xs
xsm
sm
md
lg

สร้างคน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ในทฤษฎี “ 3 สร้าง” การสร้างคน มีความสำคัญสูงสุด

“ทฤษฎี” ที่เราสร้าง ก็เพื่อให้คนนำไปใช้เป็นอาวุธทางปัญญา สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างถูกต้องสอดคล้องกับสภาพเป็นจริง ไม่หลงทิศผิดทาง

ถ้าไม่มีคน ทฤษฎีก็กลายเป็นสิ่งเลื่อนลอย ไร้คุณค่า

การสร้าง “พรรคฯ” หรือองค์กรอื่นๆ เช่น สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี เอเอสทีวีชอป สถาบันการเมืองใหม่ (หน่วยงานหนึ่งที่สังกัดอยู่กับคณะกรรมการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคฯ ของพรรคการเมืองใหม่) ฯลฯ ที่ประกอบกันเข้าเป็น “องคาพยพ” ของขบวนการการเมืองภาคประชาชนนำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เพื่อให้คนแสดงบทบาท ขับเคลื่อนกระบวนการการล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่ได้อย่างเป็นจริง

ถ้าไม่มีคน พรรคฯ หรือองคาพยพของขบวนการฯ ก็จะหยุดนิ่ง เป็นอัมพาต

คนที่การเมืองใหม่ต้องการ

โดยนัยข้างต้น การสร้างคนจึงต้องดำเนินไปอย่างสอดประสานกันกับการสร้างทฤษฎีและการสร้างพรรคฯ นั่นคือสามารถสร้างคนที่สามารถนำทฤษฎีไปใช้ชี้นำการเคลื่อนไหวและการปฏิบัติภาระหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำไปสู่ความเป็นเอกภาพทางความคิดและการปฏิบัติไปทั่วทั้งพรรคฯ ทั้งขบวนการฯ

นั่นคือ สร้างคนให้มี ความคิดอุดมการณ์ มี จิตใจ “ซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ” และ “คิดเป็น ทำงานเป็น”

“ความคิด อุดมการณ์” คือฐานร่วมทางความคิดของคนการเมืองใหม่ มีจุดหมายปลายทางร่วมกันที่ชัดเจน ปัจจุบันก็คือการ “ล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่”

การศึกษาทำความเข้าใจในทฤษฎีที่นำเสนอโดยแกนนำหรือนักทฤษฎีของพรรคฯ และขบวนการฯ อย่างเป็นระบบ ประสานไปกับการสรุปบทเรียนการทำงาน และการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่เป็นจริง จะช่วยให้กระบวนการปลูกฝังทางความคิด อุดมการณ์ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล จากนี้ “คน” ของขบวนการการเมืองใหม่ ก็จะกลายเป็นคนที่มีความคิด อุดมการณ์ ยืนหยัดมั่นคง พร้อมที่จะอุทิศตัวมากยิ่งขึ้นในการปฏิบัติภารกิจทางประวัติศาสตร์

“ซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ” คือจิตใจร่วมกันของคนการเมืองใหม่ ที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการปลูกฝังความคิดอุดมการณ์

การต่อสู้ 193 วัน ได้หล่อหลอมจิตใจเช่นนี้ขึ้นในหมู่ชาวพันธมิตรฯ นับเป็นกระบวนการเกิดขึ้นของจิตใจเช่นนี้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการเกิดขึ้นโดยการกำหนดของสถานการณ์เป็นจริง แต่ภายหลังจากนั้น เมื่อชาวพันธมิตรฯ แยกย้ายกันกลับไป จิตใจเช่นนี้ก็ค่อยๆ จางหายไป ตามสถานการณ์ที่ผ่านเลยไป

