xs
xsm
sm
md
lg

ถ้า ASTV จะเข้าประมูล ไทยทีวีสีช่อง 3 !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากได้เขียนบทความเรื่อง “2 คนนั้นจับเข่าคุยกัน”...แล้วเงินหมื่นล้านบาทจะเข้ากระเป๋าใคร !? ในหนังสือพิมพ์ ASTV-ผู้จัดการรายวัน เมื่อวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งเนื้อความในบทความดังกล่าว พยายามให้เห็นความไม่ชอบมาพากลในการกระทำที่ต้องการที่จะต่อสัญญาให้กับ ไทยทีวีสีช่อง 3 ไปอีก 10 ปี โดยสัญญาที่มีต่อกันระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ จะหมดสัญญาร่วมดำเนินการหลังวันที่ 25 มีนาคม 2553 เป็นต้นไป

คณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้องในคณะกรรมาธิการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้ศึกษาพบว่ามีมูลเหตุที่จะทำให้ อ.ส.ม.ท. ไปต่อสัญญาไทยทีวีสีช่อง 3 กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ไม่ได้ 3 ประการคือ

1. พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ที่ระบุเอาไว้ว่าโครงการที่เป็นการลงทุนในกิจการของรัฐ และการ ลงทุนนั้นมีวงเงินหรือทรัพย์สินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และต้องมีการประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมงานในกิจการของรัฐเพื่อเข้าร่วม“ประมูล”

2. บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ “ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการส่งและรับวิทยุโทรทัศน์ในวันลงนามในสัญญาตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2511” ซึ่งถือว่าบางกอกเอนเตอร์เทนเมนท์ มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และ พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 ในวันลงนามในสัญญา

3. บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ยังมีพฤติกรรมที่คณะอนุ
กรรมาธิการได้เห็นว่าอาจะเข้าข่ายเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงไม่โอนทรัพย์สินในการประกอบการให้กับ อ.ส.ม.ท. ตามเจตนารมณ์ของสัญญาประเภท BTO (Build Transfer Operate) และยังให้บุคคลอื่นเข้าดำเนินการในผังรายการและจัดสรรเวลา
โดยที่ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ไม่ได้ดำเนินการเอง จึงอาจเข้าข่ายผิดเงื่อนไขตามสัญญาในสาระสำคัญ

ข้อสำคัญก็คือผลประโยชน์ในการต่อสัญญาเดิมไปอีก 10 ปีโดยไม่มีการเปิดประมูลนั้นต่ำมากเพียงแค่ 2 พันกว่าล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้ของกิจการประเภทนี้ตลอด 10 ปีประมาณกว่าแสนล้านบาท โดยที่ไม่ต้องมีการลงทุนในเครื่องมืออุปกรณ์ใดๆแล้ว

แม้ว่าการเปิดประมูล “ไทยทีวีสีช่อง 3” เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับหน่วยงานของรัฐ แต่ที่น่าสนใจมากกว่าก็ตรงที่ เริ่มการแสดงความคิดเห็นจากคนที่รับชมข่าวนี้ในอินเทอร์เน็ตว่า...

หากมีการประมูล “ไทยทีวีสีช่อง 3 ”แล้ว สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ควรจะเข้าร่วมประมูลด้วย!!!

เข้าใจว่าคนที่แสดงความคิดเห็นในข่าวชิ้นนี้ก็เพราะคงต้องการเห็น การนำเสนอข้อมูลข่าวสารแบบ ASTV ให้กระจายไปให้มากที่สุด เข้าถึงประชาชนให้ได้มากที่สุด และคงคาดหวังว่าจะได้มีโอกาสทำให้ประชาชนได้รู้ข้อเท็จจริงมากที่สุด เมื่อสังคมมีความเข้าใจมากขึ้นความสงบก็จะกลับคืนมาสู่ประเทศอีกครั้งหนึ่ง

เพราะเวลาได้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าในการนำเสนอของ ASTV อย่าว่าเพียงแค่จะจับโกหกทักษิณหรือแกนนำคนเสื้อแดงเลย แม้แต่การตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร หรือรัฐบาลที่พลิกขั้ว ก็ยืนหยัดตรวจสอบอย่างหนักหน่วงมาแล้วทั้งสิ้น เพราะถ้ามีสื่อที่กล้าตรวจสอบนักการเมืองอย่างเข้มข้น ประชาชนก็ย่อมรู้เท่าทันนักการเมือง และนักการเมืองก็จะระมัดระวังตัวกล้าทำชั่วน้อยลง สังคมก็จะเข้าสู่ความสงบสันติสุขอย่างแท้จริง

