื้นฟูอนุมัติให้คุณหญิงพจมาน เป็นผู้ชนะการประกวดราคา คุณหญิงพจมานได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับกองทุนฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2546 และชำระราคาครบถ้วนในเวลาต่อมา ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันในวันที่ 30 ธันวาคม 2546

โดยทักษิณ จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมแก่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งเป็นภรรยา โดยมอบหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวประเภทข้าราชการการเมือง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประกอบการทำสัญญาด้วย

นอกจากนั้นในระหว่างที่ทักษิณยังมีอำนาจยังมีการแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถสร้างอาคารสูงในพื้นที่ภรรยาของตัวเองหลังชนะการประมูล และคณะรัฐมนตรีของทักษิณยังมีมติเลื่อนวันหยุดปีใหม่ จากวันที่ 31 ธันวาคม 2546 เป็นวันที่ 2 มกราคม เพื่อให้การซื้อขายที่ดินรัชดาฯ สามารถดำเนินการได้ทันสิ้นปี เพื่อเสียค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน เฉพาะกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในอัตราลดหย่อนเพียง 0.01% ที่มีผลใช้บังคับถึงสิ้นปี พ.ศ. 2546

ถ้าสมศักดิ์บอกว่า กระบวนการสอบสวนก่อนศาลของคดีดังกล่าวดำเนินการโดย คตส.ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหารดังนั้น คดีของทักษิณจึงไม่มีความชอบธรรมตาม “กระบวนการอันควรต่อกฎหมาย” แล้ว การกระทำผิดทุกอย่างในประเทศนี้ที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหารคงต้องเป็นโมฆะหมด

ถ้าการรัฐประหารไม่มีอำนาจ รัฏฐาธิปัตย์ หรือมีอำนาจสูงสุดเพื่อวางกฎเกณฑ์ของประเทศ ประเทศไทยก็คงจะเป็นโมฆะตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 และประเทศไทยก็คงกระทำอะไรที่เป็นโมฆะตลอดมา

สมศักดิ์อาจบอกว่า เขาไม่ยอมรับ “รัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหาร” เพราะการรัฐประหารเป็นการกระทำผิดที่มีโทษประหารชีวิต และกระทำผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 113 ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ผมคิดว่า ประเด็น “รัฏฐาธิปัตย์” ของคณะรัฐประหารเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงแยกออกจากกรณีของทักษิณ เพราะมันชัดเจนอยู่แล้วว่า ทักษิณกระทำ “ความผิดต่อแผ่นดิน” ที่เกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร และไม่มีอะไรปรากฏเลยว่า การพิจารณาคดีความดังกล่าวอยู่นอกกรอบของการพิจารณาคดีตามขั้นตอนปกติของกระบวนยุติธรรมหรือใช้อำนาจของคณะรัฐประหารเข้าไปสั่งการแทรกแซงการพิจารณาคดี

และถ้าเราจะยึด “กระบวนการอันควรของกฎหมาย (Due Process of Law)” เราก็คงต้องยอมรับบรรทัดฐานจากคำพิพากษาของศาลฎีกาที่เคยมีบรรทัดฐานไว้แล้ว ไม่ใช่แหกคอกแบบที่ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการแดงเคยเขียนอ้างคำพิพากษาของตุลาการเสียงข้างน้อยที่ไม่ยอมรับ “รัฏฐาธิปัตย์” ของคณะรัฐประหาร

ซึ่งก็ต้องถามชำนาญว่า กระบวนการยุติธรรมตามหลักการประชาธิปไตยนั้นต้องยึดบรรทัดฐานเสียงข้างน้อยหรือเสียงข้างมาก ถ้ายึดตามบรรทัดฐานเสียงข้างน้อยเราจะปกครองกันอย่างไร

เพราะถ้าอ้าง “กระบวนการอันควรของกฎหมาย” แต่ไม่ยอมรับบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ไม่สมประโยชน์กับตัวเอง วิธีคิดดังกล่าวก็ไม่ใช่ Due Process เช่นเดียวกัน

                         surawhisky@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น