การฟื้นฟูจิตใจเช่นนี้ ด้วยการศึกษาอบรมทางด้านความคิดทฤษฎี จึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งในกรณีของพรรคฯ การเมืองใหม่ สามารถกระทำได้ด้วยการฟื้นฟูเครือข่ายความสัมพันธ์ของชาวพันธมิตรฯ (โดยคณะทำงาน “พันธมิตรฯ สัมพันธ์” สังกัดคณะกรรมการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยภายในพรรคฯ ของพรรคการเมืองใหม่) เปิดเวทีให้แกนนำที่มีอยู่โดยธรรมชาติในหมู่ชาวพันธมิตรฯ ทั้งในและต่างประเทศ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมสำคัญยิ่งประการหนึ่งก็คือการจัดส่งแกนนำหรือผู้ปฏิบัติงานของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านั้น เข้ารับการอบรม ทั้งที่โรงเรียนผู้นำของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือสถาบันการเมืองใหม่ของพรรคการเมืองใหม่

ในการอบรม ฝ่ายจัดอบรม ได้แก่คณะทำงานของโรงเรียนผู้นำฯ และสถาบันการเมืองใหม่ จะต้องจัดทำหลักสูตรจำเพาะขึ้นมาหนึ่งชุด มุ่งปลูกฝังความคิดอุดมการณ์ “ล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่” และฟื้นฟูจิตใจ “ซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ” ให้ได้ภายในระยะการอบรม 1-2 ครั้ง ความคิด อุดมการณ์อันสูงส่ง และจิตใจที่ซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ จะกลายเป็นฐานอันแข็งแกร่ง รองรับการทำงานของคนการเมืองใหม่ในทุกระดับความรับผิดชอบ ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน ทั้งสามารถยืนหยัดต่อสู้ในท่ามกลางวิกฤต ยืนหยัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่ประเดประดังเข้าหาในทุกจังหวะก้าวของการทำงาน ค่อยๆ พัฒนาบุคลิกภาพของความเป็นคนการเมืองใหม่คุณภาพดี ทั้ง “เหนียว” และ “แน่น” ไม่คดไม่งอ ไม่ฝ่อ ไม่ฝืด นานๆ เข้าก็จะกลายเป็นหลักเป็นแกนของพรรคฯ หรือขบวนการฯ ที่ชาวพรรคฯ และชาวพันธมิตรฯ ไว้ใจได้อย่างแท้จริง

“คิดเป็น ทำงานเป็น” ส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวของผู้ทำงานที่ “เหนียว” และ “แน่น” ไม่คดไม่งอ ไม่ฝ่อไม่ฝืด

อีกนัยหนึ่ง เป็นคุณสมบัติจำเพาะของชาวพรรคฯ หรือชาวพันธมิตรฯ ที่มีความคิดอุดมการณ์สูงส่ง มีจิตใจซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ เป็นพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว

คนเช่นนี้ หากแม้นมิได้เข้ารับการอบรมใดๆ เพียงแต่เป็นผู้ที่โถมตัวเข้าสู่กระบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของขบวนการการเมืองภาคประชาชน อุทิศตัวให้แก่ภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการสร้างการเมืองใหม่ รู้จักใช้ความคิด รู้จักสรุปบทเรียน รู้จักเรียนรู้จากการปฏิบัติ ตลอดจนรู้จักที่จะสนใจไขว่คว้าศึกษาหาความรู้ความเข้าใจด้วยตนเองอย่างไม่หยุดหย่อน ฯลฯ เขาหรือเธอเหล่านั้นก็จะพัฒนาตนเองไปสู่สภาวะของการเป็นผู้ “คิดเป็น ทำงานเป็น” ได้โดยปริยาย

นัยสำคัญของการ “คิดเป็น ทำงานเป็น” ก็คือ ความเป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองในทางความคิด สามารถตัดสินใจทำในสิ่งต่างๆ ได้เองเสมอ โดยไม่ยึดติดตำราหรือพึ่งพาการตัดสินใจของบุคคลอื่น แต่รู้จักยกระดับความคิด ปรับแนวคิดและแนวทางการปฏิบัติของตนให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในสภาวการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ

ในทางปรัชญา ผู้ “คิดเป็น ทำงานเป็น” จะคิดและปฏิบัติตนอยู่ในท่ามกลางการเข้าถึง “สัจธรรม” ที่ดำรงอยู่ และ “ความเป็นจริง” ที่กำลังดำเนินไป ไม่ติดอยู่กับปรากฏการณ์ผิวเผิน หรือเหตุการณ์รูปธรรมหนึ่งใดโดยเฉพาะ จึงสามารถมองทะลุผ่านเข้าไปถึงแก่นแท้หรือเหตุปัจจัยที่เป็น “ปัจจัยกำหนด” ที่แท้จริงของปรากฏการณ์หรือเหตุการณ์รูปธรรมเสมอ

ดังที่ชาวพันธมิตรฯ เข้าถึง “สัจธรรม” ที่ว่า “การเมืองใหม่ไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง” และสามารถเข้าถึง “ความจริง” ว่า การจะล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่ขึ้นมาได้ มีอยู่ทางเดียวคือสร้างอำนาจประชาชนซึ่งเป็น “อำนาจกำหนดใหม่” ขึ้นมา ต่อสู้เอาชนะอำนาจกลุ่มทุนสามานย์ที่เป็น “อำนาจกำหนดเก่า” ลงไปให้ได้

ผู้ “คิดเป็น ทำงานเป็น” มักจะอาศัยการ “เข้าถึง” สัจธรรม และการ “รู้ทัน” ความเป็นจริง มากำหนดแนวคิด แนวทาง กระบวนการ และขั้นตอนในการทำงานของตนเองอย่างสอดคล้องกับสภาพเป็นจริงตั้งแต่ต้นจนปลาย

วิธีการเข้าถึงสัจธรรม และรู้ทันความเป็นจริง

ชาวพรรคฯ และชาวพันธมิตรฯ ที่ต้องการพัฒนาศักยภาพของตนให้ถึงระดับ “คิดเป็น ทำงานเป็น” ก่อนอื่นใด จะต้องปฏิบัติตนตาม “หลักยึด 4ประการ” (1.จุดเทียนปัญญา เปิดหูเปิดตาเสมอ 2. เอาธรรมนำหน้า คิดและทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมเสมอ 3. สัมมาทิฐิ เห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริงเสมอ และ 4. เดินทางสายกลาง ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เห็นจริงเสมอ) อย่างเคร่งครัด

สิ่งที่จะเป็นผลตามมาคือ

1. สามารถมองเห็น “ภาพใหญ่” หรือ “ภาพรวม” เสมอ การเห็นภาพใหญ่หรือภาพรวม จะทำให้สามารถรู้ได้ว่า “เงื่อนไขกำหนด” ทางภววิสัยหรือสภาพเป็นจริงโดยรวม “อนุญาต” ให้เราสามารถกระทำการได้ในระดับไหน ในรูปใด จะช่วยให้เรากำหนดยุทธศาสตร์การต่อสู้ และตัดสินใจได้ถูกต้องในทุกขั้นตอนของการทำงาน ป้องกันความผิดพลาดใหญ่ๆ ได้ทุกครั้งไป

2. สามารถพัฒนาวิธีการทำงานได้อย่างสอดคล้องกับ “ปัญหาปมเงื่อน” หรือความขัดแย้งหลักของสิ่งเสมอ เช่น การต่อสู้ด้วยสันติวิธี ด้วยการสร้างอำนาจประชาชน ต่อสู้เอาชนะอำนาจกลุ่มทุนสามานย์ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการเมืองเก่าเป็นการเมืองใหม่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความสอดคล้องกับสภาพเป็นจริงของประเทศไทยในบริบทของยุคสมัยสังคมโลก สามารถแก้ไขปัญหา “ปมเงื่อน” หรือความขัดแย้งหลักในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น