xs
xsm
sm
md
lg

นช.แม้วแจงเท็จ 9 ครั้ง ผบ.ทอ.ติงหยุดรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ป.ป.ช.เพิ่งตื่น!เร่งเอาผิด“ทักษิณ”เข้าข่ายแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จต่อ ป.ป.ช. ถึง 9 ครั้ง เผยประธานป.ป.ช.นัดพบประธานศาลฎีกาทำความเข้าใจคดียึดทรัพย์ ผบ.ทอ.ย้ำหยุดรุนแรงขัดแย้งกันได้แล้ว แขวะ! “นช.แม้ว” พูดอะไรให้สังคมแตกแยกมากขึ้นก็ไม่น่าจะพูด “โฆษกศาลยุติธรรม” ระบุไม่มีใครสั่งซ้ายหันหรือขวาหันได้


นายภักดี โพธิศิริ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผย ภายหลังการประชุม ป.ป.ช.วานนี้ ว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนในเรื่องที่เกี่ยวกับคำพิพากษายึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 4 เรื่อง คือ 1.การไต่สวนกรณีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ 2.การแก้ไขสัญญาอัตราจัดเก็บภาษีบัตรเติมเงินมือถือแก่บริษัท เอไอเอส โดยมิชอบ 3. การแก้ไขสัญญาเชื่อมต่อสัญญาณ หรือ โรมมิ่ง แก่เอไอเอส และ 4.การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอคำพิพากษาศาลฎีกาฯ มาพิจารณาประกอบสำนวนคดี คาดว่าจะได้มาในสัปดาห์หน้า

นายภักดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้ง 4 คดี มีเพียงคดีเรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จเรื่องเดียวเท่านั้น ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถูกกล่าวหา ส่วนอีก 3 คดี เป็นการกล่าวหาอดีตรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวง คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ซึ่งจะมีการนัดประชุมกัน ในวันที่ 4 มีนาคมนี้ และตนจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด เพราะเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน

อย่างไรก็ตาม จากการไต่สวนพยานหลักฐานเบื้องต้น ในคดีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น พบว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายการแจ้งบัญชีทรัพย์สินเท็จต่อ ป.ป.ช. ถึง 9 ครั้ง ในระหว่างปี 2544-2549 ช่วงดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

** ป.ป.ช.นัดพบป.ศาลฎีกาทำความเข้าใจ

น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงจะยื่นขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบองค์คณะ 9 คนที่พิจารณาคดียึดทรัพย์ว่า คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะ ป.ป.ช.ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันกับผู้พิพากษาบางส่วน กรณีตั้งอนุกรรมการไต่สวนผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ถูกกล่าวหาออกหมายจับอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มิชอบอยู่ เหมือนกับความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกอีก

"อย่างไรก็ตาม กฎหมาย ป.ป.ช.และรัฐธรรมนูญก็เขียนเอาไว้ว่า ป.ป.ช.สามารถไต่สวนความผิดทางอาญากับผู้พิพากษาได้ ที่ผ่านมาก็เคยไต่สวนอดีตผู้อาวุโสในศาลฎีกาคนหนึ่งมาแล้ว ส่วนการนัดพบนายสบโชค สุขารมณ์ ประธานศาลฎีกาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อทำความเข้าใจนั้น ทางประธานศาลฎีกายังไม่ได้นัดหมายวันกลับมา โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ยืนยันว่าต้องหาโอกาสพบเพื่อทำความเข้าใจให้ได้ " น.ส.สมลักษณ์กล่าว

**ผบ.ทอ. ชี้ควรสงบได้แล้ว


พล.อ.อ. อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวถึง สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ว่า เป็นไปตามที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินไว้ว่า หลังการพิพากษาต้องมีทั้งคนพอใจ และไม่พอใจ ซึ่งฝ่ายไม่พอใจคงพยายามดำเนินการอะไรสักอย่าง เพื่อให้เห็นว่า ไม่เห็นด้วย ดังนั้น ฝ่ายรัฐและฝ่ายความมั่นคงต้องมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุวุ่นวายมากขึ้น ซึ่งกองทัพ รัฐบาล ตำรวจ และประชาชน ต้องร่วมกัน ซึ่งความสงบเรียบร้อยต้องร่วมมือทุกฝ่าย

