xs
xsm
sm
md
lg

หลักยึด 4 ประการในการสร้างคน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

วิธีการสร้างคนการเมืองใหม่ ที่ชาวพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่คุ้นเคย ก็คือการใช้หลักยึด 4 ประการเป็นฐานตั้งต้น เพื่อปลูกฝังคุณสมบัติพื้นฐานให้แก่คนการเมืองใหม่ ให้เป็นผู้มีสติปัญญา ทำงานได้สำเร็จในทุกๆ เรื่อง ประกอบด้วย หนึ่ง จุดเทียนปัญญา ทำให้ตนเองหูตาสว่างเสมอ สอง เอาธรรมนำหน้า ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรมเสมอ สาม สัมมาทิฐิ เห็นตามจริงเสมอ และ สี่ เดินทางสายกลาง ทำตามที่เห็นจริงเสมอ ด้วยเหตุผลสำคัญดังนี้

1.เพื่อให้การคิดการปฏิบัติของแกนนำ/ผู้ปฏิบัติงานพรรคฯ สอดคล้องกับสภาพเป็นจริงเสมอ ไม่ล้ำหน้าหรือล้าหลังกว่าความเป็นจริง สามารถปฏิบัติการในสิ่งที่เป็นไปได้และจำเป็นต้องทำให้ได้ ดำเนินไปได้อย่างถูกจังหวะจะโคน ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง สะสมชัยชนะอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะนำไปสู่การได้ชัยชนะในการต่อสู้ครั้งใหญ่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าได้เป็นอย่างดี

อีกนัยหนึ่ง ก็คือหลักประกันเบื้องต้นของการทำงานได้อย่างไม่ผิดพลาด หรือผิดพลาดน้อยที่สุด ผิดพลาดแต่ในเรื่องเล็กๆ ไม่ผิดพลาดในเรื่องใหญ่ๆ

2.แนวคิดยุทธศาสตร์ใหญ่นี้ ตั้งอยู่บนฐานทฤษฎีที่ว่า “คน” เป็นปัจจัยชี้ขาดในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ซึ่ง “คน” ในที่นี้ ย่อมหมายถึงคนที่มีปัญญา มีความคิด มีอุดมการณ์ มีความซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ ทำงานเป็น มากกว่าการเป็นคนทั่วๆไป

อีกนัยหนึ่ง คนที่เป็นปัจจัยชี้ขาดในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง จะต้องเป็นคนที่มีคุณภาพการเมืองใหม่ และเกิดขึ้นได้ในท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้ ปฏิบัติภาระหน้าที่อย่างเอาจริงเอาจัง ภายในขบวนการการเมืองภาคประชาชน

หลักยึด 4 ประการ จัดอยู่ในส่วนของ “วิธีการ” ชี้นำการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลที่จะนำไปสู่การบรรลุจุดหมายปลายทางหรืออุดมการณ์ที่เราตั้งไว้ อธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้

1.จุดเทียนปัญญา หมายถึงว่า ชาวพันธิมตรฯ/ชาวพรรคการเมืองใหม่ จะเปิดหูเปิดตา ศึกษาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเอง ตลอดจนเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ สามารถเชื่อมโยงเหตุการณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน และเกิดความเข้าใจในความจริงที่ซ่อนอยู่ หูตาสว่าง กระจ่างแจ้งอยู่ในใจ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แยกแยะได้เองเป็นเบื้องต้น

2.เอาธรรมนำหน้า หมายถึงการคิดหรือทำอะไรจะต้องยึดเอาความถูกต้อง ชอบธรรม เป็นฐาน ในเมื่อเราหูตาสว่าง กระจ่างแจ้งอยู่ในใจ รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก ก็ง่ายที่จะเลือกคิดและทำในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม เช่น การเลือกต่อสู้เพื่อสร้างการเมืองใหม่ ก็เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่การเมืองแบบเก่า นักการเมืองมุ่งใช้อำนาจแสวงประโยชน์ส่วนตน จำเป็นที่เราจะต้องร่วมกันกับทุกฝ่ายที่เห็นตรงกัน หรือทำให้ฝ่ายต่างๆ เห็นตรงกัน ร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้เอาชนะอำนาจการเมืองเก่า สร้างอำนาจการเมืองใหม่ ซึ่งเราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนชาวไทย เป็นการต่อสู้ที่ชอบธรรม จักต้องได้รับชัยชนะในที่สุด ตามหลักสัจธรรมที่ว่า “ธรรมย่อมชนะอธรรม”

ทั้งนี้ การเอาธรรมนำหน้า จะทำได้ดี จำเป็นที่เราต้องมีหูตาสว่าง รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แยกผิดแยกถูกได้เป็นเบื้องต้น

ดังนั้น การหมั่นจุดเทียนปัญญาให้แก่ตนเองหรือผู้คนรอบข้าง จึงเป็นสิ่งจำเป็นต้องกระทำอยู่เสมอ