ต่างจากสื่อของคนเสื้อแดงที่ตะบี้ตะบันมุ่งทำลายฝ่ายตรงกันข้ามกับกษิณเท่านั้น และไม่เคยตรวจสอบการทุจริตในฝ่ายทักษิณแม้แต่ครั้งเดียว ถ้าจำกันได้ตอนที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี สื่อสีแดงยังต้องปิดตัวสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเฉพาะกิจ PTV ลง แล้วหันมาจัดรายการ “ความจริงวันนี้” ทางช่อง 11 เกือบ 1 ปีทำการโฆษณาชวนเชื่อปกป้องระบอบทักษิณจนเกิดเป็นสาวกสีแดงขยายตัวเพิ่มขึ้นในวันนี้

ที่สังคมเป็นอย่างนี้ก็เพราะความอ่อนแอและความฉ้อฉลของนักการเมืองประการหนึ่ง และความขาดกลัวและเอาตัวรอดของสื่อมวลชนก็เป็นอีกประการหนึ่ง

ทุกวันนี้จึงทำให้เกิด “มวลชนสีแดง” ซึ่งแกนนำบางคนใช้วิธีโกหกเพื่อปลุกระดมอย่างไร้ยางอายได้โดยไม่สนใจใครก็เพราะไม่มีสื่อฟรีทีวีคอยจับการโกหกเหล่านั้น ทำได้อย่างมากก็เพียงแค่เป็นกระจกเงาสะท้อนรายงานว่า เกิดอะไรขึ้น เมื่อไร ที่ไหน และอย่างไร แต่ไม่มีใครรายงานในฐานะเป็นตะเกียงส่องทางว่า “ทำไม” และความจริงเป็นอย่างไร?

เพราะความเท็จไม่สามารถเอาชนะได้ด้วยความเงียบ แต่ความเท็จจะต้องเอาชนะด้วยความจริง!

คนที่ทำมาหากินอยู่กับ ไทยทีวีสีช่อง 3 ในทุกวันนี้ต่างมีชีวิตอย่างสุขสบาย ร่ำรวยเงินทอง และมีชื่อเสียง ในขณะที่ยามบ้านเมืองอยู่ในกลียุคกลับต้องให้สื่อทางเลือก ASTV ซึ่งมีฐานะทางธุรกิจที่ยากลำบาก กลายเป็นกลุ่มคนที่ต้องออกมาต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองโดยรวมดีขึ้น

เมื่อวันเวลามาถึงจังหวะที่สัญญาร่วมดำเนินการระหว่าง อ.ส.ม.ท. กับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนท์ กำลังจะหมดสัญญาในวันที่ 25 มีนาคม 2553 พอดี ถ้าผู้บริหาร อ.ส.ม.ท.และรัฐบาลไม่ฉ้อฉล แล้วปล่อยให้มีการประมูลอย่างโปร่งใส ตลอดจนประชาชนผู้ถือหุ้น ASTV คิดว่าเราควรจะเข้าร่วมประมูล ก็คงจะต้องเตรียมตัวความพร้อมและตอบคำถามหลายประการอยู่พอสมควร เช่น

ประการแรก การไปเป็นสื่อฟรีทีวีนั้นแม้ว่าจะทำให้สามารถสื่อสารไปได้กว้างขึ้น และมีโอกาสทำธุรกิจมากขึ้นก็จริง แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าต้องมีการลงทุนและมีค่าสัมปทานที่สูงขึ้นก็จะต้องคำนึงถึงด้านธุรกิจมากขึ้นกว่าเดิมด้วย ผู้ชมพร้อมจะรับสภาพเช่นนี้แล้วหรือยัง? ถ้าพร้อมแล้วจึงไปพิจารณาต่อในประการถัดไป

ประการที่สอง การเข้าร่วมประมูลนั้นจะต้องมีความพร้อมเรื่องคุณสมบัติ โดยเฉพาะเรื่องทุนจดทะเบียน, หนังสือค้ำประกัน , ผลประกอบการ ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นในทางธุรกิจ ประชาชนพร้อมที่จะสนับสนุนทางด้านการเงินในการลงทุนผ่านการระดมทุนได้จริงหรือไม่ และจะมีเงินจำนวนที่มากพอหรือไม่?

ประการที่สาม เมื่อคำนึงถึงธุรกิจและมีทุนที่เพียงพอ ก็อาจจะจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนในรูปแบบ กิจการร่วมค้า หรือ พันธมิตรร่วมทุน เพื่อทำให้เกิดมีคุณสมบัติครบถ้วนในการประมูล ถึงเวลานั้นจะมีธุรกิจใดที่มีอุดมการณ์และกล้าหาญพร้อมจะเข้าร่วมกับ ASTV จริงๆหรือไม่?

และไม่ว่า ASTV จะเข้าร่วมประมูลฟรีทีวีด้วยหรือไม่ แต่อย่างน้อยการที่มีประชาชนคิดเรื่องการประมูลเช่นนี้ ก็แสดงให้เห็นว่ามีคนคิดเป็นจิตสาธารณะให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาประเทศด้วยข้อมูลข่าวสาร และข้อสำคัญที่สุดการประมูลน่าจะให้ผลตอบแทนแก่รัฐมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน!

กำลังโหลดความคิดเห็น