ส่วนเหตุระเบิดธนาคารกรุงเทพหลายจุด พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า คนไม่หวังดีพยายามทำทุกอย่างให้เห็นว่า เป็นการดิสเครดิต เมื่อถามว่า กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศจะยึดทำเนียบรัฐบาลในการชุมนุมใหญ่ พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า คนที่จุดประสงค์ไม่ดี คงพยายามสร้างสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ฟังข่าวสาร อยากให้วิเคราะห์ว่า ข้อมูลบางอย่างไม่เป็นจริง ต้องใช้ความเห็นส่วนตัววิเคราะห์ให้ดีว่า สิ่งที่จะออกมาร่วมเป็นสิ่งที่ดีต่อบ้านเมืองหรือไม่ ดังนั้น สิ่งใดที่ทำให้ชาติมีปัญหา น่าจะไม่ควรออกมา ควรอยู่ในความสงบ

เมื่อถามว่า อยากฝากอะไรถึง พ.ต.ท. ทักษิณหรือไม่ พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า สิ่งไหนท่านคิดว่าจะทำให้ประเทศสงบเรียบร้อย ท่านน่าจะให้การสนับสนุน การพูดอะไรที่ทำให้สังคมแตกแยกมากขึ้น ไม่น่าจะพูด

เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ยอมรับคำตัดสินศาล พล.อ.อ.อิทธพร กล่าวว่า บ้านเมือง ประเทศไหน สังคมใดต้องมีกฎหมาย และทุกคนต้องยอมรับกติกา ดังนั้นหากต้องการให้ประเทศเดินหน้าไปด้วยต้องช่วยกันทำให้เกิดความสงบ

**โฆษกศาล ย้ำ 9 องคณะไร้อคติแม้ว


วานนี้ (3- มี.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 อาคารศาลอาญา นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เกี่ยวกับกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้ทรัพย์ที่ได้มาจากการเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง และพวกพ้อง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้คัดค้านที่ 1 – 5 จำนวน 46,373 ล้านบาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ว่า ตลอดหนึ่งสัปดาห์หลังศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา มีการวิพากษ์วิจารณ์จากความรู้สึกของประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน และสังคม ในแง่มุมต่าง ๆ ซึ่งศาลยุติธรรมขอน้อมรับ เพราะเชื่อว่าคำวิพากษ์วิจารณ์นั้น ติชมด้วยความเป็นธรรม ถือเป็นส่วนที่ช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรม และเป็นกระจกเงาสะท้อนให้ผู้พิพากษา ในทางกลับกัน หากกระจกเงานั้นบิดเบี้ยว ติชมโดยไม่อยู่ในฐานของความเป็นจริง ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

ส่วนคำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะทั้ง 9 นั้น จะปิดประกาศที่หน้าศาลฎีกาต่อไป โดยสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้พิพากษาท่านใดมีมติ ในประเด็นต่างๆ อย่างไร โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่คลาดเคลื่อนประเด็นแรก คือ มีคนกล่าวว่า ศาลฎีกาฯ มีลักษณะยอมรับคำสั่ง คมช. ไปปฏิบัติ ศาลควรใช้กฎหมายในรัฐสภาเท่านั้น เรื่องนี้ขอชี้แจงว่า นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2516 ถึงปัจจุบัน เกิดการปฏิวัติขึ้นมาหลายครั้ง เมื่อยึดอำนาจได้ คณะปฏิวัติ จะตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อรับรองความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจ ในรูปแบบประกาศ ซึ่งปัจจุบันยังมีการนำมาใช้ในประมวลกฎหมายอาญา หรือ พ.ร.บ.ต่างๆ ศาลเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้น ถ้ากฎหมายออกมาที่ชอบโดยหลักการแล้ว ศาลมีหน้าที่บังคับใช้และตีความกฎหมายอย่างเสมอภาค ไม่เช่นนั้นจะถูกกล่าวหาว่าสองมาตรฐาน

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า มีการเปรียบเทียบว่าการยึดทรัพย์ในสมัย รสช. กับ คมช. เมื่อที่มาของคำสั่งมีความแตกต่างกัน สมัย รสช.นั้น ตั้งคณะบุคคลขึ้นมาจัดการแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งพนักงานสอบสวน อัยการ ศาล มีการยึดทรัพย์สินทั้งหมดไว้ ก่อนจะเปิดช่องให้เรียกคืน