3.สัมมาทิฐิ ที่หมายถึงการเห็นความเป็นไปในด้านต่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่เบี่ยงเบนไปตามอมรมณ์ความรู้สึกหรือความปรารถนาเฉพาะตน ไม่ติดอยู่กับปรากฏการณ์ผิวเผินภายนอก แต่สามารถมองเห็นลึกถึงแก่นแท้หรือธาตุแท้ กฎเกณฑ์ของความเป็นไปในสิ่งต่างๆ ซึ่งจะต้องอาศัยการทำความเข้าใจอย่างรอบด้าน เห็นความเชื่อมโยงในด้านต่างๆ และเห็นถึง “ปม” หรือตัวกำหนดให้สิ่งนั้นไปเป็นตามที่มันเป็น นับเป็นลักษณะของการรับรู้ที่ตั้งอยู่บนฐานของการมีปัญญา เข้าถึงแก่นแท้ของปัญหาหรือตัวกำหนดให้สิ่งนั้นเป็นไป อยู่ในสภาวะหูตาสว่าง เกิดความกระจ่างแจ้งอยู่ภายใน เช่น การเห็น “ปมเงื่อน” ของปัญหาประเทศไทยอยู่ที่การเมืองเก่า อยู่ที่อำนาจกำหนดเก่าครองฐานะความเป็นปัจจัยครอบงำ กำหนดลักษณะการเมืองประเทศไทย ให้เป็นการเมืองฉ้อฉล ทำลายกระบวนการพัฒนาของประเทศไทย ทำลายโอกาสของประชาชนชาวไทย ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีสัมมาทิฐิจึงพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาประเทศไทย ด้วยการล้างการเมืองเก่า สร้างการเมืองใหม่ ตรงกันข้าม ผู้ขาดสัมมาทิฐิ มีแต่มิจฉาทิฐิ ก็จะเห็นดีเห็นชอบไปกับการเมืองเก่า เพียงเพราะได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยม หลงยึดติดอยู่กับอามิสสินจ้างและคำสัญญาของนักการเมืองฉ้อฉล มุ่งใช้การเลือกตั้งเป็นบันไดไปสู่การกอบโกยโกงกิน คนกลุ่มนี้จะไม่เข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง บางครั้งก็ถึงกับต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะพวกเขาไม่มีดวงตาเห็นธรรม ไม่เห็นตามที่มันเป็นจริง

4.เดินทางสายกลาง หมายถึงการกระทำหรือปฏิบัติการที่ไม่เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง เป็นการกระทำหรือปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนฐานของสัมมาทิฐิ ทำให้การกระทำหรือปฏิบัติตรงตามเป้าหมายที่เป็นจริงอยู่เสมอ การกำหนดเป้าหมายการกระทำหรือปฏิบัติที่ตั้งอยู่บนฐานของสัมมาทิฐิ จึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการเดินทางสายกลาง เช่น การเคลื่อนไหวทางการเมืองของพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่ จากการต่อสู้ขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรในปี 2548-49 จนประสบความสำเร็จ และการต่อสู้ขับไล่รัฐบาลหุ่นเชิดในระบอบทักษิณ (รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) ในปี 2551 จนประสบความสำเร็จ รวมทั้งการก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ในปี 2552 ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองใหม่ภายหลังจากนั้น ล้วนตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริง สอดคล้องกับสภาวะเป็นจริงของสังคมโลกและของประเทศไทย สอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของประชาชนชาวไทย

หลักยึด 4 ประการ เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ประกอบกันเข้าเป็นองค์เอกภาพเดียวกัน ในการปฏิบัติจึงต้องนำไปใช้ทั้งหมด จึงจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง การจัดอบรม ปลูกฝังแนวคิด อุดมการณ์ การเมืองใหม่ ก่อนอื่นใดจักต้องปูพื้นฐานหลักการ 4 ประการนี้ให้ดีเสียก่อน

สรุปคือ หลักยึด 4 ประการ เป็นเครื่องมือที่จำเป็นของการสร้างคนการเมืองใหม่ เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของคนการเมืองใหม่ ทำให้การคิดและปฏิบัติของคนการเมืองใหม่ สมเหตุสมผล ตรงตามความเป็นจริง และประสบความสำเร็จในทุกขั้นตอนและทุกๆ เรื่อง

สิ่งที่จะเกิดตามมาของการคิดและปฏิบัติตามหลักยึด 4 ประการ ก็คือ ประสบการณ์และบทเรียนอันหลากหลายที่จะนำไปสู่การสรุป ประมวลสังเคราะห์ขึ้นมาเป็นแนวคิดทฤษฎีที่สามารถชี้นำการปฏิบัติอย่างถูกต้อง รอบด้านยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในอุดมการณ์การเมืองใหม่ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดความคิดริเริ่มใหม่ๆ ในการพัฒนาเครือข่ายและองค์กร สร้าง “โมเดล”ใหม่ๆ ที่เป็นแบบอย่างดีๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการขยายฐานการเมืองใหม่ไปทั่วทั้งประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ

นั่นหมายถึงว่า เราจะมีหน่วยงานการเมืองใหม่ในรูปแบบต่างๆ โมเดลต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ดุจสายธารน้ำใส ไหลรวมกันเข้าเป็นแม่น้ำใหญ่ หล่อเลี้ยงมวลมหาชนชาวไทยให้ชุ่มฉ่ำไปด้วยชีวิตการเมืองใหม่ เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วทุกอณูของผืนแผ่นดินไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น