ส่วน คตส.นั้นแตกต่างกัน เมื่อมีการให้อำนาจ คตส.ไต่สวนตามกรอบเวลา ก่อนส่งให้อัยการฟ้องศาล หากทำไม่เสร็จก็ส่งให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาล ก็เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้าน พิสูจน์ความจริงอย่างเต็มที่ ว่าทรัพย์ที่ได้มานั้นถูกต้องหรือไม่ มีความเป็นธรรมมากกว่า ประเด็นที่ 3 มีการกล่าวหาว่าคำพิพากษามีการตั้งธงไว้ เขียนเสร็จแล้ว จึงนำมาอ่าน ถือว่าผู้พูดพูดถูกแต่พูดไม่หมด รู้จริงแต่ไม่รู้แจ้ง เพราะตามรัฐธรรมนูญ ทั้งปี 40 และ 50 รวมถึง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ระบุไว้ว่า ให้ผู้พิพากษาทุกคนเขียนคำวินิจฉัยส่วนตัวเป็นหนังสือ ซึ่งความเห็นจะเหมือน หรือแตกต่างกันผู้พิพากษาทุกท่านมีความเป็นอิสระที่จะดำเนินการ โดยไม่ได้มีการกำหนดหรือปักธงคำพิพากษาเอาไว้ล่วงหน้า

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า มีคนระบุว่าคำพิพากษาเป็นเสียงข้างมากไม่ระบุผลมติ ในเรื่องนี้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ใช้เสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษา เป็นการใช้คำตามกฎหมาย ส่วนมติเท่าไหร่นั้น สามารถติดตามได้จากการปิดประกาศของศาลฎีกา ซึ่งเป็นเรื่องที่เปิดเผย

ส่วนประเด็นที่ 5 ที่คนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดต้องอ่านคำพิพากษาทุกถ้อยคำ เรื่องนี้ไม่ซับซ้อน เพราะการอ่านคำพิพากษาเป็นไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 140 อนุมาตรา 3 ที่กำหนดให้ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาทั้งหมดโดยเปิดเผย ต่อหน้าคู่ความทั้งสองฝ่าย

***ย้ำไม่มีใครสั่ง 9 องค์คณะได้


โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวต่อไปว่า มีผู้กล่าวหาว่าคดีนี้มีผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง มีการตัดสินตามใบสั่งนั้น ขอชี้แจ้งว่า ในการเลือกองค์คณะทั้ง 9 ท่าน ต้องผ่านการลงคะแนนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก่อนติดประกาศชื่ออย่างเปิดเผย ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้คัดค้าน สามารถคัดค้านให้เปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่ไม่มีใครคัดค้านจึงถือว่าไม่ติดใจ

สำหรับองค์คณะทั้ง 9 ท่าน เป็นระดับอดีตรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และเทียบเท่ารองประธานศาลฎีกา รับราชการมาเป็นเวลา 40 ปี มีเกียรติคุณเป็นที่ประจักษ์ ได้รับการยอมรับในหมู่ผู้พิพากษา เพราะฉะนั้นยืนยันได้ว่าไม่มีใครที่จะมาสั่งให้ท่านใดซ้ายหันหรือขวาหันได้ ประเด็นที่ 7 ผู้พิพากษามีความเห็นที่ขัดแย้งกัน และควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ขอเรียนว่าผู้พิพากษามีความเห็นแตกต่างกันในข้อกฎหมาย บางครั้งจะเห็นว่าผู้พิพากษาถกเถียงกันเรื่องข้อกฎหมายจนหน้าดำคร่ำเครียด

**ชี้ศาลหาทางออกไม่มีลักษณะโกรธกัน


ทั้งนี้ เพราะต้องการหาทางออกให้ดีที่สุด ไม่มีลักษณะที่โกรธกัน การเขียนคำพิพากษากลางนั้น จะนำประเด็นของคำพิพากษาส่วนตัวที่องค์คณะที่เห็นว่าดีที่สุดมาปรับแต่งเป็นคำพิพากษากลาง จึงไม่แปลกหรือมีพิรุธที่คำพิพากษากลางเขียนเสร็จในช่วงเช้าและอ่านคำพิพากษาในช่วงบ่าย ส่วนเรื่องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยนั้น เป็นการพิจารณาเฉพาะในคดีอาญา ไม่เกี่ยวกับคดียึดทรัพย์ที่เป็นคดีแพ่ง

นายสิทธิศักดิ์ กล่าวว่า ที่กล่าวทั้งหมดไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องศาล แต่บางเรื่องประชาชนอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน วันนี้สังคมไทยอ่อนแอ เกิดการแบ่งฝ่ายจากความเชื่อที่แตกต่างกัน สถาบันตุลาการ ถือเป็นสถาบันหลัก เป็นสมบัติของประชาชน หากศาลขาดความเชื่อถือ ก็จะเกิดศาลเตี้ยขึ้นมา ตนไม่อยากเห็นและไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น เพราะจะเป็นกลียุค ไม่มีใครเชื่อใคร ที่ผ่านมา 128 ปี ศาลยุติธรรม ตุลาการยึดหมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีเสื้อสีแดง สีเหลือง หรือสีน้ำเงิน ศาลเป็นตัวแทนของประชาชน ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ให้สังคมอยู่ได้โดยปกติสุข ขอให้ช่วยกันรักษาสถาบันหลักของชาติไว้ ประเทศไทยจะได้ไปรอด ประเทศปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่าโชคดีมากแล้ว

โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า เรื่องที่มีผู้ออกมาพูดเรื่องสินบนตุลาการนั้น ได้เรียนให้นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล เลขานุการศาลฎีกาฯ ทราบแล้ว พร้อมกับหารือกับทางองค์คณะทั้ง 9 ท่าน ว่าการพูดจาในลักษณะดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ ศาลสมควรดำเนินการอย่างไร

**ชี้ศาลวิพากษ์ทำไมเรื่องไม่จบ

ศ.ดร.อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลบางกลุ่มจะออกมายื่นถอดถอนองค์คณะผู้พิพากษา ที่ตัดสินคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ผ่านมาว่า สามารถทำได้ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังไม่ยอมในการตัดสิน และคิดว่าการดำเนินการดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบกับสถาบันศาล และความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ส่วนผลการพิพากษาที่ออกมานั้น ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวว่า ถูกต้องและชัดเจนที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลตัดสินแล้วเรื่องน่าจะจบ แต่ทุกวันนี้ผู้พิพากษาก็ต่างวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ทำไมไม่จบ ดังนั้น อยากให้ทุกคนที่บอกว่ารักชาติ กลับไปทบทวนว่า รักชาติจริงหรือไม่

** “จิ๋ว”อ้างรธน.หนุนยื่นถอดผู้พิพากษา

วันเดียวกัน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีคนเสื้อแดงจะเข้าชื่อเพื่อยื่นถอดถอนองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 271 ว่า “ยังไม่ทราบ แต่เมื่อกลไกตามรัฐธรรมนูญตามตัวบทกฎหมาย ก็ทำได้อยู่แล้ว”

** “พท.”เล็งให้ ส.ส.ตรวจสอบศาลได้

นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า พรรค พท.นำคำวินิจฉัยมาวิเคราะห์ เห็นว่ามีจุดที่น่าพิจารณา 3 จุด คือ 1.การนำกฎหมายที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน คือ ประกาศคณะปฏิวัติ มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาคดี ในฐานะพรรคการเมือง ควรเสนอให้ทบทวน อะไรที่จำเป็นต้องยกเลิกก็ต้องเสนอเป็นกฎหมายให้ยกเลิก เพราะประกาศคณะปฏิวัติถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย

2.การตรวจสอบการใช้ดุลพินิจและการทำหน้าที่ขององค์คณะ ก่อนหน้านี้ ส.ส.ไม่สามารถยื่นกระทู้ต่อสภาเพื่อสอบถามการทำงานของศาลได้ แต่เมื่อเกิดกรณี ป.ป.ช.ใช้อำนาจตรวจสอบศาล ก็เป็นช่องทางที่อาจจะเสนอเป็นกฎหมายให้อำนาจ ส.ส.ตรวจสอบศาลได้ และ 3.การที่ศาลระบุว่าตราสารหนี้ที่ใช้เป็นการสากล และถือว่าถูกต้องใช้ได้กลับถูกระบุว่ามีความเคลือบแคลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือในต่างประเทศ จึงควรพิจารณาทบทวน โดยฝ่ายกฎหมายจะเสนอต่อที่ประชุมพรรคเพื่อให้เสนอเป็นกฎหมายต่อสภาต่อไป

** “มาร์ค”เชื่อเป็นความคิดของคนรุนแรง


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงเตรียมล่ารายชื่อถอดถอนองค์คณะผู้พิพากษาคดียึดทรัพย์ ว่า เป็นเพียงความคิดเห็นของคนบางคนที่ต้องการสร้างความรุนแรง ซึ่งการถอดถอนสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามกระบวนการและหลักเกณฑ์

** "เด็จพี่"ไล่ทหารกลับกรมกองสำนึกบาป

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงที่พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ควรหยุดพูดแสดงความเห็นที่ทำให้เกิดความแตกแยกมากขึ้นว่า อยากให้ผบ.ทอ.และผบ.เหล่าทัพต่างๆ ไปคิดทบทวนว่า เหตุการณ์วุ่นวายต่างๆ ในขณะนี้เกิดจากอะไร มันเป็นผลมาจากการยึดอำนาจทั้งสิ้น วันนี้ผู้นำเหล่าทัพควรสำนึกบาปโดยทบทวนบทบาทตัวเอง ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความปรองดอง ทหารต้องถอยกลับเข้าสู่ที่ตั้ง และกองทัพก็ไม่ควรที่จะทำการปฏิวัติรัฐประหารอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น